วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เรียกร้องยุติชิงเลี้ยงดูบุตร / โดย ภูริวรรณ วรานุสาสน์

On February 13, 2017

คอลัมน์ : China Today
ผู้เขียน : ภูริวรรณ วรานุสาสน์

ไต้ เสี่ยวเล่ย พบลูกชายของเธอครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2014 ขณะที่เด็กชายอายุได้เพียง 17 เดือน

ชีวิตการแต่งงานของเธอสิ้นสุดลง ซึ่งต่อมาเธอได้อ้างว่า สามีและครอบครัวของสามีพยายามกีดกันทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เธอพาลูกชายกลับไปยังปักกิ่ง เธอเล่าว่า ครั้งสุดท้ายที่เธอเห็นลูกชายของเธอนั้นคือท้ายซอย ทุกคนทำเหมือนกันให้เขาอยู่ในป้อมปราการ

หลิว เจี๋ย อดีตสามีของเธอตัดสินใจฟ้องหย่า ด้วยสาเหตุ “ความแตกต่างด้านลักษณะนิสัย แนวคิดและกิจวัตรประจำวัน” ไต้ ตัดสินใจต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร แต่สุดท้ายในเดือนเมษายน ผู้พิพากษาตัดสินให้เด็กชายอยู่กับบิดา เพื่อประโยชน์ทางด้านกายภาพและสุขภาพจิตของเด็ก

เมื่ออัตราการหย่าร้างของชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการกังวลเกี่ยวกับการที่พ่อแม่พยายามหาผู้เชี่ยวชาญหรือลูกเล่นเทคนิคต่างๆที่จะมาเอาชนะกันในการแข่งขันแย่งชิงสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร

นักกฎหมายกล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วผู้พิพากษาหรือศาลมักจะตัดสินให้พ่อหรือแม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุด เพื่อประโยชน์แก่เด็กเป็นที่ตั้ง เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็อาจทำให้ไปขัดขวางการใช้ชีวิตของเด็ก

สาเหตุหนึ่งที่ไต้แพ้ในการเรียกร้องสิทธิดูแลบุตรก็คือ ศาลเห็นว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กนั้นมั่นคงดีอยู่แล้ว การที่เด็กจะต้องย้ายไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ๆก็อาจจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเด็ก

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีกฎหมายตัวใดที่จะให้พ่อหรือแม่ผู้ใดผู้หนึ่งเลี้ยงลูก ขณะที่กีดกันอีกฝ่ายไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น เมื่อเกิดการกีดกันส่วนใหญ่จะเป็นที่ปัญหาส่วนตัวของแต่ละครอบครัวมากกว่า

เหยียน จวิน ผู้พิพากษาเมืองปักกิ่งได้ประมาณว่า พ่อหรือแม่ที่พยายามฉกฉวยลูกมาเป็นของตัวเองนั้น 60 เปอร์เซ็นต์มาจากคดีที่ทั้งพ่อและแม่ต่างเรียกร้องสิทธิในการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งตามปรกติศาลจะให้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรฝ่ายเดียวไปจนเด็กอายุได้ 10 ปี

ทนายความด้านกฎหมายครอบครัวจากสำนักกฎหมายแห่งหนึ่งในปักกิ่งกล่าวว่า การฉกเด็กจะเริ่มต้นก่อนการหย่าจึงก่อให้เกิดช่องที่พ่อหรือแม่ผู้ที่ฉกเด็กไปนั้นอ้างแก่ศาลได้ว่า เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมั่นคงดีอยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ หลี่ อิ๋ง ทนายความและผู้สนับสนุนสิทธิของบิดามารดากล่าวว่า การแย่งชิงลูกนั้นควรจะดำเนินการฟ้องร้องหลังจากที่กฎหมายความรุนแรงตัวใหม่จะประกาศใช้ในเดือนมีนาคม

ภายใต้กฎหมายจีนนั้น การทุบตี การด่าทอกล่าวร้ายหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ล้วนถูกจัดให้เป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัวบางคนกล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายตัวใหม่นี้ออก จะเป็นการช่วยป้องกันเด็กจากการถูกทำร้ายทางจิตใจ เนื่องมาจากการเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันหรือทำร้ายร่างกายกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลจะตัดสินเพื่อประโยชน์ของเด็กเป็นที่ตั้ง แต่หลายครั้งที่แม่หลายคนพยายามแสดงให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ บางคนถึงขั้นต้องลงมือต่อสู้เอง

เช่น แม่ของเด็กคนหนึ่งได้จ้างนักสืบเอกชนเพื่อหาหลักฐานแสดงให้ศาลเห็นว่า ลูกชายของเธอถูกตั้งชื่อปลอมและส่งไปอยู่กับป้าของอดีตสามีของเธอทางเหนือของจีน ศาลตัดสินให้เธอชนะและได้สิทธิเลี้ยงดูบุตร แต่เมื่อเธอร้องทุกข์ต่อศาลในอีกหลายเดือนต่อมาว่า อดีตสามีไม่ยอมปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ศาลกลับตอบว่า

“อย่ารอคอยแต่ศาลอย่างเดียว คุณพยายามเต็มที่แล้วหรือยัง? หรือคุณรอแค่ศาลเพียงอย่างเดียวที่จะเอาลูกคืนมา?”


You must be logged in to post a comment Login