- อย่าไปอินPosted 9 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
สัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ให้กับใครก็ตามในประเทศไทยกลายเป็นข่าวใหญ่ต่อเนื่องอยู่หลายวัน การจ่ายเงินดังกล่าวมีจำนวนเงินและห้วงเวลาที่ชัดเจน มีข้อมูลอยู่มากมายพอสมควรว่าน่าจะจ่ายให้ใครและจ่ายไปเมื่อไร อย่างไรก็ตาม คงเป็นเรื่องยากที่จะฟันธงให้ชัดว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในตอนนี้ แต่ผมเชื่อว่าไม่นานสังคมคงจะได้รับคำตอบอย่างแน่นอน เพราะคนจ่ายเงินชาวอังกฤษให้การกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของเขาเอาไว้อย่างละเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ไม่นานความจริงคงปรากฏ แต่ที่แน่ๆเรื่องนี้คงจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดีว่า “หน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง” ใครที่รับสินบนแล้วคิดว่าจะลอยนวลเสวยสุขไปจนวันตาย มาถึงวันนี้ก็ไม่แน่เสียแล้ว เรื่องบริษัทการบินไทยมีเครื่องยนต์หลายแบบเป็นเรื่องที่ผมได้ยินมานาน เรียนตามตรงว่าผมเคยสงสัยเรื่องนี้อยู่ไม่ใช่น้อยว่าทำไมการบินไทยถึงตัดสินใจซื้อเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์จากอังกฤษมาใช้อีกเป็นแบบที่ 3 ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มีเครื่องยนต์ที่ผลิตจากอเมริกาใช้อยู่แล้วถึง 2 บริษัท
ในฐานะที่ทำงานด้านการบินมาก่อนผมเคยถามเพื่อนนักบินและช่างที่อยู่บริษัทการบินไทยว่า ทำไมถึงตัดสินใจซื้อเครื่องยนต์จากบริษัทโรลส์-รอยซ์มาใช้อีก เพราะแม้แต่เด็กอมมือยังรู้ดีว่าการมีเครื่องยนต์หลายแบบที่มาจากคนละบริษัททำให้การบินไทยต้องใช้งบประมาณและบุคลากรมากกว่าปรกติ แต่เพื่อนๆผมในขณะนั้นก็ไม่มีใครสามารถให้ความกระจ่างกรณีนี้ได้ เพียงบอกว่าการจัดซื้อทั้งหมดเป็นนโยบายของผู้มีอำนาจที่สั่งการลงมาให้มีการจัดซื้อ
ใครจะเชื่อว่าต้องรอมาถึงปี 2560 คำถามนี้จึงได้รับคำตอบแบบไม่ต้องสืบว่าเรื่องนี้เกิดจากการทุจริตกันอย่างมโหฬารในบริษัทการบินไทย ก่อนหน้านี้ใครจะอธิบายเหตุผลไว้สวยหรูอย่างไรก็ตามทุกคนก็ได้แต่สงสัย แต่เมื่อความจริงปรากฏว่าเบื้องหลังการจัดซื้อเครื่องยนต์ครั้งนี้มาจากการติดสินบนผู้มีอำนาจในบริษัท เรื่องนี้จึงสะท้อนข้อเท็จจริงหลายๆอย่างว่าการจัดซื้อของการบินไทยในครั้งนั้นมีความสกปรกอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังเพราะเชื่อว่าการรับสินบนครั้งนี้เป็นเพียงเรื่องหนึ่งในหลายๆเรื่องที่เพิ่งจะแดงขึ้นมาเท่านั้น ที่ผ่านมายังมีการจัดซื้อเครื่องบินและการกำหนดนโยบายที่อาจทำให้บริษัทการบินไทยสูญเสียผลประโยชน์อย่างน่าสงสัยอีกหลายกรณี เรื่องเหล่านี้ถ้าผมใช้แค่ความเป็นนักบินและประสบการณ์จากการรับราชการในกองทัพอากาศมาอธิบายความไม่ชอบมาพากลต่างๆในบริษัทการบินไทยให้ฟังก็คงไม่เป็นธรรมกับผู้มีอำนาจและผู้บริหารบริษัทการบินไทยอย่างแน่นอน
แต่ถ้าคนอธิบายเรื่องเหล่านี้เคยเป็นกัปตันและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการบินไทยอย่างกัปตันโยธิน ภมรมนตรี ความรู้จริงและความน่าเชื่อถือของท่านย่อมมีมากกว่าผมแน่นอน โดยท่านเขียนไว้ในเฟซบุ๊คของท่าน “ชัดเจน” มาก จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อพอเป็นสังเขป หากต้องการอ่านทั้งหมดก็อ่านได้ที่ FB ของท่าน
ท่านบอกว่าเป็นความน่าอับอายอย่างมากเรื่องสินบนในการจัดซื้อเครื่องยนต์ Rolls-Royce แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรที่โผล่ให้เห็น ภูเขาน้ำแข็งมีมูลค่าความเสียหายหลายแสนล้านบาท ซึ่งไม่เพียงทำให้เสียชื่อประเทศชาติ แต่ยังทำลายความมั่นคงของสายการบินแห่งชาติด้วย
