วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ความจริงโลกหลังทันสมัย ความกลัวและอันตรายความไม่เข้าใจ! / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On February 13, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

ถ้าเราพูดถึงสังคมวิทยาและศาสตร์เกี่ยวกับการเมืองในปัจจุบันนับเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก กล่าวคือ อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องของความรู้ ความคิด และอำนาจ ล้วนเป็นสิ่งที่น่ากลัวทั้งสิ้น

น่ากลัวเพราะมีหลายเหตุที่สลับซับซ้อนกัน ปรากฏการณ์เหล่านี้เกินกว่าเล่ห์กล หรืออาจจะลึกซึ้งมากกว่าความเป็นวาทกรรมก็ได้ โลกยุคปัจจุบันนี้เรียกตามศัพท์ของสังคมศาสตร์ว่าเป็นโลกหลังยุคทันสมัย คือพ้นยุคที่เรียกว่าทันสมัยไปแล้ว

ความหมายของโลกหลังทันสมัยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมของสื่อ ซึ่งเจ้าแห่งทฤษฎีสื่อล่าสุดที่ถือว่าล้ำหน้ายิ่งกว่า Marshall McLuhan แค่ทฤษฎีสื่อของเขาก็เรียกว่าเข้าใจยากแล้ว เพราะเป็นโลกที่ถูกทำให้แคบลง ไม่เว้นแม้แต่มิติของภูมิศาสตร์และเวลา คนเราอยู่ในโลกแห่งความเสมือนจริงได้พร้อมกับโลกแห่งความจริง

แต่ในโลกหลังทันสมัย ทฤษฎีของ Jean Baudrillard กล่าวได้ว่าสั่นคลอนความจริงอย่างยิ่ง คือปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจน 2 อย่างคือ เหตุการณ์ต่างๆในโลกนี้ล้วนถูกสื่อจำลองทั้งสิ้น กล่าวคือเป็น Stimulation หรือปรากฏการณ์ต่างๆนั้นถูกจำลองขึ้นมา

ข้อนี้แตกต่างจากความหมายของมายา (Illusion) ที่ว่า “ทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นความจริงทั้งสิ้น” แม้กระทั่งสงครามอ่าวเปอร์เซียก็กล่าวได้ว่าไม่ได้เกิดสงครามจริง เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย แต่สงครามเกิดขึ้นเพราะกล้องถ่ายภาพและช่างภาพของสำนักข่าว CNN นี่คือโลกที่บอกว่าปรากฏการณ์ถูกสื่อจำลองมา

เรื่องราวของโลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยสภาวะที่ย้อนแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสภาวะนี้ถูกกำหนดขึ้นด้วยสื่อ เหตุการณ์ที่สลับซับซ้อนมากมายหลายอย่างและสืบเนื่องกันเป็นหลายสิบปีอาจถูกสรุปรวบให้เห็นเพียงชั่วพริบตาเดียวเท่านั้นเอง ตรงกันข้ามกับเรื่องของปฏิภาคหรือความย้อนแย้งนั้น ระยะเวลาเพียงพริบตาเดียวก็อาจทำให้เราสามารถเห็นอะไรยาวนานได้เช่นกัน

การที่สังคมมนุษย์ขยายตัวเองนั้นต้องเข้าใจว่าเป็นพื้นฐานที่เกิดจากเทคโนโลยีไฟฟ้าที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมา คอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนขยายของระบบเส้นประสาทการรับรู้จากสมองของมนุษย์ Marshall Mcluhan จึงชี้ให้เห็นว่า โลกทั้งใบได้กลายเป็น global village หรือหมู่บ้านโลกอันเดียวกัน สามารถรับผลจากสิ่งเดียวกัน สื่อเหล่านี้ในอีกด้านหนึ่งจะมีลักษณะความเป็นปัจเจกสูง พร้อมๆกับก่อให้เกิดผลต่อส่วนรวม จึงถูกเรียกว่าเป็นสื่อสังคม กลายเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดจากอำนาจของสื่อ

Baudrillard ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อสื่อสมัยใหม่ๆทางความคิดและทฤษฎีภายใต้เวลาที่เรียกว่าสังคมหลังยุคสมัยใหม่หรือ postmodern อันเป็นไปตามสำนักคิดของนักปราชญ์สายเสื้อกั๊กในประเทศไทยคือ สำนักคิดนี้จะอาศัยพื้นฐานของ neomarxist เป็นพื้นฐานในการวิพากษ์วิจารณ์และถอดรื้อทางความคิดต่างๆ ปฏิเสธแนวคิดมาตรฐานซึ่งเป็น process of sciencetif ic อันเป็นผลสืบเนื่องในความขัดกันของแนวคิดวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์

