- ปีดับคนดังPosted 33 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เราจะทำตามสัญญาแบบ‘ทรัมป์’? / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพียง 10 วันแรก ก็เริ่มดำเนินนโยบายตามสัญญาที่หาเสียงไว้ ซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวายในทางปฏิบัติโดยทันที และคาดหมายถึงปัญหาอีกหลายประการที่จะตามมาภายใต้การบริหารงานของทรัมป์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งบริหารให้มีผลทันที คือห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศอิสลามเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา โดยพลเมืองซีเรียจะถูกห้ามเข้าสหรัฐอย่างไม่มีกำหนด ส่วนพลเมืองอิหร่าน อิรัก ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน จะถูกห้ามเข้าเป็นเวลา 90 วัน และยังห้ามรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศทั้งหมดเป็นเวลา 120 วัน ด้วยเหตุผลกำลังรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับชาวอเมริกันเรื่อง “ระบบคัดกรองเข้มข้น” พลเมืองประเทศมุสลิม เพื่อให้สหรัฐปลอดภัยจาก “ผู้ก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง”
ข้อวิจารณ์แรกสุดของคำสั่งนี้คือ ประธานาธิบดีออกคำสั่งโดยไม่ได้มีการหารือฝ่ายกฤษฎีกาหรือกระทรวงยุติธรรมที่ทำหน้าที่โดยตรงด้านกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งที่ปราศจากการทบทวนในข้อกฎหมาย ซึ่งข้ามขั้นตอนปรกติของการออกคำสั่งจากประธานาธิบดี ปัญหาที่เกิดฉับพลันคือ การใช้คำสั่งให้มีผลทันทีทำให้แม้กระทั่งพลเมืองที่ถือวีซ่า 7 ประเทศ แม้จะอาศัยอยู่ในสหรัฐแล้ว ถ้าเดินทางออกนอกประเทศและกลับสหรัฐหลังจากวันที่ 27 มกราคมก็จะถูกห้ามเข้าทันที หรือผู้ที่เดินทางก่อนหน้าการลงนามในคำสั่งและมาถึงสหรัฐในวันที่ 27 มกราคม ก็จะถูกห้ามเข้าประเทศ ส่วนผู้โดยสารที่ยังไม่ได้ออกเดินทางก็ถูกห้ามขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปสหรัฐ แม้จะมีตั๋วโดยสารและวีซ่าเข้าสหรัฐก็ตาม
กรณีนี้ส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายอย่างมากที่สนามบินในสหรัฐหลายแห่ง เพราะผู้โดยสารที่มีวีซ่าจาก 7 ประเทศจำนวนมากถูกยับยั้งการเข้าประเทศและกักตัวเพื่อส่งกลับ ทำให้มีผู้ตกค้างตามสนามบินต่างประเทศ ซึ่งคำสั่งนี้ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งลูกเรือที่ถือสัญชาติประเทศต้องห้าม รวมถึงนักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐบาล นักการทูต หรือเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศก็ต้องถูกดำเนินการแบบเดียวกัน จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างกว้างขวาง มีการประท้วงลุกลามในท่าอากาศยานหลายแห่งทั้งในกรุงวอชิงตันและเมืองอื่น ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศอิหร่านออกแถลงการณ์ว่า เป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีชาวมุสลิมทั่วโลก และเป็นเหมือนของขวัญชิ้นใหญ่ให้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
เรนซ์ พรีบัส ปลัดบัญชาการทำเนียบขาว แถลงย้ำว่า นโยบายนี้เป็นสิ่งที่ชาวอเมริกัน 75-80% เห็นด้วย และอธิบายว่า เป็นการถูกต้องที่ใครก็ตามที่เดินทางไปหรือกลับจาก 7 ประเทศต้องผ่าน “มาตรการคัดกรอง” เป็นกรณีพิเศษ แม้จะเป็นพลเมืองอเมริกันก็ตาม โดยปฏิเสธว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย และยืนยันว่ามีเพียง 109 คน จากผู้เดินทาง 335,000 คนที่ถูกควบคุมตัว
