- อย่าไปอินPosted 14 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ต้องเปลี่ยนรัฐบาล!? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
ผมเขียนคอลัมน์สัปดาห์นี้ในวันแห่งความรักพอดี ดังนั้น ก่อนจะนำเรื่องอะไรมาบ่นให้ฟังผมขออวยพรให้ทุกท่านเต็มปรี่และอิ่มเอมไปด้วยความรักตลอดปี 2560 นี้ หากจะโกรธเกลียดกันก็ขอให้หายเร็วๆ เพราะความรักและการรู้จักให้อภัยน่าจะเป็นเครื่องมือเดียวที่เหลืออยู่ของประเทศสารขัณฑ์ในการกำจัดความขัดแย้งและนำความปรองดองกลับมาสู่เพื่อนร่วมชาติทุกคน
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ ช่วงนี้ผมมีโอกาสพบปะพูดคุยกับพี่น้องประชาชนหลายพื้นที่ เรื่องที่ทุกท่าน (ย้ำว่าทุกท่านจริงๆ) บ่นให้ฟังเหมือนกันหมดไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็คือ “เรื่องการทำมาหากินและปัญหาปากท้อง”
สิ่งที่ผมประสบด้วยตัวเองสอดคล้องกับโพลทุกสำนักที่สำรวจความเห็นประชาชน และสรุปออกมาอย่างชัดเจนว่า ปัญหาเศรษฐกิจคือปัญหาหลักที่คนไทยต้องเผชิญและต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือแก้ไขอย่างเร่งด่วนในขณะนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเสียงของประชาชนส่วนใหญ่จะดังพอให้ผู้รับผิดชอบแต่ละท่านได้ยินกันหรือไม่ เพราะหากดูจากมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ต้องบอกว่า “วังเวง” จริงๆ
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับผมและคนส่วนใหญ่ว่าเศรษฐกิจตกต่ำ และอาจคิดว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งคงเป็นเรื่องจริง เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนี้คงมีจำนวนน้อยนิดหากเทียบกับคนไทยทั้งประเทศ
เพราะโครงการใหญ่ๆของรัฐบาล เช่น การสร้างรถไฟฟ้าไม่กี่สาย หรือการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ เช่น เรือดำน้ำ เครื่องบิน หรือรถถัง ที่ใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท ลองนึกดูดีๆว่ามีคนไทยสักกี่คนที่เกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากการใช้งบประมาณดังกล่าว นอกเสียจากผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้เกี่ยวข้องเพียงไม่กี่คน
ในกรณีนี้แม้แต่ผู้ใช้เองยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปหรือเปล่า!!! เข้าตำรา “ผู้ใช้ไม่ได้ซื้อ ผู้ซื้อไม่ได้ใช้” หรือไม่???
เรื่องนี้ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะซ้ำรอยการจัดซื้ออาวุธอื่นๆในอดีตหรือไม่ที่หลังจากซื้อมาแล้วผู้ใช้ไม่สามารถใช้งานอาวุธหรือยุทโธปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ซื้อมาแล้วแต่ใช้ไม่ได้ อย่างเรือเหาะของกองทัพบก ซึ่งขณะนี้ต้องจำหน่ายทิ้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผมขอภาวนาอย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะเงินทั้งหมดที่รัฐบาลทหารใช้ไปไม่ใช่เงินของผู้มีอำนาจที่เซ็นอนุมัติคนเดียว แต่เป็นเงินภาษีอากรของคนไทยทุกคน ซึ่งขณะนี้ไม่มีโอกาสเลือกและให้ความไว้วางใจกับตัวแทนของตนเอง แต่ต้องจำใจยอมรับให้ผู้ที่มายึดอำนาจไปจากประชาชนมาเป็นผู้บริหาร ซึ่งการบริหารจะถูกผิดอย่างไรก็ต้องก้มหน้ายอมรับ เพราะแม้แต่กฎหมายที่คณะปฏิวัติเขียนขึ้นมาก็ให้ความคุ้มครองและนิรโทษกรรมความผิดที่ตัวเองและพวกพ้องอาจกระทำความผิดไปโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่แย่ไปกว่านั้นคือ การใช้งบประมาณและการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล คสช. ไม่มีกระบวนการในการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น การบริหารและการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปตามอำเภอใจตามแต่ผู้มีอำนาจจะเห็นสมควรเพียงฝ่ายเดียวโดยไม่มีฝ่ายค้าน ซึ่งการบริหารในลักษณะนี้สะท้อนความด้อยประสิทธิภาพของประสิทธิผลที่เกิดขึ้นให้เห็นได้อย่างชัดเจน
เรื่องนี้ต้องเรียนท่านผู้อ่านไว้ก่อนว่าผมไม่ได้พูดเอง แต่เป็นตัวเลขที่ “พี่ไก่-วัฒนา เมืองสุข” และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศเอามาแฉให้เห็นกันชัดๆแบบไม่ต้องแก้ตัว ตัวเลขจากทุกฝ่ายตรงกันว่ามีการตั้งงบประมาณและใช้จ่ายงบประมาณมากที่สุดตั้งแต่ประเทศไทยเกิดขึ้นมา แต่การใช้จ่ายเงินดังกล่าวกลับเหมือนการถมทรายลงไปในทะเลที่มองไม่เห็นว่าเมื่อไรจะเต็ม หรือถ้าคิดแบบคนฉลาดเขาคิดกันหรือคิดเป็นก็คือ ไม่รู้ว่าจะถมทะเลไปเพื่ออะไร!