โดยเฉพาะสังคมศาสตร์เรื่องความรู้ ความคิด และอำนาจ ให้ความสำคัญกับบริบทหรือ context ที่หลากหลาย ไม่ได้ผูกขาดกับการตีความที่ยึดติดกับเหตุหนึ่งเหตุใด ดังนั้น พื้นฐานของสำนักคิดหลังสมัยใหม่จึงเป็นเรื่องที่เหนือกว่าความจริงคือ โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นความจริงเลย ทุกอย่างเป็นเพียงเรื่องเล่าเท่านั้นเอง ถ้าพิจารณาเช่นนี้แล้วอำนาจของสื่อจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก โดยเฉพาะเมื่ออำนาจความคิดและความรู้ล้วนถูกควบคุมเอาไว้โดยสถาบันที่ควบคุมการเมืองและเศรษฐกิจ แต่การมองตัวตนของสื่อด้วยความกลัวเช่นนี้จะส่งผลให้เกิดความน่ากลัวขึ้นจนบางทีต้องคิดหาวิธีควบคุม โดยข้อเท็จจริงแล้วไม่อาจควบคุม บังคับ หรือจัดการอะไรได้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจข้อเท็จจริงของสังคมและพัฒนาการของสื่อตามยุคสมัยมากกว่า

แม้โดยทฤษฎีสื่อสมัยใหม่ของ Baudrillard จะเป็นเช่นนั้นสำหรับการบริโภคสัญญะความหมาย แต่ก็ไม่ควรเป็นสิ่งที่รัฐต้องเข้าไปกำกับและควบคุมแบบจับใส่กุญแจมือแต่อย่างใด แต่ควรส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความเข้าใจต่อสภาวะความจริงของสื่อและสภาพความเป็นจริงของสังคมหลังทันสมัยมากกว่า นี่คือ civilization ใหม่ที่กำลัง challenge and respond ต่อผู้ปกครองในรัฐไทย

ความงุนงงและสับสนของโลกช่วงหลังยุคทันสมัยจึงเสมือนการเตรียมประสบการณ์ใหม่ ตรรรกะและปรากฏการณ์ใหม่ ถือเป็นอีกความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง civilization ของมนุษย์ที่เข้มข้นหนักหน่วงรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างจริงจัง มนุษย์จึงจะตั้งสติรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ จึงเป็นอีกวิกฤตในช่วงเวลาหลังทันสมัย สำหรับผู้ที่ตามไม่ทัน ทำความเข้าใจไม่ได้ ก็จะมีความหวั่นไหวและตกใจกลัวกับสภาวะหลังทันสมัยเหล่านี้และบทบาทใหม่ของสื่อซึ่งไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน

โดยข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงน่าเห็นใจรัฐบาลเหมือนกัน เพราะต้องต่อสู้อยู่กับสงครามภาพลักษณ์ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะพยายามควบคุมสื่อโดยจะตั้งสภาวิชาชีพ เพราะโลกปัจจุบันคนที่อยู่ในอำนาจกลัวสิ่งที่เรียกว่า Stimulation ในโลกหลังยุคทันสมัยนี้กลายเป็นโลกที่ไร้ความจริงไปแล้ว ทุกอย่างถูกรื้อและถอดถอนได้ อาจจะบอกว่าเป็นโลกที่เหนือความจริง แต่ถ้าแก้ปัญหาด้วยความกลัวกับสิ่งเหล่านี้ก็จะน่ากลัวมากยิ่งขึ้น

แนวทางที่ดีที่สุดน่าจะต้องแก้ไขด้วยความเข้าใจมากกว่า คือให้ประชาชนเข้าใจความเป็นจริงของสื่อในปัจจุบันนี้ว่าธรรมชาติของมันเป็นอย่างไร เป็นยุคที่ทำสงครามโดยการบริโภคสัญลักษณ์กันแล้ว ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้ก็คงไม่อยากควบคุมสื่อเท่าไร แต่ต้องให้ความรู้ ความเข้าใจ เพราะผู้ที่ควบคุมสื่อได้ดีที่สุดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง


You must be logged in to post a comment Login