วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รัฐบาลถังแตก? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On February 9, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เข้าสู่เดือนแห่งความรักอีกครั้ง ต้องยอมรับว่าวันเวลาช่างผ่านไปเร็วจริงๆ หลายท่านคงจำกันได้ดีว่าเดือนกุมภาพันธ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีการจัดเลือกตั้งทั่วไป แต่ผลสุดท้ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เพราะมีกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้งเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็มีการเดินขบวนสร้างความวุ่นวายให้กับประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเงื่อนไขให้ทหารออกมาปฏิวัติด้วยความร่วมมือจากกลุ่มคนดีทุกฝ่าย จนในที่สุดทหารก็ออกมาปฏิวัติยึดอำนาจจากประชาชนได้สำเร็จและเข้ามาปกครองบริหารประเทศจนถึงทุกวันนี้

3 ปีภายใต้การบริหารประเทศของทหาร พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่คงเห็นพ้องต้องกันว่าชีวิตของแต่ละครอบครัวดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร เรื่องนี้คงไม่ต้องเสียเวลาวิพากษ์วิจารณ์กันอีก เพราะทุกท่านย่อมรู้ดีแก่ใจอยู่แล้ว แต่เรื่องที่มีแนวโน้มเกี่ยวกับความเป็นความตายของประเทศอย่างเรื่องเศรษฐกิจหากไม่นำมาบ่นให้ฟังก็คงผิดวัตถุประสงค์คอลัมน์ วันนี้จึงขอบ่นดังๆเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ให้ฟังกันอีกครั้ง

ก่อนอื่นต้องเรียนว่าผมเคยพูดเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง และเคยฟันธงว่าประเทศไทยมีสิทธิเจ๊งเอาได้ง่ายๆ เพราะการบริหารราชการแผ่นดินแบบรัฐราชการบวกกับมีรัฐบาลจากการปฏิวัติย่อมเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในโลกปัจจุบัน เพราะมิตรประเทศทั้งหลายย่อมตั้งการ์ดสูงกับรัฐบาลเผด็จการ ซึ่งรัฐบาลทหารทุกชุดก่อนหน้านี้ต่างรู้ดีและรีบคืนอำนาจให้กับประชาชนทันทีที่กระทำได้

แตกต่างจากรัฐบาลทหารชุดนี้ที่เลือกถืออำนาจไว้อย่างยาวนาน เวลาล่วงเลยมาเกือบ 3 ปี ก็ยังไม่มีทีท่าและความชัดเจนว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนเมื่อไร ผมยอมรับว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมาแม้บ้านเมืองจะดูเหมือนสงบเรียบร้อย ปราศจากความวุ่นวาย ไม่มีการเดินขบวน ไม่มีม็อบออกมาปิดถนน ปิดสนามบิน ปิดสถานที่ราชการ แต่ก็น่าแปลกที่สถานการณ์ด้านต่างๆในประเทศกลับไม่ดีขึ้น และบางเรื่องกลับเลวร้ายลงด้วยซ้ำ

เรื่องอาชญากรรม ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ไม่ต้องพูดถึง ตอนเช้าฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ รับรองว่ารับชมรับฟังกันไม่หวาดไม่ไหว หลายคดีล้วนเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ไม่น่าเชื่อว่ายุคค่านิยม 12 ประการของ คสช. กลับไม่สามารถช่วยยกระดับความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้เลย ซ้ำร้ายดูเหมือนว่าจริยธรรม คุณธรรมของคนไทย พ.ศ. นี้จะถอยหลังลงเหวตามกันไปเสียด้วยซ้ำ

เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย แล้วอะไรเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดความเลวร้ายต่างๆเหล่านี้ เรื่องนี้วิเคราะห์ไม่ยาก เพราะเหลือปัจจัยหลักเพียงเรื่องเดียวคือ “การถดถอยของเศรษฐกิจ” เป็นที่ทราบกันดีว่าภายหลังการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. เรื่องที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าล้มเหลวมาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้คือการขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เดินไปข้างหน้า

ล่าสุดนี้มีการเปิดเผยถึงตัวเลข “เงินคงคลัง” ที่เหลืออยู่เพียง 70,000 กว่าล้านบาท จากเดิมที่สูงกว่าครึ่งล้านล้านบาท พี่น้องประชาชนคนไทยก็เริ่มตื่นตัวและสนใจเศรษฐกิจมหภาคกันมากขึ้น วันนี้ทุกคนเริ่ม “รู้ทัน” ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจครัวเรือนของพวกเขา ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าแต่ละครอบครัวต่างก้มหน้าก้มตาแก้ไขปัญหาของตัวเอง แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง และอาจไม่ทราบว่าปัญหาที่แท้จริงล้วนมาจากการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาลนั่นเอง

ที่จริงแล้วเงินคงคลังที่ลดลงอย่างฮวบฮาบนั้นยังไม่ใช่ตัวเลขที่แสดงความมั่งคั่งหรือยากจนที่แท้จริงของประเทศ เพราะเงินคงคลังเป็นเงินบาทล้วนๆที่มาจากการจัดเก็บรายได้ การจ่ายงบประมาณ และการกู้มาชดเชยงบประมาณขาดดุลเท่าที่ได้รับอนุมัติจากสภาเท่านั้น แต่ที่ร่อยหรอมาถึงตรงนี้ชี้ได้ชัดเจนว่ารัฐบาลเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้า แต่ใช้จ่ายงบประมาณอย่างเต็มที่ กู้ได้แค่ที่สภาอนุมัติ เงินคงคลังที่เคยมีอยู่อย่างพอเพียงและสร้างความอุ่นใจได้บ้างก็หดหายไป เรื่องนี้ส่งผลทางจิตวิทยาให้กับนักลงทุน หากนักลงทุนไม่กล้าลงทุน เศรษฐกิจก็ไม่เติบโต รายได้ที่จัดเก็บก็ไม่เข้าเป้า เป็นลูกโซ่ตามกันแน่นอน

