วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

รัฐประหารเกิดได้ตลอดเวลา / โดย ประชาธิปไตย เจริญสุข

On February 21, 2017

คอลัมน์ : ฟังจากปาก
ผู้เขียน : ประชาธิปไตย เจริญสุข

สถานการณ์บ้านเมืองวันนี้

วันนี้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ๆคือเรื่องเศรษฐกิจ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 1 จนถึงประยุทธ์ 3 เราจะเห็นว่าการปรับ ครม. แต่ละครั้ง ส่วนใหญ่โจทย์เป็น ครม.เศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ การถอนการลงทุนจำนวนมากเป็นปัจจัยจากภายใน ขณะที่ปัจจัยภายนอกวันนี้คือการขึ้นสู่ตำแหน่งประธาธิบดีสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่น้อย ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนปั่นป่วนทั่วโลก รวมถึงไทย ผมคิดว่าตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่และงานหนักของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหา ที่ผ่านมายังไม่เห็นการแก้ปัญหาอะไรที่ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมที่ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหามาโดยตลอดก็ตาม

ส่วนสถานการณ์ที่ 2 ที่รัฐบาลเผชิญคือการสร้างความปรองดอง เป็นโจทย์ใหญ่และโจทย์หลักตั้งแต่หลังการรัฐประหาร ซึ่งความขัดแย้งมาจาก 2 กลุ่มการเมืองใหญ่ แม้รัฐบาล คสช. ตั้ง ป.ย.ป. (คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง) ขึ้นมา แต่ก็มีกระแสข่าวหลายเรื่องที่อาจจะส่งผลกระทบ เช่น สินบนการบินไทย ข่าวการลอบสังหาร พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้อาจเป็นเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดอง ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล คสช. ที่จะเดินต่อไปก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง

เท่าที่ประเมินการดำเนินการของรัฐบาล คสช. ขณะนี้ ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจและความปรองดองยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสร้างความปรองดองยากพอสมควร ระยะเวลาแค่ 2 ปี ถ้าจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็พปี 2561-2562 ถือว่าสั้นและไม่ง่าย การสร้างความปรองดองไม่ใช่แค่ตั้งคณะกรรมการ ก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะกรรมการหลายยุคหลายสมัย ทั้งคณะกรรมการที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุน และคุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธาน รายงานสรุปข้อเสนอดีๆหลายเรื่อง แต่ถึงเวลาก็ไม่นำมาใช้อย่างจริงจัง หรือรายงานของ คอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ) ที่อาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน ทำไปก็ไม่ได้นำมาใช้ แล้วยังมีเงื่อนไขใหม่คือการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมจนเกิดการชุมนุมใหญ่ปี 2556

จะเห็นได้ว่าการสร้างความปรองดองโดยการตั้งคณะกรรมการนั้นไม่สำเร็จเลย ในยุครัฐบาล คสช. ยังใช้แบบเดิมอีกและอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะทำให้เกิดความปรองดองไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ก็ยังไม่เห็นว่าท่าทีของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ข้อเสนอในอดีตจนถึงปัจจุบันจะรับกันได้มากน้อยแค่ไหน อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ก็ยังไม่ชัด ที่สำคัญคือแบบที่จะขับเคลื่อนของ ป.ย.ป. ยังเป็นลักษณะการใช้กลไกของรัฐคือระบบราชการเป็นตัวนำ ก็จะกลายเป็นการปรองดองที่รัฐมีบทบาทนำ แต่สังคมไม่ได้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในกระบวนการปรองดองหรือผลผลิตที่จะออกมาจากการปรองดองเลย

ตรงนี้จะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมคิดว่าคงไม่ง่าย เช่นเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจ วันนี้เศรษฐกิจร้อยละ 70 ของประเทศไทยขึ้นอยู่กับการลงทุนจากต่างประเทศที่เราต้องพึ่งพิงอีกมาก เช่น การตั้งโรงงาน การลงทุนต่างๆ วันนี้ขีดความสามารถในการแข่งขันของหลายประเทศก็อยู่ในระดับเดียวกับเรา หรือดีกว่าเรา ไม่ว่าพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งแต่ละพื้นที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ระดับโลกไปลงทุนได้ทั้งหมด ยิ่งสถานการณ์การเมืองของเราไม่นิ่ง โอกาสที่เศรษฐกิจจะเกิดความเชื่อมั่นก็ยิ่งยาก เมื่อไม่มีความเชื่อมั่น การลงทุนก็ไม่มี

แม้จะทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น แต่รัฐไม่สามารถเก็บภาษีคืนได้ เนื่องจากการบริโภคไม่มี เพราะคนว่างงานมาก การกระตุ้นภาครัฐก็ไม่เป็นประโยชน์เท่าไร เรื่องไทยแลนด์ 4.0 ก็เกิดขึ้นไม่ง่ายถ้าเรายังไม่พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ องค์ความรู้ต้องมาก่อน จากนั้นจึงจะเกิดเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรมเกี่ยวข้องทั้งโครงสร้างของระบบการศึกษา ภาคการผลิตอุตสาหกรรม แรงงาน

