- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
‘ไผ่ ดาวดิน’กับหลักนิติรัฐ / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์
เราอยู่ในยุคที่ผู้ปกครองอ้าง “กฎหมาย” มากที่สุด โดยอ้างว่าก่อนรัฐประหาร 2557 นักการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆไม่ทำตามกฎหมายหรือกฎหมายเอาผิดคนที่ทำผิดไม่ได้ ยุคนี้จึงเป็นยุคที่ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ใครทำผิดกฎหมายก็ต้องไปสู้กันในศาล ผิดว่าไปตามผิด
ในความเป็นจริง การทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็คือการทำผิดกฎหมายที่มีโทษสูงถึงประหารชีวิต แต่กลุ่มก่อรัฐประหารกลับไม่ต้องรับผิดใดๆ การบังคับใช้กฎหมายหลังรัฐประหารเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันส่วนมากเป็นการใช้กฎหมายเอาผิดนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารไม่ได้ถูกดำเนินการทางกฎหมาย ไม่ว่ากรณีสลายการชุมนุมปี 2553 ที่มีคนตายจำนวนมาก และกรณีอื่นๆที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางการเมือง
โดยรัฐบาลทหารไม่มีระบบสภามาคอยตรวจสอบถ่วงดุล ระบบศาลก็ถูกตั้งคำถามว่ายังมีความเป็นอิสระหรือไม่ สื่อมวลชนและภาคประชาชนก็ไม่มีเสรีภาพในการวิจารณ์และตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง
ยิ่งกว่านั้นการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลก็เน้นไปที่การปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและปิดกั้นการตรวจสอบรัฐบาลเป็นด้านหลัก เช่น กรณีนั่งรถไฟเพื่อตรวจสอบประเด็นการกล่าวหาการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ประชาชนที่ออกมาตรวจสอบกลับถูกจับติดคุกเสียเอง เป็นต้น
ที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีการต่อสู้ของ “ไผ่ ดาวดิน” ที่เคลื่อนไหวในแนวทางสันติวิธีและใช้สิทธิในการแสดงออกตามหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน แต่กลับถูกดำเนินคดีถึง 5 คดี โดยคดีล่าสุดคือคดี 112 เนื่องจากการแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ที่มีคนแชร์กว่า 2,000 คน แต่ไผ่กลับผิดคนเดียว สะท้อนปัญหา “หลักนิติรัฐ” ในสังคมไทยอย่างชัดเจนที่สุด
ผมไม่ได้เรียนมาทางกฎหมายและไม่ใช่นักกฎหมายจึงไม่ได้มีความรู้แตกฉานในเรื่องหลักนิติรัฐ แต่อาศัยอ่านเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “หลักนิติรัฐ” ของอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งอธิบายไว้ชัดเจนดี จึงขออนุญาตสรุปมาแบ่งปันท่านผู้อ่านอีกที
คำว่า “นิติรัฐ” แปลจากภาษาเยอรมันว่า “Rechtsstaat” ระบบกฎหมายอังกฤษแปลว่า rule of law หรือ state-under-law หมายถึงรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย หรืออยู่ภายใต้กฎหมาย ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของรัฐสมัยใหม่ที่ต่างจากรัฐโบราณที่อำนาจการปกครองขึ้นอยู่กับผู้ปกครองที่มักเป็นอำนาจตามอำเภอใจหรือตามกำลังทหาร กำลังอาวุธของผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายจะเป็น “นิติรัฐ” ทั้งหมด เพราะรัฐที่เป็นนิติรัฐตามที่ยอมรับกันในโลกสมัยใหม่คือ “รัฐเสรีประชาธิปไตย” เท่านั้น เพราะมีหลักการที่กำหนดว่าจะเป็นนิติรัฐได้คือ การบัญญัติกฎหมายต้องผ่านกระบวนการที่ชอบธรรมในระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย เนื้อหาของกฎหมายต้องเป็นเนื้อหาที่เคารพ ปกป้องสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ทั้งกลไกอื่นๆของรัฐ เช่น กระบวนการยุติธรรม ต้องตีความและบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และต้องคำนึงถึง “ความยุติธรรม” เป็นหลักสำคัญ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบรวมทั้งศาลจะต้องเป็นอิสระและตรวจสอบได้ เป็นต้น
เมื่อใช้หลักนิติรัฐดังกล่าวมาพิจารณาการจับกุมและถอนสิทธิประกันตัวของไผ่ จะเห็นชัดเจนว่าไม่ใช่การตีความและบังคับใช้กฎหมายโดยคำนึงถึงการเคารพและปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ และไม่สามารถอธิบายได้ว่ามี “ความยุติธรรม” เนื่องจากเป็นการเจาะจงเอาผิดคนเพียงคนเดียว ขณะที่อีกกว่า 2,000 คนที่กระทำแบบเดียวกันไม่ผิด รวมถึงสำนักข่าวต้นเรื่องก็ไม่ผิด
การใช้อำนาจรัฐคือการใช้ “อำนาจสาธารณะ” หรือ “อำนาจของประชาชน” ผ่านการใช้กฎหมาย กรณีที่กระบวนการยุติธรรมของรัฐใช้อำนาจทางกฎหมายดำเนินการกับไผ่จึงเป็นเรื่องท้าทายต่อมโนธรรมสำนึกทางสังคมว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยจึงนิ่งเฉยหรือยินยอมให้รัฐใช้อำนาจสาธารณะดำเนินการกับบุคคลอย่างขัดต่อหลักนิติรัฐ โดยเฉพาะบุคคลนั้นคือบุคคลที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งปกป้องสิทธิและอำนาจของประชาชนทุกคน
เมื่อเรายอมรับการใช้อำนาจของรัฐอย่างขัดหลักนิติรัฐต่อบุคคลเพียง 1 คน เท่ากับว่าทุกคนในสังคมมีโอกาสที่จะถูกกระทำในแบบเดียวกัน
คำถามคือ แล้วเราจะไม่ยอมรับได้อย่างไร เมื่อปัจจุบันเราไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่มีหลักนิติรัฐอยู่แล้ว นี่คือปัญหาสำคัญของสังคมไทย
ขณะที่รัฐบาลทหารที่อ้างกฎหมายก็ไม่ได้ใช้กฎหมายบนหลักนิติรัฐ เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่สามารถมีนิติรัฐ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงไม่สามารถคาดหวังความยุติธรรมจากการตีความและการบังคับใช้กฎหมายได้ จึงต้องเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะส่งเสียงทุกวิธีว่าไม่สามารถยอมรับระบอบเผด็จการได้ เราต้องการประชาธิปไตย
การรัฐประหารไม่ใช่แค่การล้มรัฐบาลที่คนบางฝ่ายไม่ชอบ หรือล้มรัฐบาลที่บางคนเชื่อว่าเลวร้ายเท่านั้น แต่เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบการปกครอง ล้มสิทธิและอำนาจของประชาชน ซึ่งเท่ากับล้ม “หลักนิติรัฐ” ส่งผลให้การอ้างกฎหมาย การตีความและบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถรักษา “ความยุติธรรม” บนหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมายและหลักการเคารพปกป้องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนได้
You must be logged in to post a comment Login