นับจากนี้ไปถ้ารายได้หลุดเป้าเพียงนิดเดียว อีกไม่นานประเทศไทยอาจไม่มีเงินคงคลังพอจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรหรือใช้จ่ายที่จำเป็นล่ะ เรื่อง “รัฐบาลถังแตก” ก็จะกลายเป็นเรื่องจริงๆในอีกไม่ช้า

ผมอ่านบทความของอาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ แล้วอดไม่ได้ที่จะนำมาถ่ายทอดต่อ เพราะอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย จึงขออนุญาตนำมาเล่าต่อดังนี้

ท่านอธิบายว่า “เงินคงคลัง” คือบัญชีเงินฝากของกระทรวงการคลัง เปรียบเสมือน “เงินสดในลิ้นชัก” ร้านโชห่วยถือเป็นเงินสำรองจากกระแสเงินเข้าออกรายวัน “เงินเข้าคือรายรับบวกเงินกู้” “เงินออกคือรายจ่ายบวกเงินใช้หนี้” เมื่อรัฐบาล คสช. เลือกจะบริหารงบประมาณแบบขาดดุลในปี 2558-2559 สูงถึงปีละกว่า 300,000 ล้านบาท จึงทำให้ขาดดุลเงินสดปีละกว่า 300,000 ล้านบาทเช่นกัน

ถ้าไม่ให้เงินคงคลังลดลงก็ต้องเก็บภาษีเพิ่มหรือกู้เพิ่ม ซึ่งรัฐบาล คสช. เลือกทั้ง 2 อย่าง โดยงบประมาณปี 2558-2559 รัฐบาลทหารกู้เป็นยอดเงินสูงถึง 670,000 ล้านบาท จึงทำให้เงินคงคลังสิ้นกันยายน 2559 สูงถึง 440,000 ล้านบาท แต่แค่ 3 เดือน ณ สิ้นธันวาคม 2559 เงินคงคลังลดฮวบฮาบเหลือแค่ 75,000 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบหลายปี เกิดอะไรขึ้น?

ตรงนี้แหละที่อยากให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจตัวเลขที่อาจารย์พิชิตชี้แจงไว้อย่างชัดเจนว่า 3 เดือนหลังคือตุลาคม-ธันวาคม 2559 รายได้ของรัฐหายไป 5.2% แต่รายจ่ายเพิ่ม 6% (เฉพาะธันวาคม 2559 เดือนเดียว รายได้รัฐหายไป 22.7%) แต่รัฐบาลกู้สุทธิเพิ่มได้แค่ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น ผลคือ 3 เดือนรัฐบาลขาดดุลเงินสดสูงถึง 370,000 ล้านบาท เงินคงคลังจึงเหลือแค่ 75,000 ล้านบาท

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเกิดจากกระทรวงการคลังบริหารเงินสดเข้าออกผิดพลาด (รายรับลดฮวบเกินคาดและไม่ได้เตรียมกู้สำรอง) หรือเป็นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอ้างว่ามีนโยบายเก็บเงินสดน้อยๆ ไม่กู้เงินมากองไว้ จะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และการขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้อ่านก็คิดเองแล้วกัน

แต่ที่แน่ๆรัฐบาลมีรายรับเพียงเดือนละ 150,000-300,000 ล้านบาท ส่วนรายจ่ายสูงถึงเดือนละ 200,000-400,000 ล้านบาท เฉพาะเงินเดือนค่าจ้างพนักงานและข้าราชการก็เดือนละ 50,000 ล้านบาทแล้ว เงินสดในลิ้นชักมีแค่ 75,000 ล้านบาท มันฉิวเฉียดมากไปหรือเปล่าครับท่าน?

หรือเพราะท่านมียาครอบจักรวาลชื่อ “ม.44” (ผมฟังเรื่องนี้มาจากอดีต รมต.คลังท่านหนึ่ง) เพราะมีแต่รัฐบาลท่านผู้นำสูงสุดเท่านั้นที่สามารถใช้อำนาจ ม.44 กู้เงินมาโปะเงินคงคลังที่จัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้าอย่างรุนแรงและเรื้อรังได้ แต่รัฐบาลเลือกตั้งทั่วไปหมดสิทธิ กฎหมายไม่เปิดทางให้ทำอย่างเด็ดขาด เพราะการกู้เงินตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้ต้องมีวัตถุประสงค์ ยิ่งเป็นมาตรา 21 เพื่อชดเชยงบประมาณขาดดุล ต้องร้องขอให้สภาอนุมัติเท่านั้น

“แต่ไม่ว่าท่านจะเลือกวิธีบริหารกันอย่างไรก็ตาม ถ้าท่านไม่รู้จักวิธีหาเงิน หนี้สินที่ท่านสร้างไว้ย่อมพอกพูนขึ้นมาเป็นภาระให้กับอนุชนรุ่นหลังต่อไปอย่างแน่นอน” เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


You must be logged in to post a comment Login