- ปีดับคนดังPosted 18 hours ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 3 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
ชีวิตมีค่าเท่ากัน / โดย บรรจง บินกาซัน
คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน
ชีวิตเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้าง เมื่อสร้างมาแล้วพระองค์ได้วางมาตรการรักษาชีวิตโดยการประทานศาสนามาก่อนที่โลกนี้จะมีการสร้างกฎหมาย ดังนั้น ในคำสอนของทุกศาสนาจึงมีคำสั่งห้ามทำลายชีวิต ยกเว้นในกรณีที่พระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิตอนุมัติเพื่อความยุติธรรม
บางศาสนาในอดีตมีคำสั่งห้ามฆ่าชีวิต แต่ไม่มีมาตรการลงโทษผู้ฆ่า แต่บางศาสนา เช่น ศาสนาคริสต์ มีคำสั่งลงโทษผู้ทำลายชีวิต โดยมาตรการที่เรียกว่า ตาแทนตา ฟันแทนฟัน นั่นคือถ้าใครฆ่าใครคนหนึ่ง ผู้ฆ่าต้องถูกลงโทษด้วยการถูกประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกัน
เมื่ออาณาจักรโรมันไบแซนตินรับศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติ บทลงโทษคดีฆาตกรรมจากคัมภีร์ไบเบิลยังคงถูกนำมาใช้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทางศาสนาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กฎหมายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฆาตกรบางคนจึงรอดพ้นจากการลงโทษ ศาสนามิได้เสื่อม แต่คนนับถือศาสนาต่างหากที่เสื่อม
ด้วยเหตุนี้เพื่อความยุติธรรมที่สมบูรณ์ การลงโทษในโลกหน้าจึงต้องมีไว้สำหรับผู้กระทำผิดที่ยังไม่ถูกลงโทษในโลกนี้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ประพฤติมิชอบด้วย
หลังยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เมื่อชาติตะวันตกแยกตัวออกจากศาสนา การลงโทษฆาตกรด้วยการประหารชีวิตได้ถูกยกเลิกไปในบางประเทศด้วยเหตุผลเมตตาธรรมต่อฆาตกร แต่ลืมไปว่าเมตตาธรรมต่อฆาตกรนั้นคือทารุณกรรมต่อผู้ถูกฆาตกรรมและญาติ นับแต่นั้นมาการฆ่าจึงแพร่ไปทั่วแผ่นดิน และผู้นำประเทศหลายคนได้กลายเป็นฆาตกรลอยนวลมีหน้ามีตาอยู่ในสังคมโลกโดยไม่ถูกลงโทษ
เมื่อนบีมุฮัมมัดเป็นผู้นำรัฐอิสลามในเมืองมะดีนะฮฺ หากชาวยิวมีกรณีพิพาท ชาวยิวจะให้นบีมุฮัมมัดเป็นผู้ตัดสินคดีตามข้อตกลง ท่านนบีจะตัดสินไปตามบทบัญญัติการลงโทษที่มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ศาสนาของชาวยิว ส่วนในกรณีของชาวอาหรับหรือมุสลิมท่านจะใช้บทลงโทษที่กล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอาน
ครั้งหนึ่งผู้หญิงอาหรับคนหนึ่งในตระกูลที่ผู้คนนับถือได้ทำผิดโดยไปขโมยอะไรบางอย่างและถูกจับได้ ผู้คนในตระกูลนี้จึงเกิดความกังวล เพราะรู้ว่าโทษของการขโมยคือการถูกตัดมือ ดังนั้น ญาติผู้ใหญ่ของหญิงผู้ทำผิดจึงถามว่า “ใครจะเข้าไปเจรจากับมุฮัมมัดให้ลดหย่อนผ่อนโทษเธอ?” มีบางคนกล่าวว่า “ไม่มีใครกล้าทำเช่นนั้น นอกจากอุซามะฮ์ บินเซด บุตรบุญธรรมผู้เป็นที่รักของเขา”
เมื่ออุซามะฮ์พูดเรื่องนี้กับท่านนบีมุฮัมมัด ท่านได้พูดกับเขาว่า “เจ้าพยายามมาขอการลดหย่อนผ่อนโทษให้คนทำผิดในเรื่องที่พระเจ้าได้กำหนดไว้แล้วกระนั้นหรือ?” หลังจากนั้นท่านนบีมุฮัมมัดได้ลุกขึ้นยืนเทศนาว่า “สิ่งที่ทำลายชนชาติต่างๆก่อนหน้าพวกท่านทั้งหลายก็คือ ถ้าคนมีฐานะสูงทางสังคมขโมย พวกเขาจะให้อภัย แต่ถ้าคนจนในหมู่พวกเขาขโมย พวกเขาจะเอาบทบัญญัติของพระเจ้ามาลงโทษเขา ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ถ้าฟาฏิมะฮ์ลูกสาวของมุฮัมมัดขโมย ฉันจะตัดมือของเธอ”
บทลงโทษที่พระเจ้าได้กำหนดไว้ในคัมภีร์ศาสนาก่อนหน้านี้ได้ถูกนำมาปฏิบัติต่อโดยนบีมุฮัมมัด และมีบัญญัติไว้ในคัมภีร์กุรอานซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายอิสลาม (ชะรีอ๊ะฮ์)
วัตถุประสงค์ของกฎหมายตาแทนตา ฟันแทนฟัน ที่ถูกบัญญัติไว้ในคัมภีร์ศาสนาที่มาจากพระเจ้าก็คือ เพื่อให้มนุษย์ได้รู้ว่าชีวิตมนุษย์มีค่าเท่ากันในสายตาของพระเจ้า เพื่อป้องปรามอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินเพราะความอาฆาตหรือเคียดแค้น
อย่างไรก็ตาม กฎหมายอิสลามเปิดโอกาสให้ทายาทของผู้ตายเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้อภัยหรือจะให้ศาลลงโทษฆาตกรโดยใช้กฎหมายของพระเจ้า ถ้าทายาทของผู้ตายให้อภัยฆาตกร ทายาทก็จะได้รับเงินสินไหมชดใช้ตามที่ศาลกำหนด และศาลจะไม่ใช้บทลงโทษด้วยการประหาร แต่จะลงโทษเป็นอย่างอื่นแทน ถ้าหากทายาทของผู้ตายต้องการให้ศาลใช้บทลงโทษแบบตาแทนตา ฟันแทนฟัน (ภาษากฎหมายอิสลามเรียกว่า “กิศอศ”) ศาลก็ต้องตัดสินไปตามนั้น
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวว่าเจ้าชายในราชวงศ์ผู้ปกครองประเทศคูเวตได้ตกเป็นหนึ่งในนักโทษประหารร่วมกับคนอื่นๆอีก 6 คน จากความผิดฐานฆาตกรรม เพราะกฎหมายชะรีอ๊ะฮ์มีไว้ใช้สำหรับทุกคนโดยไม่แยกชนชั้น
You must be logged in to post a comment Login