วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘แพะ-ไก่’กระบวนการยุติธรรม / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On January 23, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เราคุ้นเคยดีกับคำพังเพย “แพะรับบาป” และคำว่า “จับแพะ” ในกระบวนการยุติธรรมไทย ที่หมายถึงการจับกุมและตัดสินลงโทษคนที่ไม่ได้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา แต่จำนวนแพะที่เพิ่มมากขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย ทำให้หลายฝ่ายต้องมาถกเถียงเพื่อหาทางแก้ปัญหานี้กันอย่างจริงจังมากขึ้น

อาจารย์สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ อธิบายว่า “แพะมีในสังคมตะวันออกมานานแล้ว แพะเกิดขึ้นมาเพื่อความสบายใจของสังคม” เช่นเวลาเกิดปัญหาอาชญากรรมขึ้น สังคมรู้สึกไม่ปลอดภัยตราบใดที่กระบวนการยุติธรรมยังจับคนผิดมาลงโทษไม่ได้ ทำให้บางครั้งมีการ “จับแพะ” เกิดขึ้น แต่ไม่มีทางที่คนชั้นสูงจะกลายเป็นแพะ มีแต่คนเล็กคนน้อยที่ไม่มีปากเสียงในสังคมมักตกเป็นแพะ

ก่อนจะมีคดี “ครูแพะ” ที่ติดคุกฟรี 1 ปี 6 เดือน ในคดีขับรถเฉี่ยวชนจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต เคยมีคดีแพะอื่นๆมามากแล้ว คดีที่โด่งดังมากคือ “คดีเชอร์รี่แอน” ที่พิสูจน์ชัดเจนว่าคนที่ถูกจับเป็น “แพะ” และต้องตายในคุก คดีนี้ทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมายเพื่อเยียวยาแพะและมีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ แต่การจับแพะก็ไม่ได้หมดไป ขณะที่กระแสเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิตในคดีอุกฉกรรจ์มีมากขึ้น

ปัญหาการจับแพะเป็นปัญหาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รอบคอบ หรือมีตัวแปรอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น ความไม่โปร่งใส หรือการเร่งปิดคดีด้วยอิทธิพลกดดันบางประการ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนกระบวนการกลั่นกรองคดีขึ้นสู่ศาลที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เที่ยงตรง ส่งผลให้เกิดความอยุติธรรมอย่างน่าเศร้า

แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมายเยียวยาแพะที่ติดคุกฟรี แต่การชดเชยเพียงวันละ 200 บาท ไม่คุ้มกับการสูญเสียอิสรภาพของบุคคลที่ตกเป็นแพะ ซึ่งต้องสูญเสียเงินทองในการต่อสู้คดี กระทบต่อครอบครัว ชื่อเสียง รวมทั้งความเจ็บปวดทางจิตใจโดยตนเองไม่ได้กระทำผิด

ในสังคมอารยะถือว่าการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นตามหลัก due process หรือกระบวนการที่เหมาะสม ชอบธรรม ที่อธิบายได้ว่าดำเนินไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องที่ต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยได้ทำผิดจริงก่อนจะพิพากษาลงโทษ เพราะถือว่า “ปล่อยคนผิด (ที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ) 100 คน ดีกว่าจับคนบริสุทธิ์ติดคุกฟรี 1 คน” หลักการนี้ระบบยุติธรรมไทยน่าจะนำมาทบทวนให้มากขึ้น ไม่เช่นนั้นการจับแพะจะไม่มีวันหมดไป

นอกจากการจับแพะจะเป็นปัญหาประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมไทยแล้ว ปัญหาสำคัญกว่านั้นคือ “การเชือดไก่ให้ลิงดู” ซึ่งเป็นปัญหาในทาง “หลักการ” ของกระบวนการยุติธรรมไทย