คุณวัฒนาเขียนใน FB ของท่านว่า รัฐบาล คสช. จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลสูงกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา คือปี 2558 ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท ปี 2559 ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท และล่าสุดปี 2560 ขาดดุลสูงถึง 5.5 แสนล้านบาท (งบกลางปีเงินกู้ 1.62 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นการขาดดุลมากขึ้นเรื่อยๆโดยไม่มีการกำหนดกรอบการขาดดุลให้ชัดเจน อันจะเป็นภาระแก่ประชาชนในอนาคต แต่การใช้เงินจำนวนมหาศาลกลับไม่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ตัวเลขเงินคงคลังที่เหลือน้อยจึงฟ้องว่ารัฐจัดเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้าหมาย
สาเหตุที่จัดเก็บภาษีไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการลงทุนและประชาชนไม่กล้าใช้เงิน หลักฐานคือเงินฝากล้นระบบที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องนำไปฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเงินสูงถึง 1 ล้านล้านบาท แสดงว่านักลงทุนไม่กล้าลงทุนจึงเอาเงินไปฝากธนาคารซึ่งได้ดอกเบี้ยต่ำและไม่คุ้มทุน ส่วนประชาชนก็ไม่กล้าใช้เงิน เพราะไม่มีเงินและไม่มีความมั่นใจในอนาคต ทั้งหมดคือสัญญาณร้ายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับนักลงทุนและประชาชนของตัวเองได้
คุณวัฒนายังกล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยคล้ายกับที่เกิดกับทีมฟุตบอลเชลซี ปี 2014-2015 มูรินโญกลับมาเป็นผู้จัดการทีมและทำทีมจนได้แชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูถัดมา 2015-2016 นักเตะชุดเดิมมีปัญหากับมูรินโญ ทำให้ทีมแพ้และอันดับตกต่ำ เจ้าของทีมจึงตัดสินใจปลดมูรินโญ ผลคือฤดู 2016-2017 นักเตะชุดเดิมภายใต้ผู้จัดการทีมคนใหม่กลับชนะจนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 1
รัฐบาลกับประชาชนก็เปรียบเสมือนผู้จัดการทีมกับผู้เล่น รัฐบาลอยากให้เศรษฐกิจดี ส่วนผู้จัดการทีมอยากให้ทีมชนะ แต่หากผู้จัดการทีมไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เล่น เจ้าของทีมก็ต้องรีบจัดการ เพราะปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปฟุตบอลก็ตกชั้น ส่วนรัฐบาลหากไม่สามารถทำให้ประชาชนของตัวเองเกิดความเชื่อมั่นทั้งที่ได้ดำเนินทุกมาตรการแล้ว ประชาชนก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะปล่อยยืดเยื้อต่อไปประเทศจะล้มละลายไม่เหลืออะไรเช่นกัน
นั่นแหละครับเป็นข้อเท็จจริงในมุมมองของบุคลากรฝ่ายบริหารที่เคยบริหารประเทศไทยให้เจริญรุดหน้าก้าวทันอารยประเทศและทำให้คนไทยกินดีอยู่ดีมีความสุขมาแล้ว จริงเท็จอย่างไรท่านผู้อ่านที่เคยผ่านห้วงเวลาดังกล่าวมาคงพอจำกันได้ และคงยืนยันเรื่องราวที่ผมนำมาถ่ายทอดได้ว่าไม่ได้พูดเท็จแต่อย่างใด
ผมนำเรื่องนี้มาบ่นให้ฟังในสัปดาห์นี้เพราะเห็นใจพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ประสบปัญหาปากท้องกันอย่างถ้วนหน้า การบ่นครั้งนี้ไม่ได้หวังว่าผู้มีอำนาจจะได้ยินและนำไปปรับปรุงการทำงานของท่านเลยแม้แต่น้อย เพราะที่ผ่านมาขนาดตะโกนจนแสบแก้วหูท่านยังไม่ได้ยิน แต่ผมหวังว่าข้อเท็จจริงเหล่านี้คงเป็นข้อมูลสำคัญในอนาคตให้ “คนดี” ทุกท่านใช้ตัดสินใจว่า “การเลือกตั้ง” กับ “การลากตั้งหรือการยึดอำนาจ” สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรกระทำมากกว่ากัน
You must be logged in to post a comment Login