- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ประกันสังคมคือคำตอบ / โดย ลอย ลมบน
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน
อะไรที่เดินหน้าต่อไปไม่ไหวก็ต้องหยุดแม้ต้องการทำอย่างเต็มที่ก็ตาม
เช่นเดียวกับกรณีที่กระทรวงการคลังสั่งยุติจ้างบริษัทประกันเข้าบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการทั้งระบบเอาไว้ก่อน เนื่องจากมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายทั้งจากส่วนราชการเองและบุคลากรทางการแพทย์
บริษัทประกันทั้งหลายที่ตั้งท่ารอรับงบประมาณก้อนโตกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี จึงต้องเป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อ
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ากระทรวงการคลังจะยุติแนวคิดเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ แต่ให้ไปศึกษาข้อดีข้อเสียระหว่างยกงบประมาณทั้งก้อนให้บริษัทประกันไปรับความเสี่ยงเอาเองกับการให้กรมบัญชีกลางบริหารจัดการงบประมาณว่าอย่างไหนจะดีกว่ากัน
จะเห็นว่ามีทางเลือกในการศึกษาแค่ 2 ทาง ไม่มีทางเลือกที่ 3 ที่ 4 สำหรับการบริหารจัดการงบประมาณรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว
คนใหญ่คนโตในกระทรวงการคลังบางคนยังมีความเชื่อว่าหากยกงบประมาณให้บริษัทประกันไปบริหารจัดการจะลดการรั่วไหลในการเบิกจ่ายได้
ความจริงโครงการนี้พยายามจะให้ได้ข้อสรุปกันในปีนี้และให้มีผลบังคับใช้ในปีหน้า แต่เมื่อมีกระแสคัดค้านมากกว่าเสียงสนับสนุนจึงทำให้ต้องพับโครงการเอาไว้ก่อน เมื่อดูจากการให้ไปศึกษาข้อดีข้อเสียเพิ่มเติมแสดงว่าโครงการนี้มีโอกาสถูกปัดฝุ่นนำมาใช้ได้ตลอดเวลา ยังไม่ถูกโยนทิ้งลงตะกร้าแต่อย่างใด
หลักคิดของผู้ที่เสนอและสนับสนุนโครงการนี้มีอยู่ 2 ประเด็นคือ หากให้บริษัทประกันเข้ามารับผิดชอบแทนกรมบัญชีกลางจะทำให้ตัวเลขงบประมาณที่ใช้ในการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวคงที่
เช่น ปี 2559 ที่ผ่านมา ตั้งงบประมาณไว้ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท แต่ยอดขอเบิกจ่ายทะลุไปถึง 70,000 กว่าล้านบาท หากให้บริษัทประกันรับผิดชอบรัฐจ่ายก้อนเดียวไม่บานปลาย หากมียอดเกินบริษัทประกันต้องรับผิดชอบ
แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะสามารถจัดงบคงที่ให้บริษัทประกันได้ หากรับประกันแล้วไม่คุ้มเสี่ยงก็คงไม่มีบริษัทไหนเข้าร่วมโครงการ อย่างไรเสียงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวก็ต้องจัดเพิ่มขึ้นทุกปี
อีกประเด็นที่กระทรวงการคลังต้องการโยนงบให้บริษัทประกันไปบริหารจัดการ เนื่องจากเห็นว่าที่กรมบัญชีกลางรับผิดชอบเบิกจ่ายอยู่ทุกวันนี้ทำให้มีช่องโหว่งบรั่วไหลอย่างมาก เพราะต้องจ่ายไปตามใบเสร็จรับเงินที่โรงพยาบาลออกมาโดยไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงการรักษาพยาบาลทั้งหมดได้
หากให้บริษัทประกันเข้ามารับผิดชอบจะมีระบบตรวจสอบที่ดีกว่า
โจทย์ที่เป็นที่มาของโครงการมีอยู่แค่ 2 ประเด็นนี้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อยากเสนอให้กระทรวงการคลังลองพิจารณาทางเลือกอื่นๆที่จะใช้บริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว เพื่อไม่ให้เป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐมากเกินไป และไม่ให้มีการรั่วไหลอย่างที่เป็นอยู่
ประเด็นแรกที่ควรพิจารณาคือรายได้ของข้าราชการ