ความวุ่นวายยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งคืนวันเสาร์ที่ 28 มกราคม ศาลแขวงนิวยอร์กต้องออกคำสั่งระงับคำสั่งประธานาธิบดีชั่วคราว เพื่อให้พลเมืองประเทศต้องห้ามที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอยู่แล้วหรืออยู่ในช่วงเดินทางแล้วถือวีซ่าที่ถูกต้องให้เข้าสหรัฐได้
คำสั่งฝ่ายบริหารครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและค่านิยมที่สหรัฐยึดถือมาตลอดว่าจะไม่เลือกปฏิบัติต่อประชาชน ไม่ว่าเชื้อชาติหรือศาสนาใด ซึ่งประเทศสหรัฐก่อตั้งมาจากผู้อพยพหลายเชื้อชาติมารวมกัน นอกจากนี้คำสั่งยังมาจากความสับสนของประธานาธิบดีเอง เพราะโดยทั่วไปผู้ลี้ภัยคือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและหนีภัยสงคราม คนเหล่านี้ไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
อีกปัญหาหนึ่งคือ การเลือกประเทศอิสลามต้องห้ามก็เลือกแบบ “เอาใจกระแส” เพราะในอดีตที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการก่อการร้ายในสหรัฐจากผู้ถือสัญชาติ 7 ประเทศนี้เลย แต่ทรัมป์อ้างว่า 7 ประเทศเอามาจากรายชื่อประเทศก่อการร้ายที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ความจริงแล้วกรณีนี้อาจมีปัญหามากกว่านั้น เพราะทรัมป์กล่าวในการหาเสียงว่า จะระงับ “ชาวมุสลิมทุกประเทศ” เข้าประเทศ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะประเทศอิสลามที่เป็นมิตรกับสหรัฐ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน อินโดนีเซีย อียิปต์ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย
เป็นที่เข้าใจกันว่าที่ทรัมป์ต้องดำเนินการเช่นนี้เพราะมาตรการเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากสัญญาของเขาที่จะดำเนินการเมื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดี จึงใช้วิธีออก “คำสั่งบริหาร” ซึ่งเป็นอำนาจของประธานาธิบดีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำตามสัญญาจริง ไม่ใช่แค่นโยบายที่หาเสียง เมื่อชนะการเลือกตั้งก็ลืม ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ได้ เขาจึงเลือกที่จะทำ ไม่ว่าจะเกิดผลอย่างไร เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าสิ่งที่หาเสียงไว้ได้ลงมือทำแล้ว
ดังนั้น ในสัปดาห์แรกของทรัมป์จึงเซ็นคำสั่งฝ่ายบริหารถึง 15 ฉบับ เช่น คำสั่งถอนสหรัฐออกจากภาคีข้อตกลงเขตการค้าเสรีทีพีพี คำสั่งชะลอเพื่อนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายประกันสุขภาพฉบับเดิมของประธานาธิบดีโอบามา (โอบามาแคร์) คำสั่งอนุมัติเดินหน้าโครงการวางท่อน้ำมัน 2 เส้นที่ถูกยับยั้งไว้ในสมัยรัฐบาลชุดก่อน เป็นต้น
คำสั่งที่เป็นปัญหามากเรื่องหนึ่งคือ ให้ดำเนินการสร้างกำแพงหรือรั้วชายแดนติดกับเม็กซิโกความยาวถึง 3,200 กิโลเมตร เพื่อป้องกันคนเม็กซิกันลอบเข้าประเทศ แต่คำสั่งนี้คงดำเนินการไม่ง่ายนัก เพราะต้องใช้งบประมาณในการสร้าง และต้องขออนุมัติจากรัฐสภาก่อน
ทรัมป์ยืนยันว่าเม็กซิโกต้องเป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้าง แต่ประธานาธิบดีเอ็นริเก เปญา นิเอโต แห่งเม็กซิโก ก็ยืนยันว่าจะไม่จ่ายเงินนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่สหรัฐก็ตอบโต้ว่า ถ้าเม็กซิโกไม่จ่ายก็จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก 20% เพื่อนำเงินมาก่อสร้าง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเย็นชาอย่างมาก จนในที่สุดทรัมป์ต้องเป็นฝ่ายถอย โดยแถลงการณ์ว่าจะไม่มีการออกข่าวเรื่องค่าใช้จ่ายในการสร้างกำแพงต่อสาธารณะอีก
นี่เป็นการเริ่มต้นหรือโหมโรงของสหรัฐในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
You must be logged in to post a comment Login