ท่านบอกว่าอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่ใต้มหาสมุทร เริ่มจากโครงการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500/600 ทั้งหมด 10 ลำ แบ่งเป็นโครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 (ท่านพูดเสมอๆว่ามีแต่คนโง่หรือคนโกงเท่านั้นที่ซื้อเครื่องบินแบบนี้) จำนวน 4 ลำ ทั้งที่ทางสภาพัฒน์เสนอให้ทำการศึกษาใหม่ (บริษัท Airbus ผลิตเครื่องบิน A340-500 มาแค่ 35 ลำ และเลิกผลิต เพราะไม่สามารถหาคนโง่หรือคนโกงมาซื้อได้อีก) บัดนี้เครื่องบิน A340-500 ทั้ง 4 ลำ จอดตากแดดตากฝนมาหลายปีแล้ว มีคนมาขอซื้อในราคา 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อลำ คณะกรรมการบริษัทไม่ยอมขาย ปัจจุบันยังจอดตากแดดตากฝนต่อไปจนจะเป็นเศษเหล็กอยู่แล้ว หมดไปแล้ว 15,000 ล้านบาท
เครื่อง Airbus A340-600 อีก 6 ลำ มีอายุใช้งานมาแค่ 10 ปี แต่ไม่ได้ใช้ เอาไปจอดตากแดดตากฝนรอการขายมาแล้ว 2 ปี ยังขายไม่ได้ บอกว่าจะขายให้สายการบินในประเทศอิหร่าน ปรากฏว่าเขาไปซื้อจากสายการบิน Virgin Atlantic แล้วจำนวน 8 ลำ ปัจจุบันทั่วโลกมีเครื่องบินรุ่นนี้ที่ยังใช้ทำการบินอยู่ 72 ลำ ในสภาพที่ดีกว่าและราคาในบัญชีถูกกว่าของการบินไทยประมาณ 30% เมื่อเป็นเช่นนี้ยังไม่คิดที่จะเอากลับมาใช้ หรือจะทิ้งให้เป็นเศษเหล็กเหมือน A340-500 หมดไปอีกแล้ว 22,500 ล้านบาท
ต่อมาคือการนำเครื่องบิน B747-400 ที่มีอายุงานกว่า 20 ปี ไปดัดแปลงเป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า หมดเงินค่าดัดแปลงไปเกือบ 2,000 ล้านบาท ในการทำ feasibilityโดยบริษัทที่ปรึกษา ผลการศึกษาบอกว่า 4 ปีจะคุ้มทุน แต่บินได้ปีกว่าก็ต้องหยุดบินเพราะขาดทุนมหาศาล ปัจจุบันจอดตากแดดตากฝน 2 ปีแล้ว หมดไปอีกหลายพันล้านบาท
อีกเรื่องคือการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ ตามผลการศึกษาแจ้งว่า ปี 2557 จะมีกำไร 1,304 ล้านบาท ผลประกอบการจริงขาดทุน 557 ล้านบาท ปี 2558 จะมีกำไร 1,842 ล้านบาท ผลประกอบการจริงขาดทุน 1,843 ล้านบาท ผิดจากการศึกษาถึง 200% ปี 2559 ศึกษาว่าจะมีกำไร 1,910 ล้านบาท ผลประกอบการแค่ 9 เดือนปี 2559 ขาดทุนแล้ว 1,078 ล้านบาท เครื่องบินที่นำมาใช้แทนที่จะใช้แบบที่บริษัทการบินไทยเคยใช้กลับไปใช้เครื่องบินและเครื่องยนต์แบบเดียวกับไทเกอร์แอร์ (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสิงคโปร์แอร์ไลน์) หมดไปอีกแล้ว 4,000 กว่าล้านบาท ไม่นับรวมวิธีดำเนินการที่กล้าท้าให้ไปถามปรมาจารย์ทุกสำนักให้เป็นผู้ชี้ขาดว่าถูกหรือผิด
การบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของนกแอร์กลับมีผู้บริหารบางคนที่นอกจากไม่ยับยั้งแถมยังสนับสนุนเห็นชอบให้สายการบินนกแอร์ไปร่วมทุนกับบริษัทสกู๊ตแอร์ (บริษัทลูกของสิงคโปร์แอร์ไลน์) จัดตั้งเป็น “สายการบินนกสกู๊ต” ทำการบินแข่งกับการบินไทยในเส้นทางเดียวกัน โดยเช่าเครื่องบินเก่าจากสิงคโปร์แอร์ไลน์ ทำการซ่อมบำรุงโดยสิงคโปร์ แต่ “สวมสิทธิ” ใช้สิทธิการบินของประเทศไทย ความเสียหายระยะยาวเป็นเงินมหาศาล ในปีงบประมาณ 2558 บริษัทขาดทุน 13,046 ล้านบาท ถ้าไม่ต้องเสียที่ไปซื้อน้ำมันล่วงหน้าในราคาที่สูงกว่าราคาในตลาดเป็นเงิน 18,154 ล้านบาท บริษัทจะมีกำไร 5,108 ล้านบาท คาดว่าปี 2559 จะขาดทุนการซื้อน้ำมันล่วงหน้าอีก 7,000 ล้านบาท หมดไปอีก 25,000 ล้านบาท
ปัญหาภูเขาน้ำแข็ง TG Iceberg ยังมีอีกมาก ไม่เพียงจะทำลายชื่อเสียงของประเทศเสียหาย แต่นำความเสียหายถึงขั้นล้มละลายมาสู่สายการบินแห่งชาติได้
นี่คือความไม่ชอบมาพากลที่กัปตันโยธินเขียนบรรยายเอาไว้ “ชัดเจน” แบบนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม
You must be logged in to post a comment Login