วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘รัฐบาลลุงตู่’โปร่งใสต่ำกว่า‘เจ๊ปู’? / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On February 2, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

การที่คะแนนความโปร่งใสของไทยในปี 2559 ต่ำกว่าปี 2558 และ 2557 สะท้อนภาพที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในด้านความโปร่งใสและการทุจริตคอร์รัปชัน โดยดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2559 (Corruption Perceptions Index 2016) ผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกนั้น ประเทศไทยได้ 35 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม ต่ำกว่าคะแนนในปี 2537 และ 2538 ที่ได้ 38 คะแนน 2 ปีซ้อน (http://bit.ly/20nFpHE)

สะท้อนให้เห็นอย่างไรนั้น ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตดังนี้

1.ปี 2557 ส่วนหนึ่งยังอยู่ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คะแนนที่เผยแพร่ออกมาช่วงไตรมาส 3 แสดงว่าเป็นผลพวงการทำงานในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วนคะแนนในปี 2558 จัดทำเสร็จและเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2559

2.คะแนนปี 2557 และ 2558 เท่ากัน แง่หนึ่งแสดงให้เห็นว่า หากกล่าวว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์โกง ไม่โปร่งใส รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา ก็อยู่ในสถานะเดียวกัน เพราะได้คะแนนเท่ากัน

3.ในทางตรงกันข้าม หากคิดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำดีในการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ได้คะแนนเท่ากันก็มีความโปร่งใสเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในระยะที่ผ่านมาแม้รัฐบาลปัจจุบันจะพยายามประกาศต่อสู้กับการทุจริตและประพฤติมิชอบ แต่ยังปรากฏข่าวอยู่เนืองๆ การทุจริตกลายเป็น “เหตุการณ์ปรกติ” ไปแล้ว โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการ (บางส่วน) เนื่องจาก

1.ขาดแนวคิดรับใช้ประชาชน เห็นประชาชนเป็นผู้อยู่เบื้องล่าง ข้าราชการกลายเป็นเจ้าคนนายคน เข้าทำนอง “สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง” หมายถึงพ่อค้าหลายคนอุปถัมภ์ค้ำชูก็ยังเทียบไม่ได้กับคนที่รับราชการมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงคนเดียวเลี้ยงดู ทั้งนี้ ในสมัยโบราณการรับราชการเป็นขุนนางถือเป็นสิ่งที่ดีงามและหลายคนอยากเป็น เพราะมีความมั่นคงและมีเงินเดือนแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อมีตำแหน่งใหญ่โตก็จะมีอำนาจตามมาด้วย แต่พ่อค้าคนไทยสมัยก่อนยังค้าขายไม่เก่ง มีความเสี่ยงที่จะหมดตัวได้ การมีคู่ครองรับราชการตำแหน่งดีๆจึงเป็นที่หมายปองกว่าพ่อค้า

2.การไต่เต้ามาจากระบบ “ด.ว.ง.” ไม่ใช่ดวงดีหรือไม่ดี แต่หมายถึงว่าต้องขึ้นอยู่กับเป็น “ด.เด็กของใคร ว.วิ่งหรือไม่ และ ง.เงินถึงหรือเปล่า” หากมี ด.ว.ง. แล้ว โอกาสที่จะได้ตำแหน่งใหญ่โตก็จะเกิดขึ้น การถอนทุนแบบที่กล่าวถึงนักการเมือง (ข้าราชการการเมือง) ก็เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการประจำเช่นกันและกว้างขวางกว่าเสียอีก

หากประเทศชาติไม่อาจขจัดปัญหาทุจริตได้ ประเทศชาติคงเจริญได้ยากแน่นอน ในแง่หนึ่งยุคที่รัฐบาลบอกว่าไม่โกงกิน แต่ประเทศชาติก็ไม่เจริญ แสดงว่า (แอบ) โกงกินอยู่จนชาติไม่เจริญ ในทางตรงกันข้ามหากกล่าวหารัฐบาลใดว่าโกงกินแต่ประเทศชาติเจริญ ก็อาจตีความได้ว่าแท้จริงแล้วอาจไม่ได้มีการโกงกันดังคำโพนทะนา อาจเป็นแค่การบิดเบือนใส่ร้าย เป็นต้น

