วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ไม่ว่างก็ลาออก!

On February 15, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยโดย โครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ที่แสดงให้เห็นถึงการขาดประชุมจวนจะสิ้นสมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 7 คน ถือว่าน่าสนใจ

ความน่าสนใจไม่ได้อยู่แค่เพียงมีชื่อของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (สนช.) มีรายชื่อเป็น 1 ใน 7 คนที่ขาดประชุมเป็นประจำ

แต่น่าสนใจตรงที่ว่าทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ จะถูกอธิบายว่าผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งมีความเหมาะสม และเป็นการแต่งตั้งเข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้บ้านเมืองส่วนรวมไม่มีเรื่องพวกพ้องน้องพี่

ทั้งนี้ ตามข้อบังคับการประชุมของสภากำหนดให้สมาชิกต้องมาลงมติอย่างน้อย 1 ใน 3 ของทุกรอบ 90 วัน เว้นแต่ส่งใบลา

ข้อมูลของไอลอว์บอกว่าเมื่อขอดูใบลาของทั้ง 7 คนที่ขาดประชุมจนเสี่ยงต่อการหมดสมาชิกภาพกลับได้คำตอบว่า “เป็นความลับทางราชการ”

เดี๋ยวนี้ใบลาประชุมของสมาชิกสภาถือว่าเป็น “ความลับทางราชการ” ทั้งที่ในสมัยที่สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งมีการเปิดเผยข้อมูลการเข้าประชุม ขาดประชุม พร้อมมอบรางวัลให้คนเข้าประชุมสภาสม่ำเสมอไม่บกพร่องในการทำหน้าที่อย่างเปิดเผย

ทั้ง 7 คนที่ขาดประชุมบ่อยประกอบด้วย พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสนาธิการทหารเรือ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ

ทั้งนี้ ในช่วงรอบวันที่ 1 มกราคมปีที่แล้ว ถึง 31 มีนาคมปีเดียวกัน มีการลงมติทั้งหมด 250 ครั้ง และจำนวน 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมด คือ 84 ครั้ง พล.อ.ร.พัลลภ ลงมติ 55 ครั้ง นายสมศักดิ์ 81 ครั้ง นายดิสทัต 4 ครั้ง นายสุพันธุ์ 57 ครั้ง และพล.อ.ปรีชา 5 ครั้ง

รอบวันที่ 1 เมษายนปีที่แล้ว ถึง 29 มิถุนายนปีเดียวกัน มีการลงมติทั้งหมด 203 ครั้ง จำนวน 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมด คือ 68 ครั้ง พบว่า พล.ร.อ.พัลลภ ไม่มาลงมติเลย พล.อ.ปรีชา 1 ครั้ง พล.อ.อ.จอม 63 ครั้ง และพล.ร.อ.ณะ 1 ครั้ง

ไอลอว์ ระบุว่าสาเหตุหลัก ที่ทำให้สมาชิก สนช.ขาดประชุมบ่อย คือ การทำงานควบตำแหน่ง หรือยังมีตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำอยู่ จึงเป็นอุปสรรคในการเข้าประชุม แต่สมาชิกเหล่านี้ ยังได้รับเงินเดือนจากต้นสังกัดทั้ง 2 ทาง คือ เงินเดือนข้าราชการ และเงินเดือนจากการเป็นสมาชิก สนช.เดือนละประมาณ 113,560 บาท ไม่รวมเบี้ยประชุมกรรมาธิการ และอื่นๆ

ความน่าสนใจของเรื่องนี้นอกจากปัญหาการพิจารณาแต่งตั้งแล้ว ยังอยู่ที่ความพร้อมของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง หากคิดว่าไม่พร้อมทำหน้าที่ หรือมีงานอื่นรัดตัวอยู่มากก็ไม่ควรเข้ามารับตำแหน่งเพื่อกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

กรณีที่เกิดขึ้นไม่ควรรอให้หมดสมาชิกสภาพไปเองโดยอัตโนมัติเพราะขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือออกมายืนยันว่าทุกครั้งที่ขาดประชุมสภาส่งใบลาทุกครั้ง

แต่ควรพิจารณาตัวเองว่าหากไม่พร้อมทำหน้าที่ ไม่มีเวลาเข้าประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศก็ควร “ลาออก” เพื่อเปิดทางให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งแก้ตัวพิจารณาหาคนที่เหมาะสม คนที่ทำงานเต็มเวลาได้เข้ามาทำงานแทน


You must be logged in to post a comment Login