- ปีดับคนดังPosted 9 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ปล่อย‘ไผ่ ดาวดิน’ คืนความยุติธรรมแก่ประชาชน / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์
เราไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ “ไผ่ ดาวดิน” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กรณีถูกดำเนินคดีในความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากบีบีซีไทยด้วยหลักความยุติธรรมใดๆได้เลย เพราะถ้ายึดหลักความยุติธรรมบนฐาน “ความเสมอภาค” ในทางกฎหมาย ก็พบว่าสื่อที่เผยแพร่ข่าวดังกล่าวและคนแชร์ข่าวมีกว่า 2,000 คน แต่ไม่ถูกดำเนินคดี
แน่นอนถ้ามองจากหลักสิทธิมนุษยชนสากลย่อมไม่มีใครควรถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการเสนอและแชร์ข่าวใดๆ แม้จะมองจาก “กฎหมายไทย” ที่ไม่ได้อยู่บนมาตรฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล เราก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าการขังคุกและถอนสิทธิประกันตัวของไผ่เป็นความยุติธรรมตามตัวบทกฎหมายใด เพราะ “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” ไม่มีกฎหมายใดๆระบุความผิดหรือกำหนดโทษเอาไว้
กรณีของไผ่จึงทำให้เกิดคำถามต่อปัญหาพื้นฐานสำคัญว่า อะไรคือมาตรฐานความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย?
ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นกับไผ่และครอบครัวเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของ “มาตรฐาน” ในกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมจะมีได้อย่างไร และจะมีหลักประกันใดๆว่าคนอื่นๆในสังคมจะไม่ถูกกระทำอย่างอยุติธรรมเช่นเดียวกับที่ไผ่และครอบครัวกำลังถูกกระทำ
ในสังคมอารยะการตั้งคำถามต่อปัญหาความยุติธรรมในกรณีการใช้อำนาจรัฐจับกุมคุมขังประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะรัฐมีอำนาจสูงสุดในการชี้ถูกชี้ผิด ชี้เป็นชี้ตาย แต่อำนาจสูงสุดเช่นนี้ต้องเกิดจากการยอมรับของประชาชนภายในรัฐ การที่ประชาชนยอมรับเพราะเชื่อถือว่าอำนาจรัฐเป็นอำนาจที่มีความชอบธรรมและสามารถรักษาความยุติธรรมเป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกคนได้
ในกรณีของไผ่เรากลับไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุผลให้เห็นความชอบธรรมและความยุติธรรมในการใช้อำนาจรัฐกับประชาชนได้เลย แต่ทำไมสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือสังคมโดยรวม กลับสนใจและให้ความสำคัญกับปัญหาสำคัญเช่นนี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับกระแส “กราบรถกู” ที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้า
กรณีกราบรถกูนั้นดูเหมือนสังคมรับไม่ได้กับการ “ละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์” แต่ก็เป็นการกระทำของบุคคลหนึ่งต่ออีกบุคคลหนึ่ง ซึ่งมีกฎหมายเอาผิดอย่างชัดเจนและต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอยู่แล้ว
แต่กรณีของไผ่เป็นเรื่องอำนาจรัฐกระทำต่อประชาชน หมายความว่าถ้าไผ่หรือคนใดคนหนึ่งถูกกระทำเช่นนั้นได้ ทุกคนในสังคมก็มีโอกาสที่จะถูกอำนาจรัฐกระทำเช่นนั้นได้เหมือนกัน
อำนาจรัฐคือ “อำนาจสาธารณะ” หรืออำนาจในนามของประชาชนทุกคน แล้วสื่อมวลชน นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม ที่คิดว่าตนเองทำหน้าที่ในนามประชาชน เป็นปากเป็นเสียงที่สะท้อนความต้องการและมโนธรรมสำนึกของประชาชน ยอมเพิกเฉยอยู่ได้อย่างไร ไม่ตั้งคำถามต่อความอยุติธรรมในกรณีของไผ่ได้อย่างไร
ความกลัวอาจเป็นข้ออ้างหนึ่งที่ทำให้ไม่กล้าตั้งคำถาม แต่ในความเป็นจริงมีวิธีตั้งคำถามได้หลายวิธี มีวิธีเสนอความคิดเห็นได้หลายช่องทางที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัย แต่ทำไมกระแสการตั้งคำถามต่อความอยุติธรรมในกรณีของไผ่จึงเบาบางอย่างไม่น่าเชื่อ
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ชอบ “จุดยืนทางการเมือง” ของไผ่ที่ตอนหลังอาจมองว่าเป็นฝ่ายเสื้อแดง ทั้งที่ในความเป็นจริงไผ่ไม่เคยเคลื่อนไหวในนาม “เสื้อสี” ใดๆ แต่เมื่อไผ่มีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตยก็มีนักวิชาการและนักกิจกรรมที่เห็นใจเสื้อแดงสนับสนุนเขามากขึ้นเรื่อยๆ
กระนั้นถ้าสังคมมีวุฒิภาวะและรู้จักใช้เหตุผล ต่อให้บุคคลที่ถูกกระทำอย่างอยุติธรรมจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบใดๆก็ย่อมไม่สามารถยอมรับความอยุติธรรมนั้นได้ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ยุติการกระทำที่อยุติธรรมนั้นๆ
สภาวะแห่งความสามัคคีกันเงียบสงบ ไม่ตั้งคำถาม ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่เรียกร้องความยุติธรรมในกรณีไผ่ของบรรดาสื่อมวลชน นักวิชาการ นักกิจกรรม ที่อ้างว่าตัวเองทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง เป็นผู้สะท้อนความต้องการของประชาชนและมโนธรรมสำนึกทางสังคม ได้กลายเป็นสภาวะปรกติในสังคมที่ผิดปรกติไปแล้ว
การแบ่งฝ่าย แบ่งขั้ว แบ่งสีทางการเมืองกว่าทศวรรษ ทำให้เกิดอาการป่วยทางตรรกะเหตุผลและมโนธรรมสำนึกอย่างหนัก จนทำให้ผู้คนในสังคมมองไม่เห็น ไม่รู้สึกสะเทือนใจและเจ็บปวดต่อความอยุติธรรมที่เพื่อนร่วมสังคมได้รับ เพียงเพราะว่าเขามีจุดยืนทางการเมืองต่างจากฝ่ายตน
ตราบที่สื่อมวลชน นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม ยังหลับใหลต่อความอยุติธรรม และฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจรัฐใช้อำนาจอย่างไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ก็ยากที่จะเกิดความปรองดองและเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างสันติ
ตื่นกันเสียที โตกันเสียทีเถิดครับ ลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อความอยุติธรรม และเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ไผ่ ดาวดิน ปล่อยไผ่เพื่อคืนความยุติธรรมแก่ประชาชน!
You must be logged in to post a comment Login