มาถึงปี 2559 ปรากฏว่าคะแนนความโปร่งใสกลับทรุดต่ำลงไปเหลือ 35 แสดงให้เห็นว่าภายใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จนั้น ในแง่หนึ่งอาจจะดีในความรวดเร็ว แต่มีข้อเสียที่มีการอาศัยเส้นสายมากกว่าระบบที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน ทำให้เกิดการระบาดของการฉ้อราษฎร์บังหลวงหนักข้อเข้าไปอีก โดยไม่สามารถตรวจสอบใดๆได้เลย เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติพร้อมพนักงานเทกระโถนอีกเป็นฝูง หรือฝ่ายบริหารพร้อมพนักงานเทกระโถนอีกมหาศาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบใดๆได้เลย

หากสถานการณ์เป็นอย่างนี้ไปอีกนานๆก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติเสื่อมทรุดได้ ความโปร่งใสกับประชาธิปไตยต้องไปด้วยกัน การวิเคราะห์นี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะหรือปัจจัยที่แทนด้วยตัวแปรตั้งแต่ 2 ตัวแปรขึ้นไป เพื่อให้ทราบถึงความสัมพันธ์ ทิศทางความสัมพันธ์ และลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยค่าที่ทราบจากตัวแปรหนึ่ง แล้วนำไปพยากรณ์ค่าของอีกตัวแปรหนึ่งว่ามีความแปรผันในสัดส่วนเท่าใดหรือในระดับใดนั่นเอง โดยมีเพียง 2 ตัวแปร จึงใช้แบบ Simple Regression Analysis ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเพียง 2 ตัวว่า การเปลี่ยนแปลงของตัวแปรหนึ่งส่งผลต่ออีกตัวแปรหนึ่งอย่างไรในลักษณะที่เป็นเส้นตรง (Linear)

การให้คะแนนความโปร่งใสและคะแนนประชาธิปไตยใน 150 ประเทศนั้น สมมุติให้คะแนนอันดับ 1 เท่ากับ 10 คะแนน ส่วนอันดับสุดท้ายได้ 1 คะแนน นอกนั้นเรียงลำดับกันไป เพื่อนำคะแนนทั้ง 2 ตัวแปรมาวิเคราะห์ว่ามีความสัมพันธ์กันเพียงใด จากการวิเคราะห์การถดถอยพบว่าค่า R Square หรือค่าสัมประสิทธิ์ของการตัดสินใจ (Coeff icient of Determination) อยู่ที่ 0.743175 หรือประมาณ 74% และค่าเลขนัยสำคัญ (Signif icant F) หรือตัวเลขที่ได้จากการวัดเกือบเป็นศูนย์ จึงอาจพอสรุปได้ว่าความโปร่งใสกับประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์กัน

โดยนัยของการวิเคราะห์นี้จึงอาจอนุมานได้ว่า หากประเทศที่มีการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใสก็จะน้อย เพราะตรวจสอบไม่ได้ หากใครไปตรวจสอบก็อาจพบกับ “เภทภัย” จากผู้มีอำนาจเผด็จการ เป็นต้น และยิ่งประเทศใดอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนานเข้าก็ยิ่งจะมีความโปร่งใสน้อยลง บรรดาผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจวาสนายศศักดิ์ (ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง) ก็ยิ่งคุ้นเคยและเสพติดอำนาจ ทำให้ประเทศยิ่งจะเลวร้ายลง

ท่านนายกฯต้องเร่งสร้างสรรค์ประชาธิปไตยตามที่วางโรดแม็พไว้เพื่ออนาคตของประเทศ เมื่อเป็นสังคมประชาธิปไตยมากขึ้น ประเทศก็จะเจริญขึ้น มีคนมาลงทุนกันมากขึ้น อย่างพม่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย


You must be logged in to post a comment Login