- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 60 mins ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 22 hours ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 2 days ago
- อย่าไปอินPosted 5 days ago
- ปีดับคนดังPosted 6 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 week ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 1 week ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
ระบบทหารสร้างเศรษฐกิจได้จริงหรือ? / โดย Pegasus
คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus
มีผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจออกมารับรองว่า หากให้ทหารปกครองไปอีก 15 ปี เศรษฐกิจดีขึ้นแน่นอน เรื่องนี้มีข้อสงสัยมากมาย ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมที่ปัจจุบันปีงบประมาณ 2560 แต่มีการนำงบประมาณ 2561 มาใช้ล่วงหน้า เป็นต้น
เมื่อทดลองทำงานมา 3 ปี แต่ใช้เงินล่วงหน้า 5 ปี ก็น่ากังวลอยู่ไม่น้อย แต่ไม่มีใครกล้าวิจารณ์หรือคัดค้านเหมือนรัฐบาลในระบบการเมืองปรกติ การใช้จ่ายงบประมาณจึงสนุกมือ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดถึงในตอนนี้ โดยมองตามหลักการทั่วๆไปจากรัฐบาลจีนที่ผู้มีอำนาจไทยคิดจะเลียนแบบ
ย้อนไปในอดีตจะเห็นว่าก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะได้อำนาจนั้น พรรคก๊กมินตั๋งของจอมพลเจียง ไคเช็ค มีลักษณะของเผด็จการทหาร หรือก่อนหน้านั้นในยุคของขุนศึกที่จับอาวุธช่วงชิงอำนาจกัน ประชาชนต่างก็ยากจนเดือดร้อน
พวกลูกจีนรักชาติทั้งหลายลองใคร่ครวญให้มากว่า ที่บรรพบุรุษของตนต้องอพยพมาไทยระลอกสุดท้ายนั้นต้นเหตุเกิดจากอะไร และปัจจุบันจีนไม่ได้ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร แม้จะเป็นเผด็จการโดยรัฐ แต่ก็ไม่ใช่ทหาร
ประธานเหมา เจ๋อตุง กำจัดอำนาจทหารอย่างเด็ดขาด ทหารต้องฟังพรรค หมายถึงนักการเมืองเท่านั้นปกครองประเทศ มาสมัยเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เพิ่มเติมสี่ทันสมัยและเปิดระบบตลาด รับเงินต่างประเทศเข้ามาแล้วให้คนจีนพัฒนาตนเองอย่างก้าวกระโดด จากพื้นที่และพลเมืองจำนวนมากนี้เองจึงเป็นปัจจัยความสำเร็จของจีน ไม่ใช่เผด็จการทหารซึ่งไม่มีตั้งแต่แรก
จีนยังมีระบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองในทุกระดับ แม้จะเป็นเผด็จการโดยคณะบุคคล แต่ก็เป็นระบบที่รับฟังการวิจารณ์ของประชาชนผ่านสมัชชาในทุกระดับ ต่างจากเผด็จการทหารที่จะใช้อำนาจและอารมณ์ในการปกครองและบริหารเศรษฐกิจ เผด็จการทหารจึงไม่ใช่ลักษณะการปกครองและบริหารอย่างจีนแน่นอน
เมื่อดูเผด็จการทหารอื่นๆ รวมถึงเผด็จการพลเรือนที่ใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการปกครอง อย่างกรณีซัดดัม ฮุสเซน ของอิรัก พันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบีย ก็ไม่ต่างกับซีเรีย ฟิลิปปินส์ในสมัยมาร์กอส หรือบางประเทศในตะวันออกกลางที่มีผู้นำตลอดกาล ในที่สุดประเทศก็มีปัญหาและอยู่ไม่ได้
ที่น่าสนใจคือ การปกครองด้วยเผด็จการทหารจริงๆอาจเป็นแค่นายพลหรือนายพันที่ยึดอำนาจจากนักการเมืองแล้วเข้ามาบริหารปกครองเอง ดังตัวอย่างที่พูดกันในอดีตมากมายคือ นายพลอีดี้ อามิน แห่งยูกันดา ซึ่งเดิมเป็นทหารชั้นผู้น้อย เมื่อยึดอำนาจได้ก็กลายเป็นผู้ทรงอำนาจและประกาศ “สงครามเศรษฐกิจ” เช่นยึดอสังหาริมทรัพย์ของชาวเอเชียและชาวยุโรป แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ขณะที่ยูกันดาก็กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ล้าหลังและลำบากยากแค้นที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกา
ประเทศในแอฟริกาที่มีการปกครองเผด็จการ ทั้งที่เป็นราชาธิปไตย เผด็จการทหาร และประธานาธิบดี โดยใช้ทหารเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครอง เช่น อียิปต์ โซมาเลีย เอธิโอเปีย ล้วนแต่ทำให้ประชาชนได้รับความยากลำบาก ไม่มีประเทศไหนเลยที่ทหารปกครองแล้วจะมีความเจริญทางเศรษฐกิจและมีความศิวิไลซ์อย่างอารยประเทศ บางประเทศที่เป็นระบอบราชาธิปไตย ทหารเป็นผู้ชิงอำนาจและเป็นเผด็จการทหารเสียเอง โดยเลียนแบบระบอบกษัตริย์หรือเทียบเคียงกษัตริย์
เมื่อทหารใช้กำลังที่เป็นความชำนาญเฉพาะตน ส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญญาในการสร้างสรรค์และบริหารเศรษฐกิจได้ สุดท้ายก็จบลงเหมือนกัน กรณีประเทศไทยก็อาจมีผู้พูดถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจร มาอ้างว่าประเทศก็มีการเจริญเติบโตดี แต่ก็เป็นช่วงสงครามเย็นที่มีเงื่อนไขและสิ่งแวดล้อมในการแข่งขันทางเศรษฐกิจโลกที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ทหารไทยอาจมีความสามารถสูงกว่าทหารชาติอื่นๆก็ได้ เก่งด้านไซเบอร์และปฏิบัติการด้านข่าวสารดังที่เห็น ถ้าจะทดลองให้อยู่บริหารบ้านเมืองหลายสิบปีก็คงไม่มีใครบ่น
You must be logged in to post a comment Login