วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เสรีภาพบนความ(ไม่)รับผิดชอบ / โดย ลอย ลมบน

On February 7, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

การเคลื่อนไหวต่อต้านคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ขององค์กรสื่อกว่า 30 แห่ง ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ

น่าสนใจเพราะข้อคัดค้านระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่กลับเน้นควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระ

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ต้องยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเทศด้านการสื่อสารมวลชน โดยกลับไปทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมาย

หาก สปท. เดินหน้ารับรองร่าง พ.ร.บ. นี้โดยไม่ฟังเสียงทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศจะยกระดับมาตรการคัดค้านจนถึงที่สุด

ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้พัฒนาระบบการกำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อยกระดับความรับผิดชอบของสื่อมวลชนและตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

นั่นเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวคัดค้าน

ประเด็นที่ดูว่าคนในวิชาชีพสื่อจะเป็นกังวลมากที่สุดคือการกำหนดให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกลไกที่มีอำนาจทางกฎหมายที่สามารถลงโทษทางปกครองสื่อได้ พร้อมกันนี้ยังมีอำนาจในการออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อ

โดยโครงสร้างของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติจะมีกรรมการรวมทั้งหมด 13 คน 4 ใน 13 คน เป็นปลัดกระทรวง ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

กรณีนี้ถูกมองว่าจะทำให้การทำหน้าที่ตรวจสอบของสื่ออ่อนแอลง เพราะปลัดกระทรวงซึ่งสื่อต้องตรวจสอบการทำงานมานั่งคุมการทำงานของสื่อ มีอำนาจให้คุณให้โทษได้ตามกฎหมาย

อีกประเด็นที่กังวลกันอย่างมากคือ หากกฎหมายออกมาบังคับใช้ คนทำอาชีพสื่อต้องมีใบประกอบวิชาชีพที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าคุณสมบัติของผู้ยื่นขอใบประกอบวิชาชีพนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

นั่นคือเหตุผลและปฏิกิริยาของผู้ทำงานวิชาชีพสื่อสารมวลชน

ทีนี้มาดูเหตุผลของฝ่ายที่จะออกกฎหมายมาควบคุมการทำงานของสื่อบ้าง

ฝ่ายที่ร่างกฎหมายนี้พูดชัดเจนว่า ที่ต้องออกกฎหมายมาควบคุมการทำงานของสื่อก็เพราะที่ผ่านมาสื่อไม่สามารถควบคุมกันเองได้อย่างที่พูดไว้

สิ่งที่ทำให้เห็นว่าสื่อไม่สามารถควบคุมกันเองได้มีตัวอย่างให้เห็นหลายกรณี เช่น มีผู้สื่อข่าวไปเรียกรับผลประโยชน์จากแหล่งข่าวทั้งๆที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้องและคนในวงการรู้กันทั่ว แต่ผู้สื่อข่าวคนนั้นก็ยังสามารถทำงานได้ตามปรกติ ไม่เคยมีบทลงโทษอะไร

หรืออย่างกรณีสื่อบางแห่งนำเสนอภาพข่าวเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ทำได้แค่ตักเตือน หากสื่อนั้นไม่ให้ความร่วมมือองค์กรวิชาชีพสื่อก็ไม่สามารถลงโทษอะไรได้

หนักที่สุดคือถ้าคนในองค์กรวิชาชีพสื่อมีความเห็นแตกต่างกัน หากใช้กลไกองค์กรวิชาชีพเข้าไปตรวจสอบมากๆ สื่อที่ถูกตรวจสอบก็ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพนั้นและนำเสนอเนื้อหาในแนวทางของตัวเองต่อไปโดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้

เมื่อสื่อไม่สามารถควบคุมกันเองได้อย่างที่ควรจะเป็นจึงต้องสร้างกลไกที่มีผลทางกฎหมายขึ้นมาควบคุม

ประเด็นที่กังวลกันว่าหากมีกฎหมายออกมาควบคุมจะทำให้สื่อไม่เป็นอิสระในการทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของสื่อด้อยประสิทธิภาพลงนั้น ยืนยันว่าสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อแทรกแซงการทำงานของสื่อ และที่กังวลกันว่าปลัดกระทรวงที่เข้าไปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 4 คน จะเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบของสื่อนั้น เป็นเรื่องที่กังวลกันเกินกว่าเหตุ เพราะกรรมการทั้งหมดมี 13 คน ดังนั้น 4 เสียงคงไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือกว่า 9 คนที่เหลือได้

ที่สำคัญเสียงข้างมาก 9 คนนั้น มาจากตัวแทนสื่อมวลชนและตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อทั้งหมด

ส่วนเรื่องใบประกอบวิชาชีพไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวล เพราะจะยึดหลักออกง่ายยึดคืนง่ายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนทำสื่อ

ยกตัวอย่างเช่น ในอนาคตหากมีสื่อคนใดถูกร้องเรียนว่าใช้อำนาจหน้าที่ไปเรียกรับผลประโยชน์ เมื่อตรวจสอบแล้วพบข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหาก็ต้องถูกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะทำให้ไม่สามารถประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนได้อีก ซึ่งเรื่องแบบนี้ในอดีตไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จึงเหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน สุดแท้แต่ใครจะเลือกมอง

หลังมีข่าวการออกกฎหมายควบคุมสื่อเราจะได้เห็นคำว่า “เสรีภาพบนความรับผิดชอบ” ออกมาจากสื่อมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่าเป็นเพียงคำพูดที่สวยหรูแต่ใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ

เราต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่าที่บ้านเมืองขัดแย้งกันมานานกว่าทศวรรษส่วนหนึ่งมาจากการนำเสนอข้อมูลของสื่อที่มีเป้าหมายในการนำเสนอมากกว่าข้อเท็จจริง โดยที่องค์กรวิชาชีพสื่อไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ทำได้เพียงออกแถลงการณ์คัดค้านตักเตือน ส่วนความรับผิดชอบให้ว่ากันไปตามกฎหมาย

เมื่อองค์กรสื่อไม่สามารถควบคุมกันเองได้จึงเป็นช่องให้รัฐออกกฎหมายมาควบคุม

เรื่องแบบนี้คงโทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเอง เพราะถ้าถามผู้บริโภคก็คงสนับสนุนการออกกฎหมายคุมสื่อ และดูท่าว่าคำคัดค้านที่แม้จะขู่ว่าหากไม่ยกเลิกจะยกระดับการต่อต้านถึงขั้นสูงสุด ซึ่งยังไม่รู้ว่าคืออะไรนั้น จะไม่มีผลต่อการเดินหน้าออกกฎหมายของ สปท.

เมื่อใช้เสรีภาพบนความไม่รับผิดชอบก็ต้องโดนควบคุม มาร้องขอโอกาสตอนนี้คงสายเกินไปเสียแล้ว


You must be logged in to post a comment Login