- ปีดับคนดังPosted 34 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
แนวทางการปรองดอง / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)” มีกรรมการย่อย 4 ชุดคือ 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และ 4.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อดำเนินนโยบายให้เป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์และสร้างการปรองดองแห่งชาติให้เสร็จภายใน 1 ปี
รายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ให้ความสำคัญและคาดหวังการทำงานของคณะกรรมการนี้มากเป็นพิเศษ โดยเปรียบเทียบว่าเสมือนกล่องควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ประเทศในทุกด้าน แต่ที่สนใจมากที่สุดคือยุทธศาสตร์ด้านการปรองดอง ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้รับผิดชอบงานปรองดอง ชี้แจงว่า จะเชิญผู้แทนหรือหัวหน้าพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อยุติให้มากที่สุดว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติต้องทำอย่างไร เรื่องการนิรโทษกรรมยังไม่ได้มีการพิจารณา เพราะอยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ว่าไปตามกฎหมาย แต่ก็จะเชิญทั้งกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาหารือด้วย โดยกรอบเวลาเรื่องปรองดองต้องทำให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง
การสร้างความปรองดองเริ่มเดินหน้าจากการแถลงของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมาธิการด้านการปรองดอง นำเสนอว่าจะใช้นโยบาย 66/23 และ 66/25 สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นแนวทาง เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้ง แต่จะเป็นคนกลาง ซึ่งปัญหาเกิดจากความขัดแย้งของประชาชนด้วยกันเอง
แนวคิดนี้ตรงกับคำแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวถึงการปรองดองแห่งชาติว่า “คสช. รัฐบาล รวมทั้งตัวผมไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร อย่าไปเข้าใจผิด รัฐบาลต้องเป็นกลาง ผมรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน รัฐบาลชุดนี้เข้ามาไม่ได้ทำให้เกิดความขัดแย้ง แต่เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้ง”
ความจริงในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ความพยายามสร้างความปรองดองไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มีความพยายามตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2550 ซึ่งให้มีรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งเพื่อสร้างความปรองดองตามระบอบประชาธิปไตย ต่อมาสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากการปราบปรามครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2553 ได้ตั้งคณะกรรมการหลายชุดมาดำเนินงานเช่นกัน แม้แต่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งหมด (เหมาเข่ง) ก็อ้างจะสร้างความปรองดองภายในชาติ แต่ความพยายามหลายครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จ และบางกรณีกลับยิ่งขยายความขัดแย้งให้เป็นปฏิปักษ์กันมากขึ้น
คสช. ก็อ้างเหตุผลทำรัฐประหารว่า จะเข้ามาจัดการความขัดแย้งให้เกิดการปรองดอง ซึ่งการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งก็คือความพยายามใช้อำนาจทหารมาควบคุมความขัดแย้งทางการเมืองนั่นเอง
ดังนั้น การเสนอยุทธศาสตร์การปรองดองของรัฐบาลทหารครั้งนี้จึงไม่ได้รับการคาดหมายว่าจะประสบความสำเร็จกว่าครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะการแสดงท่าทีของฝ่าย คสช. เหมือนไม่มีความเข้าใจรากฐานความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างแท้จริง และยังไม่เข้าใจวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง ทั้งที่การรัฐประหารของฝ่ายทหารนั่นเองที่เป็นตัวการสำคัญในการทำลายกระบวนการปรองดองที่ผ่านมา และทำให้กองทัพกลายเป็นส่วนสำคัญในความขัดแย้งที่ผ่านมาด้วย
ความเข้าใจที่ว่าปัญหาทางการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดจากอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร หรือเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองเสื้อแดง หรือ กปปส. กับ นปช. แม้จะมีส่วนถูก แต่ก็ยังมีลักษณะผิวเผิน เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเชิงซ้อน และมีรากฐานมาจากปัจจัยอันไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยเฉพาะการที่ชนชั้นนำไทยไม่เคยรู้จักการเคารพกติกาและใช้วิธีการนอกกติกามาแก้ปัญหาทางการเมือง
ความจริงแล้วความขัดแย้งทางการเมืองในทุกสังคมถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ไม่มีสังคมใดที่ปราศจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในประเทศที่มีระบบการเมืองอันก้าวหน้า ใช้วิธีการประชาธิปไตยในการแก้ไขความขัดแย้ง โดยให้ประชาชนตัดสินด้วยเสียงข้างมากในกรอบเวลาที่ชัดเจน ประเทศเหล่านั้นจึงคงไว้ซึ่งลักษณะของกลุ่มประชาชนที่แตกต่างกัน และไม่มีการเรียกร้องให้ทุกคนมาคิดเหมือนกันหรือรักกันโดยข้ามความแตกต่าง
แต่ในสังคมไทยเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองแทนที่จะแก้ด้วยกระบวนการประชาธิปไตยหรือระบบรัฐสภา ชนชั้นนำไทยกลับผลักดันให้กองทัพทำรัฐประหาร ล้มกระบวนการทั้งหมด ใช้อำนาจจับกุมกวาดล้างประชาชนที่มีความคิดต่าง แล้วจะมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปรองดองและยอมรับกระบวนการที่ฝ่ายทหารกำหนด ให้นักการเมืองรักกัน สามัคคีกัน ให้ประชาชนไม่ขัดแย้งกัน ปรองดองกัน กระบวนเหล่านี้จึงกลายเป็นเรื่องตลกและไม่อาจเป็นจริงไปได้เลย
อันที่จริงแล้วกระบวนการปรองดองที่ดีที่สุดที่สรุปบทเรียนมาแล้วทั่วโลกคือ การฟื้นคืนประชาธิปไตย คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินอนาคตของตัวเอง กองทัพกลับกรมกองไปทำหน้าที่ป้องกันประเทศและเลิกแทรกแซงทางการเมือง จะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการปรองดองที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นวิธีการอันเป็นอารยะที่เป็นสันติวิธีที่สุด
การฟื้นฟูประชาธิปไตยจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิรูปทางการเมืองที่แท้จริง ไม่ใช่การปฏิรูปแบบลวงที่ปราศจากความหมาย จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สังคมไทยแก้ปัญหาตามระบบ ไม่ต้องใช้อำนาจนอกระบบอีกต่อไป นี่คือกระบวนการปรองดองที่เป็นจริง
You must be logged in to post a comment Login