- ปีดับคนดังPosted 27 mins ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 day ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 2 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 3 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 6 days ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 7 days ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 1 week ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 1 week ago
- หนีกรรมไม่พ้นPosted 2 weeks ago
เกมตลก‘กฎหมายควบคุมสื่อ”? / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เหตุการณ์ต้นเรื่องวันที่ 20 มกราคม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ออกแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายสื่อมวลชนฉบับใหม่ที่กำลังจะนำเสนอเข้าสู่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถือเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งแรกขององค์กรสื่อมวลชนนับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
กฎหมายสื่อมวลชนฉบับนี้มีชื่อเรียกสวยหรูว่า “ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” โดยทั่วไปในระบอบประชาธิปไตยมีหลักการว่า รัฐต้องไม่เข้าไปควบคุมสื่อมวลชน ต้องปล่อยให้สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมควบคุมด้านจริยธรรมกันเอง แต่ในรัฐเผด็จการต้องการจะเข้าควบคุมสื่อมวลชนโดยใช้มาตรการเซ็นเซอร์
ในประเทศไทยหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 คณะผู้ปกครองเผด็จการได้ออกกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนเรียกว่า “คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ 42” หรือเรียกว่า “ปร.42” ซึ่งถูกยกเลิกเมื่อ พ.ศ. 2533 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังจากนั้นก็ไม่มีกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ จนถึงสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เมื่อ พ.ศ. 2553 เตรียมยกร่างกฎหมายสื่อมวลชนฉบับหนึ่งเพื่อให้สื่อมวลชนควบคุมจริยธรรมกันเอง แต่ยังไม่มีการประกาศใช้ จนเมื่อเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้อาศัยข้ออ้างการปฏิรูปสื่อสารมวลชน นำร่างของกฎหมายสื่อมวลชนฉบับเดิมมาดัดแปลงให้สอดคล้องกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการ แต่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. จึงทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปด้วย
เมื่อมีการตั้ง สปท. ขึ้นแทน ได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชนนำร่างกฎหมายสื่อมวลชนขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งและดำเนินการจนเสร็จสิ้น พร้อมเสนอเข้าสู่ สปท. เพื่อการรับรองในเดือนกุมภาพันธ์นี้
สาระสำคัญของร่างกฎหมายสื่อมวลชนฉบับนี้ กำหนดให้สื่อมวลชนจัดตั้งเป็นองค์กรวิชาชีพ โดยต้องไปจดแจ้งกับ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่จัดตั้งขึ้น โดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนที่สมาชิกสภาวิชาชีพฯเลือกกันเอง 5 คน ปลัดกระทรวง 4 คนจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการคลัง แล้วไปเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน รวม 13 คน สภานี้มีอำนาจขึ้นทะเบียน ออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน รับคำร้องอุทธรณ์ในกรณีผู้เสียหายอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากองค์กรสื่อมวลชน และมีอำนาจสั่งปรับองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยในอัตราสูงสุดถึง 150,000 บาท
ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูก 30 องค์กรสื่อมวลชนคัดค้านทันที โดยแถลงการณ์ระบุว่า กฎหมายนี้มิได้อยู่บนพื้นฐานหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เน้นการควบคุมสื่อมวลชน โดยใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่โดยอิสระของสื่อมวลชน ไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองโดยอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากภาครัฐ กฎหมายฉบับนี้จึงจะมีผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐ และยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน องค์กรสื่อมวลชนจึงให้ สปท. ยกเลิกร่างกฎหมายฉบับนี้ และถ้ามีการเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้โดยไม่ฟังการทักท้วง องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั่วประเทศจะยกระดับมาตรการคัดค้านจนถึงที่สุด
ประเด็นสำคัญที่มีการต่อต้านคือ ตัวแทนจากปลัดกระทรวง 4 กระทรวง และการกำหนดให้องค์กรมีอำนาจในการออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตสื่อมวลชน เท่ากับรัฐจะมีอำนาจปิดสื่อมวลชนนั่นเอง นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะประธานคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ให้เหตุผลว่า หากบ้านเมืองกลับสู่ยุคปรกติ ปลัดกระทรวงที่ถูกเลือกมาจากฝ่ายการเมืองก็เท่ากับให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงสื่อมวลชน การตรวจสอบรัฐก็จะเป็นไปได้ยาก เพราะจะเป็นเรื่องประหลาดมากหากหน่วยงานรัฐถูกตรวจสอบ แต่กรรมการกลับมีตัวแทนรัฐไปตรวจสอบด้วย
ปรากฏว่าการเคลื่อนไหวขององค์กรสื่อมวลชนมีอิทธิพลมากพอตัว ทำให้วันที่ 6 กุมภาพันธ์ สปท. ได้ตีกลับร่างกฎหมายนี้ โดยให้คณะกรรมาธิการไปปรับปรุงเนื้อหาใหม่ 6 ประเด็นก่อนจะนำเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ คือการลดจำนวนกรรมการสภาวิชาชีพที่มาจากตัวแทนภาครัฐ, การพิจารณาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และประเด็นการเขียนเนื้อหาที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้กลายเป็นเกมตลกยุค คสช. เพราะความจริงแล้วตั้งแต่หลังการรัฐประหาร สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดโดยอำนาจเผด็จการตลอดเวลา ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกดำเนินคดีในข้อหาขัดคำสั่งคณะรัฐประหาร และข้อหาอื่นๆ เช่น มาตรา 112 หลายคนต้องถูกจำคุกด้วยความผิดอันไม่ชัดเจน จากนั้นศาลและกระบวนการยุติธรรมยังร่วมมือฝ่ายรัฐบาลในการลงโทษประชาชนที่ต่อต้านเผด็จการ สร้างยุคมืดแห่งการคุกคามประชาชนที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา
นอกจากนั้นสื่อมวลชนก็ถูกลิดรอนสิทธิภายใต้ระบบเผด็จการ ตั้งแต่การใช้กฎอัยการศึกควบคุมการเผยแพร่ข่าวสาร การออกคำสั่งของกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยห้ามนำเสนอข่าว แจกจ่าย จำหน่ายสิ่งพิมพ์ที่ส่งผลต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของ คสช. ห้ามเชิญบุคคลหรือสัมภาษณ์บุคคลที่มีความคิดเห็นต่างจาก คสช. ระงับการออกอากาศสถานีวิทยุชุมชน บังคับโทรทัศน์และสื่อมวลชนทุกช่องถ่ายทอดรายการของ คสช. หรือรายการพูดเพ้อเจ้อของผู้นำฝ่ายทหาร ฯลฯ
กรณีเหล่านี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลายแทบจะไม่เคยมีท่าทีหรือการเคลื่อนไหวที่จะคัดค้านต่อต้านอำนาจของคณะรัฐประหารเลย สื่อมวลชนกระแสหลักทั้งหลายพร้อมใจกันเซ็นเซอร์ตัวเอง ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม คสช. ด้วยดีตลอดมา ทำให้การคัดค้านกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนครั้งนี้จึงเป็นเพียงเกมตลกเกมเดียวที่ไม่ส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเลย
You must be logged in to post a comment Login