วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จบแบบโปร่งใส

On February 17, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

สถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้มีความเคลื่อนไหวหลายเรื่องที่น่าสนใจ

เรื่องที่ดึงความสนใจได้มากที่สุดตอนนี้คงหนีไม่พ้นการสนธิกำลังกันจำนวนมากระหว่างทหาร ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถือหมายศาลและคำสั่ง หน.คสช. 5/2560 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย เพื่อควานหาตัวพระธัมมชโย

งานนี้มีทั้งเสียงชื่นชมยินดี เสียงตำหนิติเตียน คงต้องรอดูว่าหลังปฏิบัติการครั้งนี้สถานการณ์จะพัฒนาไปในทิศทางไหนอย่างไร

อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าสนใจ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายคนขาดประชุมบ่อย บางคนแทบไม่ได้เข้าประชุมเลย จนเกิดเสียงเรียกร้องให้พิจารณาตัวเองเพราะไม่ค่อยทำหน้าที่ แต่รับเงินเดือนเต็มตามปรกติครบทุกเดือน

ล่าสุด นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.ในฐานะกรรมการสอบจริยธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมตรวจสอบหากมีคนยื่นเรื่องเข้ามา แต่ต้องมีหลักฐานประกอบการยื่นเรื่องมาด้วย หากสอบแล้วพบว่าทำผิดกฎระเบียบจริง บทลงโทษมีตั้งแต่ตัดเงินเดือนจนถึงให้ออก

ขณะที่ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน ยกตัวอย่างการขาดประชุมของ สนช.ว่า สนช.ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ไม่เพียงได้รับเงินเดือน เบี้ยประชุมตามปรกติ แต่ยังมีรายจ่ายอื่นที่รัฐต้องจ่ายให้ เช่น ค่าเดินทาง พร้อมตั้งคำถามต่อกรณีของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดบ้าง ที่สามารถลางานได้มากถึง 394 วัน จากจำนวนวันทำงานทั้งหมด 400 วัน โดยไม่ถูกไล่ออก ก็คงมีแต่พล.อ.ปรีชา คนนี้คนเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า สนช.ที่ขาดประชุมทั้งหมดได้ยื่นใบลาอย่างถูกต้อง และจะไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้หนังสือถึงประธานสนช.เพื่อให้สอบจริยธรรมผู้ขาดประชุม หากไม่ดำเนินการจะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบเอาผิดฐานละเว้นการทำหน้าที่

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประเด็นสนช.ขาดประชุม แต่รับเงินเดือนผลตอบแทนเต็มจำนวนที่คนทั่วไปมองว่าไม่เหมาะสมจะจบลงแบบไม่มีอะไรในก่อไผ่

เมื่อระเบียบเปิดทางให้ยื่นใบลาประชุมได้ ถึงรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 9 (5) กำหนดว่า ถ้าสมาชิก “ไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจํานวนที่กําหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม” ให้สมาชิกภาพการเป็นสนช. สิ้นสุดลง และยังมีกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 ข้อ 82. ว่า “สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาเกินกว่าหนึ่งในสามของจํานวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม … มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ…”

ก็ยื่นใบลาทำตามระเบียบแล้ว ถือว่าจบ

อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากให้จบสวยแบบโปร่งใสไม่ค้างคาใจควรเปิดเผยใบลาว่าส่งทั้งหมดกี่ใบ ยื่นลาก่อนที่มีการประชุมลงมติแต่ละครั้งกี่วัน และเหตุผลในการลาแต่ละครั้งคืออะไร โดยเฉพาะกรณีของพล.อ.ปรีชา ที่ยื่นใบลาถึง 394 วัน จากจำนวนวันทำงาน 400 วัน


You must be logged in to post a comment Login