- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ถังแตก..หรือไม่ / โดย ลอย ลมบน
คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน
สภาวะเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อกลางปี 2557 ที่ผ่านมา มีข้อถกเถียงกันมาตลอดว่าดีขึ้นหรือแย่ลง
ในส่วนของประชาชนทั่วไปพูดเหมือนๆกันว่าเศรษฐกิจไม่ดี ขณะที่หน่วยงานรัฐมักออกมาโต้ในทำนองว่าเศรษฐกิจไม่ดีเป็นแค่เรื่องคิดกันไปเอง เพราะทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีและมีทิศทางดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขหลายตัวที่สามารถยืนยันสภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ และตัวเลขเหล่านี้ไม่เคยโกหกเหมือนมนุษย์ที่จะพูดอย่างไรก็ได้
หนึ่งในตัวเลขที่ว่านั้นคือยอดเงินคงคลัง หรือเงินสดสำรองจ่ายของรัฐบาล
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่ายอดเงินคงคลัง ณ เดือนธันวาคม 2559 เหลืออยู่ทั้งสิ้น 74,907 ล้านบาท จากที่เคยมีอยู่ ณ เดือนกันยายน 2557 ทั้งสิ้น 495,747 ล้านบาท
รัฐบาลทหาร คสช. บริหารประเทศมาเกือบครบ 3 ปี เงินคงคลังลดลงไป 420,840 ล้านบาท
นั่นหมายความว่ารัฐบาลนี้ใช้ไปมากกว่าหาได้
แม้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะยืนยันว่าจำนวนเงินคงคลังที่เหลืออยู่มีความเหมาะสม พร้อมระบุว่าไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเติมไว้ให้เสียดอกเบี้ย
นอกจากนี้ยังระบุว่าตัวเลขเงินคงคลังที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 50,000-100,000 ล้านบาท การที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศจนเงินคงคลังเหลือ 74,907 ล้านบาท ไม่ถือว่าต่ำจนเกินไป หากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินมีกรอบให้กู้เงินมาเติมได้ 80,000 ล้านบาท
ยังมีคำชี้แจงที่น่าสนใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกอย่างคือ การที่ตัวเลขเงินคงคลังช่วงต้นปีงบประมาณเหลือน้อยเป็นเรื่องปรกติ เนื่องจากภาษียังไม่เข้ามา ยิ่งปี 2559 ต่ำกว่าทุกปี เพราะกระทรวงการคลังเปลี่ยน
ระบบการบริหารจัดการเงินคงคลังใหม่ และเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เงินภาษีที่เก็บได้ในปี 2559 ที่ผ่านมาต่ำกว่าทุกปีบ่งบอกถึงอะไรหากไม่ใช่สภาพเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมา
หากใครติดตามการทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่รัฐบาลทหาร คสช. เข้ามาบริหารประเทศจะเห็นว่า ระหว่างเดือนกันยายน 2557-ธันวาคม 2559 รัฐบาลทหาร คสช. ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณแล้วถึง 744,187 ล้านบาท และไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่ปีไทยถึงจะสามารถจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีแบบสมดุลได้
ตัวเลขเงินคงคลังที่ลดลงเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศไม่ดี เพราะรายได้หลักของรัฐบาลคือการจัดเก็บภาษีจากประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ
การที่เงินคงคลังลดน้อยลงหมายความว่ารัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้น้อยจึงต้องเอาของเก่าที่สะสมไว้ออกมาใช้
เรียกว่ามีความสามารถในการใช้เงินมากกว่าการหาเงิน
สภาพเศรษฐกิจของประเทศยังสะท้อนได้จากตัวเลขการลงทุน เพราะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆว่าหากเศรษฐกิจดีตัวเลขการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนเพิ่มเติมจะมีมากขึ้น
ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่มีใครอยากลงทุน เพราะผลของการลงทุนคือผลกำไร หากลงทุนไปแล้วไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลกำไรใครจะอยากลงทุน นอกจากไม่ลงทุนแล้วยังต้องตัดลดรายได้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจด้วย
มีตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยถึงการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2559 ว่ามีการปรับลดลง 63% เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยมียอดรวมเพียง 115,000 ล้านบาท