แพะเกิดขึ้นเพื่อความสบายใจของสังคม ดังเช่นในสังคมโบราณมีการจับแพะบูชายัญ หรือสังคมปัจจุบันเวลาเกิดคดีสะเทือนขวัญขึ้น การจับแพะเพื่อปิดคดีให้รวดเร็วในบางครั้งก็ทำให้สังคมหายหวาดกลัวได้ แต่การเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นการสร้างความกลัวในสังคม

แน่นอนว่าไก่ที่ถูกเชือดย่อมไม่ใช่คนชั้นสูงในสังคม ส่วนมากมักเป็นคนไร้อำนาจต่อรองและไม่มีปากเสียงในสังคม เช่น ในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา คนที่ถูกจับติดคุกส่วนมากคือชาวบ้านธรรมดา ในแง่หนึ่งเพราะส่วนมากเป็นชาวบ้านธรรมดาเท่านั้นที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนชนิดที่กล้าเอาอิสรภาพเข้าแลกและเสี่ยงชีวิตเพื่อเรียกร้องทางการเมือง การจับคนเหล่านี้ติดคุกจึงเป็นการเชือดไก่ให้คนระดับเดียวกันเกิดความกลัว ไม่กล้าออกมาต่อสู้ทางการเมืองในแบบเดียวกัน

ที่ชัดเจนเวลานี้คือกรณี “ไผ่ ดาวดิน” และการถอนสิทธิประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีในความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ไผ่เหมือนเป็นไก่ที่ถูกเชือด เพราะคนร่วม 2,000 คนที่แชร์ข่าวเดียวกัน และสื่อบีบีซีที่เผยแพร่ข่าวกลับไม่ถูกดำเนินคดี กฎหมายเจาะจงเล่นงานไผ่เพียงคนเดียว เนื่องจากมีบทบาทโดดเด่นในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยไม่เกรงกลัวอำนาจเผด็จการ

การขังคุกและถอนสิทธิประกันตัวไผ่จึงเหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในสังคม ไม่ให้ท้าทายอำนาจเผด็จการ แต่ที่น่าแปลกใจคือ ดูเหมือนสังคมไม่สะเทือนใจกรณี “เชือดไก่ให้ลิงดู” เท่ากับกรณี “จับแพะ” ทั้งที่เป็น “ความอยุติธรรม” จากการใช้อำนาจรัฐเช่นกัน และอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนเช่นกัน

จะว่าไปแล้วการจับแพะอาจเป็นความผิดพลาดจากการใช้อำนาจรัฐโดยไม่เจตนา แต่การเชือดไก่ให้ลิงดูเป็นเจตนาการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความกลัวอย่างชัดเจน จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้สังคมสะเทือนใจมากที่สุด

ทว่าถึงที่สุดแล้วไม่ว่าการจับแพะหรือเชือดไก่ให้ลิงดูล้วนเป็นการปฏิบัติต่อมนุษย์ในฐานะที่เป็น “เครื่องมือ” คือเอาคนมาเป็นแพะรับบาปเพื่อสร้างความสบายใจของสังคม และเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความกลัวในสังคม

การใช้มนุษย์เป็นเครื่องมือเป็นการลดคุณค่ามนุษย์ให้เสมือนวัตถุสิ่งของ ย่อมขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเอง ไม่ควรที่จะต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการใดๆ

ด้วยเหตุนี้ในสังคมอารยะ การตีความและการบังคับใช้กฎหมายจึงต้องยึดหลักการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ยึดความเสมอภาคทางกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ไม่ใช่บังคับใช้และตีความกฎหมายเพื่อจะเอาผิดให้ได้ทั้งที่ไม่ผิด หรือไม่มีกฎหมายระบุความผิดไว้ชัดเจน โดยไม่คำนึงถึงความเสมอภาคทางกฎหมาย

ถึงที่สุดแล้วแพะและไก่ในสังคมไทยก็จะยังคงมีต่อไป ตราบที่กระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่สามารถสร้างประสิทธิภาพความเที่ยงตรงและโปร่งใสตามหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดการตีความและบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด


You must be logged in to post a comment Login