หากพิจารณาจากฐานรายได้ของข้าราชการในปัจจุบันจะเห็นว่าข้าราชการมีค่าตอบแทนต่อเดือนไม่ใช่น้อย แถมยังมีรายได้ทางอ้อมอื่นๆอีก เช่น โบนัสประจำปี ค่าเบี้ยเลี้ยง และยังสามารถลดรายจ่ายจำเป็นลงได้ เช่น การเบิกค่าเช่าบ้านพัก
จะเห็นได้ว่าข้าราชการปัจจุบันมีรายได้ไม่น้อยกว่าพนักงานเอกชน และมากกว่าผู้ใช้แรงงานที่ได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ
ถ้าเข้าใจไม่ผิดการที่รัฐต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลให้ข้าราชการและครอบครัว ตลอดจนให้สิทธิพิเศษในการเบิกจ่ายต่างๆ ก็เพราะในอดีตข้าราชการมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าคนทำงานภาคเอกชนค่อนข้างมาก รัฐจึงต้องจัดสวัสดิการช่วยเพื่อให้ข้าราชการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว รัฐควรทบทวนระบบสวัสดิการของข้าราชการใหม่ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่เป็นประเด็นพิจารณากันอยู่ในตอนนี้
แนวทางที่เหมาะสมที่จะช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐได้ดีที่สุดคือ การนำข้าราชการเข้าสู่ระบบประกันสังคม นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ยังจะช่วยลดภาระงบประมาณที่ต้องจ่ายบำเหน็จบำนาญยามเกษียณอายุได้อีกทางหนึ่งด้วย
หากไม่สามารถทำได้ก็ต้องมีเหตุผลอธิบายด้วย
ถ้าจะบอกว่าทำให้ข้าราชการมีภาระเพิ่มเพราะต้องถูกหักเงินส่งเข้ากองทุนประกันสังคม ก็ต้องถามว่าผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้เพียงค่าจ้างขั้นต่ำวันละไม่กี่ร้อยบาททำไมถึงรับภาระในส่วนนี้ได้
ถ้าจะบอกว่าการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมไม่มีคุณภาพ ก็ต้องถามว่าทำไมภาครัฐยอมให้การรักษาพยาบาลที่ไร้คุณภาพนั้นเกิดขึ้นกับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีภาระต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน ไม่ได้รักษาฟรี 100% เหมือนข้าราชการที่ออกใบเสร็จมาเท่าไรก็เบิกได้ทั้งหมด
ถ้าจะบอกว่าประกันสังคมให้สิทธิเฉพาะตัว ไม่รวมบิดามารดาและบุตร เรื่องนี้น่าจะมีทางแก้หากต้องการใช้ระบบประกันสังคมกับข้าราชการอย่างจริงจัง
อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าการที่กระทรวงการคลังสั่งยุติโครงการให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลบริหารจัดการงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัวเป็นแค่การยุติไว้ชั่วคราว
การควบคุมรายจ่ายภาครัฐเรื่องค่ารักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่ต้องทำ จึงควรพิจารณาแนวทางดำเนินการหลายๆทางเพื่อนำมาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียแล้วเลือกทางที่ดีที่สุด
ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องยกข้าราชการให้เป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเป็นพลเมืองชั้นสอง ผู้ใช้ระบบประกันสุขภาพบัตรทองเป็นพลเมืองชั้นสาม
ในเมื่อมีแนวคิดที่จะให้ผู้ใช้ระบบประกันสุขภาพบัตรทองร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อลดภาระงบประมาณ ก็ต้องให้ข้าราชการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อความเป็นธรรม เสมอภาคของประชาชนทุกหมู่เหล่า
แนวทางระบบประกันสังคมน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้
You must be logged in to post a comment Login