วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

#ปล่อยไผ่/ โดย ทีมข่าวการเมือง

On February 13, 2017

คอลัมน์ : เรื่องจากปก
ผู้เขียน : ทีมข่าวการเมือง

ช่วงเดือนมกราคมต่อเนื่องเดือนกุมภาพันธ์มีสถานการณ์บ้านเมืองหลายเรื่องหลายประเด็นที่ส่งผลกระทบโดยตรงถึงรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งทุกปัญหาพุ่งตรงมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เกิดอาการปรี๊ดแตกกับผู้สื่อข่าวอีกครั้ง (6 กุมภาพันธ์) ทั้งฉุนเฉียว ตำหนิติเตียน และตัดพ้อต่อว่า

อย่างเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ตัดพ้อว่า “…คุณไม่เชื่อมั่นผมหรือว่าผมทำเพื่ออะไร คุณไม่ไว้ใจผมเลยหรือ…ไร้ค่า…ผมน่ะไร้ค่า” เมื่อผู้สื่อข่าวถามกรณีโหรดังทักว่ากำลังดวงตก พล.อ.ประยุทธ์ก็สวนกลับทันทีว่า “ไอ้คำถามงี่เง่านี่อย่ามาถามผม” แล้วก็ชี้ไปที่ใครไม่รู้ “เอ็งตอบดิ๊”

เมื่อถามเรื่องเงินคงคลังที่ลดวูบว่ารัฐบาลถังแตกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ก็อารมณ์ขึ้นทันทีว่า “ใครเป็นคนเอามาพูดล่ะ พรรคการเมืองไหน นักการเมืองฝ่ายไหน โธ่”

พล.อ.ประยุทธ์ยังต่อว่าผู้สื่อข่าวว่า “…รัฐบาลนี้แก้ไขทุกวัน ถามให้มันนึกถึงสมองฉันบ้างสิ เธอไม่พัฒนาแล้วให้ฉันพัฒนาอยู่คนเดียว ถามฉันทุกวันว่าเลือกตั้งกรกฎาคมหรือ 6 เดือนหรือเปล่า เอาอยู่แค่นี้…โถ จะเลือกพรุ่งนี้ก็เลือกมา ไปเลือกมา ถ้าไอ้คนเฮงซวยเข้ามาอีกจะทำยังไง ไปจัดการเขาด้วย ถ้าใครไม่เฮงซวยก็อย่ามาเดือดร้อน”

มีแต่โรดไม่มีแม็พ

แม้วันต่อมา (7 กุมภาพันธ์) พล.อ.ประยุทธ์จะขอโทษที่ใช้อารมณ์หงุดหงิดว่าเพราะยุ่งและเหนื่อยกับการประชุม กอ.รมน. หลายเรื่อง พอออกมาก็มาเจอปัญหาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจงแล้ว 2-3 รอบ แต่มาถามซ้ำอีก บางทีก็ไม่ไหว บางทีมันกดดันเยอะ แต่ตนไม่เคยปกปิดอะไรเลย ขอให้เข้าใจ

อาการปรี๊ดแตกของ พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นเรื่องปรกติของคนวัยทอง เมื่อทุกปัญหา ทุกเรื่องมารวมศูนย์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ หลายเรื่องเหมือนจี้ใจดำการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ที่ประกาศจะปฏิรูปประเทศในทุกๆด้าน แต่ปรากฏว่าผ่านมากว่า 2 ปี รัฐบาลยังถูกวิจารณ์ว่าไม่มีผลงานอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม นอกจากการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์และมาตรา 44 แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือไล่ล่าจับกุมฝ่ายที่เห็นต่าง โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นคง แม้แต่นักศึกษาและภาคประชาชนที่ต้องการเสรีภาพในการแสดงความเห็นและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันก็ตาม

การปฏิรูป (ก่อนเลือกตั้ง) ก็เพิ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 คณะคือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

การตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. ก่อนโรดแม็พ (สุดท้าย) ใกล้จะสิ้นสุดสะท้อนชัดเจนว่า ผ่านมากว่า 2 ปีนั้น รัฐบาลและ คสช. ยังไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญๆของประเทศและประชาชนได้จริง ไม่ว่าการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ หรือแม้แต่การสร้างความปรองดอง ซึ่ง คสช. ประกาศว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขให้ได้หลังการยึดอำนาจ ขณะที่โรดแม็พการเลือกตั้งก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ไม่เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยยืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งในประเทศและเวทีระหว่างประเทศ

โรดแม็พของรัฐบาลและ คสช. จึงถูกมองว่าดูเหมือนจะ “มีแต่โรดไม่มีแม็พ” คือเดินหน้าไปเรื่อยๆโดยไม่มีแผนที่และไร้เข็มทิศนำทาง

ภาพลักษณ์ตกต่ำเกือบทุกด้าน

ขณะที่หลายโพลขาประจำในประเทศระบุผลการสำรวจของประชาชนว่าพึงพอใจการทำงานของรัฐบาลและ คสช. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีคะแนนนิยมพุ่งสูงปรี๊ดนั้น กลับตรงข้ามสิ้นเชิงกับการวิเคราะห์ของสื่อต่างชาติและการประเมินด้านต่างๆขององค์กรระหว่างประเทศ

แม้แต่การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่ พล.อ.ประยุทธ์จัดงานใหญ่ร่วมกับภาคเอกชนก็ปรากฏว่าองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติจัดอันดับดัชนีวัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2559 ของประเทศไทยหล่นไปอยู่อันดับ 101 จากอันดับ 76 ได้คะแนนแค่ 35 คะแนน เพราะการปิดกั้นการตรวจสอบที่เป็นอิสระและสิทธิเสรีภาพที่เสื่อมถอยลง ซึ่งล้วนลดทอนความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติยังระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการทุจริต แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าเมื่อไรประเทศไทยจะกลับสู่การปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลพลเรือน ซึ่งนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ยอมรับว่า ดัชนีความโปร่งใสลดลงเพราะเรื่องประชาธิปไตยและรัฐบาลทหารที่ทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพและปิดกั้นการตรวจสอบรัฐบาลทหาร ภาคประชาชนที่จะตรวจสอบถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม

เสี่ยงเกิดรัฐประหารเป็นอันดับ 2

ขณะที่เว็บไซต์ “วอชิงตันโพสต์” ได้เผยแพร่บทวิจัยของไมเคิล วอร์ด กับแอนเดรียส เซเกอร์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยดุ๊ค มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐ โดยเอาโมเดลดั้งเดิมของนักวิจัยชื่อเจย์ อัลเฟลเดอร์ มาปรับขยายเพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์การเมืองโลกโดยระบุว่า รัฐประหารไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือล้มเหลวย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศนั้นๆไม่มากก็น้อย ซึ่งปี 2560 ประเทศไทยถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดรัฐประหารเป็นอันดับ 2

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ฝรั่งก็พูดไป คนไทยมีสมองรู้จักคิดและอยู่ในพื้นที่ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งตนพูดแล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 ยืนยันว่าสถานการณ์ปัจจุบันทำการรัฐประหารไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ระบุว่ารัฐประหารครั้งที่ผ่านมาคือครั้งสุดท้าย ส่วนรัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็ทำไม่ได้ ยิ่งรัฐประหารซ้อนยิ่งเป็นไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า รัฐประหาร 2 ครั้งที่ผ่านมา ทั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็เคยยืดอกยืนยันมาแล้วว่าจะไม่ทำรัฐประหารและไม่มีรัฐประหารแน่นอน แต่สุดท้ายทั้ง พล.อ.สนธิและ พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำรัฐประหาร จึงไม่มีใครเชื่อว่ารัฐประหารของ คสช. จะเป็นครั้งสุดท้าย

นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทวิเคราะห์ดังกล่าวว่า ผู้นำทหารไทยและ คสช. อาจไม่มีความคุ้นเคยกับการศึกษาแบบนี้ คือการเอาค่าสถิติของปัจจัยต่างๆทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมาประมวลผลถึงแนวโน้มในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องปรกติ เหมือนผู้นำทหารที่ชอบอ้างผลโพลในบ้าน โพลก็เป็นการศึกษาเชิงปริมาณเดียวกัน

