วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รถยนต์ไฟฟ้าที่แคนาดา / โดย ณ สันมหาพล

On February 13, 2017

คอลัมน์ : โลกไม่หยุดนิ่ง
ผู้เขียน : ณ สันมหาพล

กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศจะผลักดันไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก โดยจะใช้พื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังกับสนามบินอู่ตะเภา หากทำสำเร็จจะทำให้ไทยมั่งคั่งมากกว่าปัจจุบันแน่ เพื่อให้เห็นความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าต่อโลกในอนาคตจึงจะพาไปดูงานแสดงรถยนต์นานาชาติ ครั้งที่ 48 ที่มหานครมอนทรีล ประเทศแคนาดา เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

งานนี้ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ว่าเป็นงานแสดงรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบครั้งแรกของโลก เพราะนอกจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแล้ว ยังมีการแสดงรถยนต์ไฟฟ้าครบเกือบทุกยี่ห้อที่ผลิต รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าทางเลือกที่เป็นรถไฮบริดทั้งแบบธรรมดาที่ชาร์จไฟในตัวและแบบปลั๊กอินที่ชาร์จไฟจากสถานีหรือจากเครื่องชาร์จในบ้าน

ไฮไลท์ของงานเป็นการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ที่เด่นที่สุดคือ Chevrolet Bolt ของค่ายจีเอ็ม แม้เป็นรถครอบครัวราคาไม่แพง แต่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 383 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ไกลที่สุดในบรรดารถยนต์ไฟฟ้าขณะนี้ เปรียบเทียบกับ Nissan Leaf EV รุ่นใหม่วิ่งได้ 173 กิโลเมตร กับรถ e-Golf รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ 2 ของค่ายโฟล์คสวาเกนวิ่งได้ 200 กิโลเมตร

ระยะการเดินทางถือเป็นประเด็นสำคัญในการผลักดันให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะผู้ใช้รถจำนวนมากยังอิดเอื้อนที่จะซื้อ เนื่องจากกลัวเรื่องการชาร์จไฟบ่อยและการชาร์จไฟที่ช้า อย่าง e-Golf ต้องใช้เวลาชาร์จไฟถึง 5 ชั่วโมงหากชาร์จที่บ้าน และใช้เวลา 30-40 นาทีหากชาร์จที่สถานี อีกทั้งยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง แม้หลายรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนในการซื้อก็ตาม

นอกจากรถยนต์ไฟฟ้ากับรถไฮบริดแล้ว ยังมีรถไฮบริดแบบปลั๊กอิน ได้แก่ Clarity ของฮอนด้า กับ Ioniq ของฮุนได ส่วนการเปิดตัวอุปกรณ์รถยนต์ไฟฟ้าก็มีอุปกรณ์ที่เด่นเช่นกันคือ Flo เครื่องชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านของค่ายนิสสัน ซึ่งจำหน่ายในราคาเพียง 995 เหรียญแคนาดา แต่ถ้าซื้อ Leaf จะลดเหลือ 500 เหรียญแคนาดา

ค่ายรถยนต์ทั่วโลกนำรถยนต์ไฟฟ้าไปแสดง เนื่องจากแคนาดาประกาศจะเป็นประเทศที่มีคาร์บอนต่ำที่สุดในโลก โดยจะลดจำนวนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันลง แคนาดาจึงมีตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลรัฐต่างๆใช้โอกาสนี้ออกกฎและมาตรการต่างๆมารองรับ โดยเฉพาะรัฐควิเบกที่เป็นที่ตั้งมหานครมอนทรีล เมื่อปี 2012 ประกาศแผนส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้ารัฐใกล้เคียงและรัฐทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาเป็นพื้นที่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์จำนวนมาก โดยคาดว่าในอีก 14 ปี จะมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 25-40 ของทั้งหมด

รัฐควิเบกออกมาตรการคืนเงินให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า อย่างรถโฟล์คกอล์ฟกับ Tesla Model S ที่ได้เงินคืน 8,000 เหรียญแคนาดา ถ้าเป็นรถยนต์ไฮบริดอย่าง Prius ของโตโยต้าจะได้เงินคืน 500 เหรียญแคนาดา ขณะที่รถไฮบริดปลั๊กอินอย่าง Sportback e-tron ของออดี้ จะได้เงินคืน 4,000 เหรียญแคนาดา

นอกจากนี้ยังมีการคืนเงิน 350 เหรียญแคนาดาให้กับผู้ซื้อเครื่องชาร์จไฟติดตั้งประจำสถานี 250 เหรียญแคนาดา ทั้งยังคืนเงิน 1,000 เหรียญแคนาดาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าบรรทุกของ และ 2,000 เหรียญแคนาดาแก่ผู้ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

การรณรงค์ให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าคงไม่สำเร็จหากไม่มีการรณรงค์ให้มีการสร้างสถานีชาร์จไฟ ซึ่งหน่วยงานผลิตไฟฟ้าของรัฐควิเบกได้ระดมสร้างสถานีกว่า 1,000 แห่ง โดยให้มีระยะทางเชื่อมโยงในทุกพื้นที่ ซึ่งสถานีเต็มรูปแบบที่อยู่ริมถนนจะมีเครื่องชาร์จขนาด 400 โวลต์ที่ชาร์จได้เร็ว ส่วนที่อยู่ตามอาคารจอดรถยนต์จะใช้ขนาด 200 โวลต์

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐควิเบกจะรณรงค์อย่างไรก็ยังถือว่ามีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่มากนัก ดังนั้น เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ฐบาลจึงผ่านกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการขายรถยนต์ในรัฐควิเบกต้องขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.5 ของทั้งหมด โดยจะเริ่มในปี 2017 และสิ้นสุดปี 2024 ซึ่งต้องขายรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 15.5 กฎหมายฉบับนี้ถูกผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ต่อต้านอย่างหนัก

การรณรงค์ให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องทำเป็นขั้นตอน โดยกำหนดมาตรฐานรถยนต์และยกระดับให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่สามารถเป็นประเทศที่มีคาร์บอนต่ำ และจะกระทบต่อภาพลักษณ์รวมถึงชื่อเสียงด้านอื่นๆ

นี่เป็นความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตของโลก จึงเป็นเรื่องที่ดีหากประเทศไทยจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง


You must be logged in to post a comment Login