- อย่าไปอินPosted 18 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ส่องปรองดอง?
คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น
คืบมาอีกก้าวสำหรับงานสร้างความปรองดองภายใต้การนำทัพของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
องคาพยพสร้างความปรองดองครั้งนี้ มีตัวช่วยเป็นมือทำงานให้ 4 คณะประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อความปรองดอง มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการพิจารณาบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานอนุกรรมการ 3.อนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
การสร้างความปรองดองครั้งนี้จะเริ่มออกสตาร์ตด้วยการเชิญพรรคการเมืองมาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยถือฤกษ์วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์เป็นวันประเดิมพูดคุย
นอกจาการรับฟังความเห็นส่วนกลางจากพรรคการเมือง นักธุรกิจแล้ว ในส่วนภูมิภาคก็จะมีเวทีรับฟังความเห็นทั่วประเทศทำคู่ขนานกันไปด้วย
การรับฟังความเห็นครั้งนี้ไม่ได้เปิดโอเพ่น ใครจะพูดหรือนำเสนออะไรเพื่อสร้างความปรองดองก็ได้ แต่มีการกำหนดหัวข้อให้แสดงความเห็นกัน 10 ประเด็น ต้องพูดหรือนำเสนอแนวทางสร้างความปรองดองใน 10 ประเด็นที่กำหนดให้เท่านั้น ห้ามนอกเรื่อง ที่สำคัญคือทุกข้อเสนอต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ
รูปแบบการฟังความคิดเห็นโดยเฉพาะจากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ จะใช้รูปแบบโต๊ะกลม ตัวแทนพรรคตัวแทนกลุ่มการเมือง 10 คนมาแสดงความเห็นและมีคณะกรรมการนั่งฟังความเห็น 10 คน
เมื่อฟังเสร็จแล้ว คณะกรรมการมีหน้าที่นำข้อเสนอทั้งหมดไปให้คณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อจับประเด็น เมื่อรวมประเด็นข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆได้แล้ว ก็ส่งต่อไปให้คณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อบูรณาการประเด็นต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอสร้างความปรองดอง
ส่วน 10 หัวข้อที่กำหนดให้พูดคุยประกอบด้วย 1.การแก้ปัญหาขัดแย้งทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น 2.การแก้ความเหลื่อมล้ำในสังคม 3.ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมได้รับการยอมรับ 4.มีแนวทางเสริมสร้างความปรองดอง ต่อประเด็นความแตกต่างทางสังคม ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข อย่างไร 5.แนวทางในการไม่ให้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งได้อย่างไร
6.มีแนวทางที่จะทำให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างความขัดแย้งในสังคมได้อย่างไร 7.มีแนวคิดแก้ปัญหาการนำประเด็นภายในไปเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศอย่างไร 8.มีแนวคิดแก้ทุจริตอย่างไรเพื่อไม่ให้นำมาเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้ง 9.มีข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปอย่างไร เพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดอง 10.มีข้อเสนอแนะให้เกิดการยอมรับและร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน หรือไปสู่เป้าหมายร่วมกันอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อพิเศษแถมให้เสนอความเห็นอีก 1 หัวข้อ คือมองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
ความจริงทุกหัวข้อไม่มีอะไรใหม่ ที่ผ่านมามีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหามากมายจากหลายฝ่ายมาก่อนหน้านี้แล้ว
เชื่อว่าหลังฟังความเห็นก็จะได้ข้อเสนอเดิมๆที่พูดกันมาอย่างต่อเนื่อง การสร้างความปรองดองรอบใหม่จึงมีแนวโน้มเสียเวลาเปล่า หากไม่คิดจะนำข้อเสนอไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงเพื่อพิสูจน์ว่ารัฐบาลมีความจริงใจอย่างที่ประกาศออกมา
ถ้าต้องเสียเวลาเปล่าก็เท่ากับซื้อเวลา ส่วนจะเพื่ออะไรทุกคนก็คงรู้คำตอบดีอยู่แล้ว
You must be logged in to post a comment Login