วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘อินโดฯ’ผลิตข้าวส่งออก

On February 17, 2017

จากที่เคยเป็นประเทศนำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก และเป็นลูกค้านำเข้าข้าวจากไทยที่สำคัญประเทศหนึ่ง มาปีนี้ อินโดนีเซียเปลี่ยนไป ประกาศงดนำเข้าข้าว พร้อมกับผันตัวเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหม่

เท่าที่ผ่านมา อินโดฯ ผลิตข้าวได้มากกว่าไทย โดยเป็นประเทศผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกรองจากจีน ที่ครองอันดับ 1 และอินเดีย อันดับ 2

แต่ด้วยการมีประชากรจำนวนมากถึง 250 ล้านคน ทำให้ปริมาณข้าวที่ผลิตได้ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค และเสี่ยงต่อการขาดแคลน ทางรัฐบาลอินโดฯ จึงนำเข้าข้าวเก็บสำรองไว้ในสต็อกเรื่อยมา

ปีที่แล้ว อินโดฯ นำเข้าข้าว 1.2 ล้านตัน โดยซื้อจากไทย เวียดนาม ปากีสถาน อินเดีย พม่า และกัมพูชา โดยเป็นลูกค้าซื้อข้าวจากไทยอันดับ 8 จำนวน 400,010 ตัน

สำหรับการเปลี่ยนสถานะ ก้าวเป็นประเทศพึ่งพาตนเองได้ด้านข้าว เป็นผลมาจากการผลิตข้าวปีที่แล้วได้ 79.17 ล้านตันข้าวเปลือก มากกว่าเป้าตั้งไว้ที่ 72 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะการบริโภคอยู่ที่ปีละ 60 ล้านตันข้าวเปลือก

ทำให้คาดว่าจะเพิ่มข้าวสำรองในสต็อกจากปัจจุบัน 1.73 ล้านตันข้าวสาร เป็น 3 ล้านตันข้าวสาร ขณะปีที่แล้วมีข้าวสำรองเพียง 800,000 ตันข้าวสาร

ด้านผลผลิตในปีนี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 80 ล้านตันข้าวเปลือก

ส่วนแผนส่งออก จะประเดิมในปีนี้ 100,000 ตันข้าวสาร ไม่รวมส่วนที่ส่งไปช่วยเหลือศรีลังกา 5,000 ตันข้าวสาร โดยประเทศลูกค้านำเข้าข้าวจากอินโดฯ คือปาปัวนิวกีนี มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

จริงแล้ว อินโดฯ เริ่มส่งออกข้าว เมื่อ 3 ปีก่อน (ปี 2014) แต่เป็นการส่งออกข้าวอินทรีย์ (Organic rice) เพียงเล็กน้อย โดยปีที่แล้ว มียอดส่งออก 5,000 ตันข้าวสาร

อินโดฯ ประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่นคงด้านข้าว จากโครงการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวระยะยาว ประกอบด้วยการปรับปรุงระบบชลประทานให้สามารถใช้น้ำได้อย่างเพียงพอ ช่วยเหลือพันธุ์ข้าว ปุ๋ย เครื่องจักร และประกันความเสียหายหลังการเพาะปลูกไร่ละ 6 ล้านรูเปีย (2,800 บาท)

นอกจากนั้น ยังขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มอีก 491,800 ไร่

จากความพยายามสร้างความมั่นคงด้านข้าว ผลิตข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ และต่อยอดเป็นการผลิตได้เกินความต้องการ

ส่งผลให้อินโดฯ เปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็นลูกค้าข้าวไทย กลับมาเป็นคู่แข่ง “ขนาดย่อม” ด้านการส่งออกแทน


You must be logged in to post a comment Login