วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ความลับราคาแพง

On February 16, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เรื่องสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) 7 คน ถูกเปิดเผยสถิติการขาดประชุมจนเสี่ยงต่อการสิ้นสมาชิกภาพ แต่ถูกอธิบายว่ายังไม่สิ้นสมาชิกภาพเพราะว่ายื่นหนังสือลาประชุมตามสิทธิ ตามกฎระเบียบที่ให้ทำได้

แต่พอผู้ที่นำข้อมูลมาเปิดเผยขอดูหลักฐานการยื่นหนังสือลาประชุม กลับได้รับคำตอบจากผู้เกี่ยวข้องว่าเป็น “ความลับทางราชการ”

ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้ สนช.ที่ไม่ค่อยว่างเข้าประชุมพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่ง เพราะเมื่อไม่มีเวลามาประชุมสภา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ไม่ควรที่จะได้รับค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือนและสวัสดิการต่างๆ

นอกจากเสียงเรียกร้องให้พิจารณาตัวเองแล้ว ยังมีประเด็นที่น่าพิจารณาคือเรื่องที่ว่าหนังสือลาประชุมเป็น “ความลับทางราชการ” ว่าเรื่องแบบนี้ถือเป็น“ความลับทางราชการ” จริงหรือ?

หากการเข้าประชุมสภาถือเป็น “ความลับทางราชการ” ทำไมที่ผ่านมาเราสามารถนำข้อมูลการเข้าประชุมสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้

นับแต่มีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการยุบสภา หรือมีการเลือกตั้งมักมีบุคคลหรือองค์กรต่างๆนำข้อมูลการเข้าประชุมสภาของส.ส.มาเปิดเผยต่อสาธารณะนัยว่าเพื่อให้เป็นข้อมูลสำหรับประชาชนใช้พิจารณาในการลงคะแนนเลือกส.ส.ในครั้งต่อไป

มีการรณรงค์กันถึงขนาดว่าใครที่ขาดประชุมสภาบ่อยไม่ต้องเลือก เพราะถือว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ไม่รับผิดชอบต่อประชาชนที่ลงคะแนนเลือกให้เป็นตัวแทนมาทำงานในสภา

พูดกันถึงขนาดที่ว่าพฤติกรรมของส.ส.ที่แสดงออกในสภาเป็นอย่างไรสะท้อนถึงคุณภาพประชาชนในเขตนั้นหรือจังหวัดนั้นที่เลือกส.ส.คนนั้นเข้ามาเป็นตัวแทน หากส.ส.ขาดประชุมสภาบ่อย ไม่ค่อยเข้าประชุมสภา หรือแสดงพฤติกรรมเสื่อมเสียในสภาประชาชนเขตนั้นหรือจังหวัดนั้นควรมีความละอายที่ได้ลงคะแนนเลือกให้เป็นตัวแทนเข้ามาทำงานในสภา

ย้อนไปหลังการประกาศยุบสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนก่อนการเลือกตั้งใน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีการนำข้อมูลซึ่งเป็นสถิติเข้าประชุมสภามาเปิดเผยกันอย่างกว้างขวาง

แม้การเปิดเผยข้อมูลการเข้าประชุมสภาดังกล่าวจะมีเป้าหมายทางการเมืองโดยมุ่งไปที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกโจมตีมาตลอดในช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีว่าชอบหนีประชุมสภาไปเที่ยวต่างประเทศ

แต่เมื่อเปิดเผยสถิติการเข้าประชุมสภาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ที่มีเวลาทำงานรวม 2 ปี 4 เดือน ข้อมูลถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีการประชุมสภา
ทั้งหมด 190 ครั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ตกเป็นเป้าโจมตีมีสถิติการเข้าประชุม 139 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 73.16 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นมีสถิติการเข้าประชุม 184 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 96.84 ขณะที่ค่าเฉลี่ยการเข้าประชุมสภาของส.ส.ทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 94.3

น่าสนใจคือมี ส.ส. ทั้งหมด 331 คน ที่มีสถิติการเข้าประชุมเหนือกว่าค่าเฉลี่ย คือมากกว่าร้อยละ 94.32 และมี ส.ส. 70 คนที่ไม่เคยขาดการประชุมแม้แต่ครั้งเดียว

เมื่อเทียบกับการประชุมของสนช. ที่โครงการอินเทอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ นำมาเปิดเผยไว้เมื่อเดือนกันยายน 2559 โดยระบุนับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2557 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2559 สนช. ได้ทำงานมาเกิน 2 ปี

ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ เดิมรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้มี สนช. 220 คน แต่มีการแก้ไขให้มีสนช.เพิ่มอีก 30 คน รวมเป็น 250 คน โดยให้เหตุผลว่า สนช.ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความสำคัญ เพราะคาดว่าอีก 1 ปี 4 เดือน จะมีกฎหมายจำนวนมากเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่มากขึ้น เพื่อให้มีความหลากหลาย รอบคอบ

แต่กลับมีข้อมูลว่านับตั้งแต่การประชุมสนช. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558-19 สิงหาคม 2559 ที่มีการประชุมไปทั้งสิ้น 78 ครั้ง พิจารณากฎหมายไป 138 ฉบับ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย 67 ฉบับ ค่าเฉลี่ยต่อฉบับมีสนช. เข้าประชุม 170 คน ไม่เข้าประชุม 50 คน กฎหมายหลายฉบับผ่านการลงมติแบบฉิวเฉียด

การที่ สนช. แต่ละคนได้รับเงินเดือนรวม 113,560 บาท และยังสามารถตั้งผู้เชี่ยวชาญได้ 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท ผู้ชำนาญการอีก 1 คน เงินเดือน 2 หมื่นบาท ผู้ช่วย 15,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายที่รัฐเอาภาษีประชาชนไปจ่ายให้สนช.แต่ละคนคือ 172,560 บาทต่อเดือน

คำถามคือข้อมูลการเข้าประชุมขาดประชุมของ สนช.ควรจัดเป็น “ความลับทางราชการ”ที่ประชาชนไม่ควรรู้หรือไม่?


You must be logged in to post a comment Login