นายสุรชาติชี้ว่า สิ่งที่ทำให้ไทยถูกจับตามองมากในหลายปีที่ผ่านมาคือ การเกิดรัฐประหารซ้ำ 2 ครั้ง ซึ่งมีเพียง 3 ประเทศคือ ฟิจิ ไทย และบูร์กินาฟาโซ แต่ของไทยเกิดในระยะห่างไม่ถึง 10 ปี จึงทำให้ค่าสถิติของไทยสูง ค่าปัจจัยเชิงปริมาณทำให้เห็นคำตอบไม่ต่างกัน สถานการณ์การเมืองของไทยก็ไม่ชัดเจน เพราะไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร การปรองดองก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร การเลือกตั้งก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

นอกจากนี้ยังมีปัญหาสิทธิเสรีภาพที่เป็นประเด็นใหญ่และถูกจับตามองในเวทีโลก บทบาทของทหารในอนาคตที่ทั่วโลกเรียกร้องให้ลดบทบาทในทางการเมืองลง แต่ในแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี กลับให้ คสช. หรือรัฐบาลทหารยังมีอำนาจได้ต่อไป รวมถึงการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนที่ก็คือพรรคทหาร ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายได้ด้วยตัวเอง การเลือกตั้งจึงถูกจับตามองว่าไม่มีความหมาย

ขณะที่ประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพที่มีจำนวนมากก็ถูกกดดันจากการใช้มาตรการต่างๆของ คสช. ประเทศไทยจึงยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกหรือองค์กรระหว่างประเทศต่อไปอย่างต่อเนื่องตราบใดที่การเมืองไทยยังไม่กลับสู่ภาวะปรกติโดยเร็ว ซึ่งไม่มีใครอยากเห็นรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เพราะทำให้ประเทศถดถอยทั้งการเมืองและยังเป็นปัจจัยทำลายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

เสรีภาพประชาชนคือเสรีภาพสื่อ

ประเด็นประชาธิปไตยที่ยึดโยงกับเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยมีแต่เสื่อมถอยลง โดยเฉพาะการใช้กลไกทางกฎหมายและอำนาจของ คสช. จับกุมผู้ที่เห็นต่างในข้อหาต่างๆ ทั้งนักศึกษา นักวิชาการ และภาคประชาชน รวมถึงการพยายามออกกฎหมายที่ถูกมองว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพและละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่มีประชาชนลงชื่อต่อต้านเกือบ 400,000 คน แต่กลายเป็นเพียงเสียงนกเสียงกาที่ไร้ความหมาย แม้แต่สื่อกระแสหลักของไทยก็หดหัวอยู่ในกระดอง

ล่าสุดสื่อก็เจอเข้ากับตัวเองเมื่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ทำให้ 30 องค์กรสื่อจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไข โดยเฉพาะการตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” เพราะไม่อยู่บนพื้นฐานหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของตนเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบทบาทของสื่อมวลชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐ และยัง (เพิ่งนึกขึ้นได้ว่า) เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพราะเสรีภาพของประชาชนคือเสรีภาพสื่อนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็ยืนยันว่า จำเป็นต้องมีข้าราชการเข้ามาร่วมเพื่อมีส่วนในการดูแลการทำงานของสื่อ อ้างว่ากฎหมายปรกติทำอะไรไม่ได้ โดยยกตัวอย่างไปถึงหนังสือโป๊ว่าใช้กฎหมายอย่างเดียวจับก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้ หรือจะให้ตรวจก่อนพิมพ์ แต่ก็มีการเผยแพร่และขายกันเหมือนเดิม

“ถ้าไม่บิดเบือนแล้วใครจะไปยุ่งกับท่าน ถ้าบิดเบือนจากข้อเท็จจริงจนเห็นได้ชัดแล้วท่านจะแก้ปัญหากันอย่างไร อย่ามาไล่เจ้าหน้าที่ที่ว่าองค์กรสื่อจะคุมกันเอง ผมเคยประสานไป ท่านก็บอกว่าไม่มีอำนาจ และผมจะให้มีอำนาจขึ้นมาก็ไม่เอา ไม่ให้ข้าราชการเข้าไป บอกว่าจะคุมกันเอง จะคุมกันยังไง ถ้ามีคดี มีเรื่องราว จะสั่งการอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า จะเดินหน้ากฎหมายสื่อต่อไป โดยมอบหมายให้หน่วยงานไปพิจารณาว่าต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมีการใช้กฎหมายสื่ออย่างไร

สื่ออย่าลืมสู้เพื่อเสรีภาพประชาชน?

