วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

สังฆราชองค์ใหม่

On February 8, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ประเทศไทยมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่แล้ว หลังยืดเยื้อและขัดแย้งกันมาพักใหญ่ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่าได้ทูลเกล้าฯรายชื่อที่เหมาะสมไป 5 รูป พร้อมร้องขอว่าอย่ามีความขัดแย้ง เพราะการแต่งตั้งครั้งนี้ดูเรื่องงาน ความเหมาะสม เรื่องต่างๆ และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ที่พระองค์ท่านทรงพิจารณาเอง

สำหรับประวัติคร่าวๆของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) มีนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” เป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองงานพระธรรมทูต เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ปัจจุบันอายุ 89 ปี 68 พรรษา

ว่ากันว่าท่านมาในฐานะคนกลางที่ไม่ได้รับการสนับสนุนหรือคัดค้านจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวกันก่อนหน้านี้

เมื่อมาในฐานะคนกลางและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้วปัญหาที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้น่าจะยุติหรือเบาบางลง ซึ่งสัญญาณตอบรับจากฝ่ายต่างๆที่เคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ก็เป็นไปในทิศทางที่ดี

เท่ากับแก้ปมความขัดแย้งในบ้านเมืองไปได้เปราะหนึ่ง

ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองที่ถือว่าเป็นปมใหญ่เป็นปัญหาต้องแก้กันต่อไป มีหลายคนชี้ให้รอดูรายละเอียดการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลขอพระราชทานคืนกลับมาแก้ไข ซึ่งมีข่าวว่าแก้ไขกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้งหนึ่ง

ตามข่าวที่ออกไม่ปรากฏรายละเอียดในการปรับแก้ว่าคณะกรรมการแก้ไขที่พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งขึ้นมานั้นได้ทำการปรับแก้อะไร อย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ ตามข่าวก่อนหน้าที่จะขอพระราชทานคืนมาปรับแก้ถูกระบุว่าจะเป็นการปรับแก้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจและเรื่องเกี่ยวเนื่องเท่านั้น ไม่แตะต้องเรื่องอื่น

อย่างไรก็ตาม มีข่าวหลุดออกมาว่าเรื่องเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจประการหนึ่งที่ถูกปรับแก้คือการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนจะปรับเปลี่ยนจริงหรือไม่ หรือปรับเปลี่ยนอย่างไร คงต้องรอดูรายละเอียดที่จะเปิดเผยออกมาในภายหลัง

เข้าใจว่าน่าจะรู้พร้อมกันหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญกลับมาแล้ว

ทั้งนี้ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าหากมีการปรับแก้การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพอสมควร และจะมีผลดีต่อการทำให้เกิดความสามัคคีปรองดองในชาติบ้านเมืองในอนาคตข้างหน้าด้วย


You must be logged in to post a comment Login