วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปรองดองแบบคสช.

On January 25, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

การสร้างความปรองดองตามนโยบายของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กระแสตีกลับไปกลับมา

จากเปิดตัวสวยหรูได้รับเสียงตอบรับเซ็งแซ่ มาเป็นทำท่าจะวุ่นวายเพราะต่างฝ่ายต่างเสนอเงื่อนไขและวิจารณ์เชิงไม่ยอมรับข้อเสนอของอีกฝ่าย

ล่าสุดกระแสกลับมาดีอีกครั้ง เสียงจ๊อกแจ๊กจอแจที่เคยวุ่นวายก่อนหน้านี้ดูค่อยๆสงบลง โดยมีเสียงของการตอบรับให้ความร่วมมือกลับดังขึ้นมาแทนที่อีกครั้ง

แม้แต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่เดิมทีมีทีท่าไม่ตอบรับเท่าที่ควร ก็กลับลำส่งเสียงเชียร์กระบวนการสร้างความปรองดอง โดยให้เหตุผลว่ามองเห็นถึงความตั้งใจจริงของนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันชัดเจนว่าจะไปเข้าร่วมแสดงความเห็น หากได้รับเทียบเชิญ และจะพยายามช่วยให้ค้นพบแนวทางสร้างความปรองดองแบบยั่งยืนให้ได้

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ดูจะเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่เทคแอ็กชั่นเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้เรียกแกนนำพรรคหารือเพื่อทำข้อเสนอสร้างความปรองดองส่งให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

หลักการของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเสนอ คือ ให้วางแนวทางสร้างความปรองดองเพื่ออนาคต ส่วนเรื่องในอดีตให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมสืบหาข้อเท็จจริง หากจะมีการนิรโทษกรรมควรมีเฉพาะในส่วนของประชาชนที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น

ส่วนบรรดาแกนนำให้รอผลคดีความสิ้นสุดก่อน เพื่อให้ทุกคนทราบข้อเท็จจริง หลังจากนั้นจะมีกระบวนการอภัยโทษก็ยอมรับได้

หลักการที่เสนอมาไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าที่พูดกันมาตลอดว่าให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน แต่ต้องไม่เกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 ความผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน การอภัยโทษควรเกิดหลังคดีความสิ้นสุด เพื่อให้ทุกคนรับรู้ความจริงผ่านการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรม และผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดต้องยอมรับผลที่ออกมาเสียก่อน

นี่น่าจะเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันเพราะทุกครั้งที่พูดถึงการสร้างความปรองดอง ไม่ว่าฝ่ายไหนก็นำเสนอหลักการทำนองเดียวกันนี้แทบทั้งสิ้น

แม้จะเป็นหลักการที่ดี แต่ปัญหาคือหากยึดตามแนวทางนี้ กระบวนการปรองดองจะไม่เสร็จในอายุของรัฐบาล “บิ๊กตู่” ที่เหลืออยู่อีกปีเศษๆ เพราะกระบวนการพิจารณาคดียังมีอีกยืดยาว บางคดีเกิดมานานร่วม 10 ปี เพิ่งเริ่มสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย กว่าจะรู้ผลขั้นสุดท้ายในชั้นศาลฎีกาไม่รู้ว่าจะต้องรออีกกี่ปี

ถ้าไม่ใช้อำนาจพิเศษเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดีการสร้างความปรองดองก็ไม่ต่างจากขอนไม้ลอยน้ำตุ๊บป่องๆ ลอยไปเรื่อยๆไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้ฝั่ง

ยิ่งเมื่อฟังจากปากผู้รับผิดชอบสร้างความปรองดอง อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ยืนยันว่า

“เราจะเสนอให้คนมีความเข้าใจ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ใช่ออกกฎหมายให้คนทำผิด แล้วไม่ต้องรับผิด”

ทำให้ภาพของความปรองดองมีแนวโน้มว่าจะเน้นออกกฎตีกรอบไม่ให้เกิดการชุมนุมบนท้องถนนที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ปิดช่องทางไม่ให้ยั่วยุปลุกปั่นมวลชน ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ คสช.ใช้มาตลอดตั้งแต่เข้ายึดอำนาจจนได้รับเสียงชื่นชมว่าทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข

เมื่อไม่ออกกฎหมายให้คนผิดไม่ต้องรับผิด เมื่อไม่ใช่อำนาจพิเศษเร่งรัดกระบวนการพิจารณาคดี

ใครที่คาดหวังว่าจะมีนิรโทษกรรม ไม่ว่าจะเฉพาะกลุ่มหรือเหมาเข่ง ขอให้เตรียมใจรับความผิดหวังไว้ได้เลย


You must be logged in to post a comment Login