นอกจากการลงทุนที่ลดลงอย่างมากแล้วยังมีเงินไหลออกสุทธิอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยอดเงินคงคลังที่ลดลงอย่างมากที่กล่าวไว้ตอนต้น ประกอบกับรัฐบาลมีแผนจะใช้งบประมาณขาดดุลเป็นจำนวนมาก ทำให้มียอดขาดดุลกว่า 2.33 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นยอดขาดดุลงบประมาณที่มากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา
เป็นที่ทราบกันดีว่ารายได้หลักของรัฐบาลไทยมีอยู่ทางเดียวคือการเก็บภาษีจากประชาชน ที่ผ่านมาจึงมีข่าวการปรับเพิ่มภาษีหลายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ปรับเพิ่มไปแล้วและกำลังศึกษาเพื่อปรับเพิ่ม รวมถึงศึกษาการจัดเก็บภาษีอีกหลายตัวที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน
เมื่อรัฐบาลปรับเพิ่มการจัดเก็บภาษีและจัดเก็บภาษีใหม่ๆที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
ยกตัวอย่างเช่น การปรับเพิ่มภาษีน้ำมันเครื่องบินที่มีผลทำให้อัตราค่าโดยสารเครื่องบินถูกปรับเพิ่ม ทำให้ประชาชนต้องซื้อตั๋วเดินทางแพงขึ้น
แม้จะมีคำอธิบายว่าการจัดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินแพงขึ้นก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้โดยสารรถสาธารณะที่เสียภาษีน้ำมันแพงกว่า
ทำให้มีคำถามย้อนกลับมาว่าทำไมไม่เลือกลดภาษีน้ำมันให้ผู้โดยสารรถสาธารณะ ซึ่งก็สร้างความเป็นธรรมได้เหมือนกัน และยังไม่เป็นการผลักภาระให้ประชาชน นอกจากนี้ประชาชนยังจะได้ประโยชน์โดยตรงจากราคาตั๋วโดยสารรถสาธารณะที่ถูกลงอีกด้วย
เหรียญมี 2 ด้าน ทุกอย่างมี 2 มุม ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเลือกมองมุมไหน มุมที่ให้ประโยชน์กับประชาชนหรือมุมที่สร้างผลกระทบกับประชาชน
ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
สรุปปัจจัยที่สะท้อนสภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจที่ไม่ว่าใครจะบิดเบือนอย่างไรก็ไม่อาจลบข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ ประกอบด้วย
1.เงินคงคลังที่ลดลงจำนวนมากในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมามียอดเงินคงคลังต่ำกว่าหลายรัฐบาลในรอบหลายปี
2.การจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ขาดดุลถึง 450,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558
3.ยอดการลงทุนในประเทศมีเพียงงบลงทุนจากภาครัฐ ขณะที่การลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศแทบจะหยุดนิ่ง ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่น
เวลาจะเถียงกันว่าเศรษฐกิจดีไม่ดีจึงควรเถียงกันด้วยเหตุผล ซึ่งตัวเลขเหล่านี้คือข้อเท็จจริงที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถบิดเบือนได้
เมื่อดูตัวเลขต่างๆแล้วก็สามารถตอบคำถามได้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีเป็นแค่ความรู้สึกจริงหรือไม่ เศรษฐกิจกำลังดีขึ้นจริงหรือไม่
แม้จะมีคำยืนยันว่าจำนวนเงินคงคลังที่เหลืออยู่ 74,907 ล้านบาท จากที่เคยมีอยู่ ณ เดือนกันยายน 2557 ทั้งสิ้น 495,747 ล้านบาท ยังไม่กระทบต่อการบริหารประเทศ ไม่กระทบสภาพคล่องของรัฐบาล และถือว่าสถานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลยังแข็งแรงดี
แต่ก็ไม่มีหลักประกันใดๆว่าตัวเลขเงินคงคลังที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมานั้นจะลดลงไปกว่านี้อีกหรือไม่ จะเหลือน้อยกว่าค่ามาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องมีอย่างน้อย 50,000 ล้านบาทหรือไม่
74,907 ล้านบาทที่สูงกว่าตัวเลขขั้นต่ำที่ควรมีนั้นไม่ถือว่ามาก ถ้ามีเรื่องฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินก็ไม่พ้นต้องไปกู้ และคนที่รับภาระคือประชาชน เพราะรายได้หลักของรัฐมีทางเดียวคือ “เก็บภาษี”
เศรษฐกิจจะดีไม่ดีอย่างไรใครก็พูดได้ แต่ตัวเลขไม่เคยโกหก
You must be logged in to post a comment Login