น่าเสียดายที่การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพขององค์กรสื่อมักคำนึงถึงแต่เสรีภาพของตนเอง จนเสมือนว่าสื่อมีฐานันดรสูงส่งเหนือใคร การออกมาของ 30 องค์กรสื่อที่ผนึกกำลังกันตั้งโต๊ะแถลงการณ์คัดค้าน พฺ.ร.บ.ควบคุมสื่ออย่างจวนตัวโดยอ้างว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสื่อ เพราะเสรีภาพของสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชนนั้น จึงเป็นที่น่าเคลือบแคลงว่า องค์กรสื่อได้พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะองค์กรสื่อเองหรือไม่ที่ก้มหัวยอมสยบต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม อำนาจที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน แม้แต่สื่อเองก็เต็มใจเข้าไปนั่งในตำแหน่งทางการเมืองที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่ไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน โดยหลงลืมไปว่า “ถ้าประชาชนไร้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อจะมีเสรีภาพไปได้อย่างไร”

อย่างกรณี “ไผ่ ดาวดิน” หรือนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ถูกจับเพียงคนเดียวในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และมาตรา 112 ที่ไปแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทยที่ยังไม่เคยถูกตั้งข้อกล่าวหาและมีคนแชร์แบบเดียวกันกับไผ่เกือบ 3,000 คน นอกจากนี้ไผ่ยังถูกตั้งข้อหาร่วมกันขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. กรณีการทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 6 คน

กรณี #ปล่อยไผ่ ล่าสุด (7 กุมภาพันธ์) นายเดวิด เคย์ ผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับเสรีภาพ ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์และไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เห็นว่าการถอนประกันของไผ่นั้นขัดแย้งกับหลักสิทธิในการเข้าถึงการไต่สวนที่เป็นธรรมและเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งศาลให้มีการไต่สวนแบบปิดลับ

การถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากการยึดอำนาจของ คสช. อีกทั้งยังถูกลิดรอนสิทธิการขอประกันตัว เป็นเรื่องพื้นฐานตามสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้แตกต่างจากองค์กรสื่อที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ จึงมีคำถามว่า ที่ผ่านมาองค์กรสื่อเคยออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ เพราะภาพขององค์กรสื่อที่ผ่านมานับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นั้น แทบไม่เคยออกมาเสนอข่าว เสนอความคิด หรือตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารที่มีต่อประชาชนเลย โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักที่อวดตนเป็น “สื่อดี” มีฐานันดรพิเศษ ยังทำตัวเป็น “เด็กดี” ที่พร้อมเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา

จึงนับเป็นนิมิตหมายที่ดีเมื่อองค์กรสื่อออกมาเรียกร้องเสรีภาพของตน และหวังว่าจะไม่ลืมต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะกรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น #ปล่อยไผ่ และอย่าลืมย้อนมององค์กรสื่อตัวเองและไม่ลืมที่จะปฏิรูปตนเองเป็นอันดับแรกด้วย

เช่นเดียวกับรัฐบาลทหารและ คสช. ที่มุ่งมั่นสั่งการว่าต้องปฏิรูปฝ่ายต่างๆอยู่ขณะนี้ กองทัพเองก็ต้องไม่ลืมปฏิรูปตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องปฏิรูประบบราชการ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่เอียงไปเอียงมาอยู่ขณะนี้ให้เข้ารูปเข้ารอยด้วย

ไม่ใช่มัวแต่ชี้นิ้วสั่งให้คนอื่นปฏิรูป แต่ตัวเองกลับหลงลืม ทำตัวมีอภิสิทธิ์หรือมีฐานันดรพิเศษที่ใครแตะต้องไม่ได้!!??


You must be logged in to post a comment Login