ผมขอย้ำว่าตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่มากและจะใช้เวลาแก้ไขในรัฐบาลเดียวไม่ได้ ไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็ไม่ง่าย ตรงนี้เป็นปัจจัยภายใน ส่วนปัจจัยภายนอกเราแทบจะไม่มีบทบาทไปกำหนดอะไรได้เลย ทำให้เรื่องเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก คงไม่วิกฤตเหมือนปี 2540 ที่ต้องไปกู้เงินไอเอ็มเอฟ แต่จะเป็นปัญหาระยะยาวถ้าไม่สามารถแก้โครงสร้างทางการเมืองให้ตอบสนองได้ ปัญหาความเป็นประชาธิปไตยจึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งอย่างน้อยอีก 4-5 ปีเราถึงมีโอกาส

การปราบทุจริตคอร์รัปชัน

มันไม่ได้อยู่ที่มีรัฐธรรมนูญปราบโกงหรือมีรัฐบาลที่มีอำนาจเข้มแข็ง มีอำนาจเด็ดขาด จึงจะทำให้คอร์รัปชันหมดไป แต่เกี่ยวข้อง 3 เรื่องใหญ่ๆคือ 1.โครงสร้างอำนาจรัฐที่รวมศูนย์ ซึ่งรัฐไทยมีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจมาเป็นระยะเวลา 100 กว่าปีแล้ว ทำให้การตัดสินใจกระจุกอยู่กับคนมีอำนาจไม่กี่คนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นโอกาสที่จะเกิดการวิ่งเต้น การล็อบบี้ การเข้าหาผู้มีอำนาจเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ก็จะมีมากขึ้น

ปัจจัยที่ 2 คือโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ยังเป็นระบบอุปถัมภ์ เครือญาติ พรรคพวก เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีที่เอื้ออำนวยต่อการใช้อำนาจที่ทำให้เกิดการทับซ้อนระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล

ประการที่ 3 คือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง รัฐทำให้ประชาชนเชื่อว่ามีส่วนร่วม แต่ก็เป็นการร่วมตามแบบพิธีการ เป็นกรรมการโน่นนี่ในหน่วยงานรัฐ หรือการประชาพิจารณ์ การรับฟังความคิดเห็นต่างๆ แต่จริงๆไม่ได้เกิดขึ้นจากฐานความเห็นของประชาชนเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจเลย
เป็นเพียงพิธีกรรม คนตัดสินใจจริงๆก็คนเดิมๆ คือคนมีอำนาจเพียงไม่กี่คนที่อยู่ในโครงสร้างของการรวมศูนย์อำนาจ

ทั้ง 3 ส่วนคือปัญหาใหญ่ในการปราบคอร์รัปชัน ไม่ใช่เกิดเฉพาะในนักการเมือง บอกว่าการปราบคอร์รัปชันอาจต้องใช้วิธีที่เด็ดขาด ใช้กฎหมายที่รุนแรง แต่ผมไม่เชื่ออย่างนั้น บทพิสูจน์ที่เห็นเป็นรูปธรรมคือดัชนีคอร์รัปชันที่มีการจัดลำดับล่าสุด เห็นแล้วว่าในยุคที่มีมาตรา 44 ใช้ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการอย่างเข้มข้น กำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่ดัชนีชี้วัดก็ยังตกลงไป

แก้ปัญหาไม่สำเร็จอาจยืดอำนาจต่อไป

การแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ไม่ประสบความสำเร็จ ผมคิดว่ามีผลกระทบต่อความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาล เพราะจะทำให้เห็นว่าการปราบคอร์รัปชันเป็นแค่วาทกรรมที่ถูกหยิบยกมาพูดเท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรจริงจัง จะทำให้ความชอบธรรมหรือการยอมรับของประชาชนต่อรัฐบาล คสช. ถดถอยลง และจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในที่สุด ส่วนการแก้ปัญหาความปรองดองก็ไม่สำเร็จ แก้คอร์รัปชันก็ล้มเหลว หรือมีข่าวการลอบสังหาร รัฐบาลทหารจะใช้เป็นข้ออ้างยืดอำนาจต่อไปหรือไม่ ผมคิดว่าก็มีโอกาส เพราะตรงนี้ถือเป็นภารกิจหลักตามโรดแม็พถ้าภารกิจหลักไม่สัมฤทธิผล

หากรัฐบาล คสช. ยืดอำนาจออกไป โดยเลื่อนการเลือกตั้งไปปี 2561 หรือ 2562 ผมคิดว่า คสช. จะมีปัญหารุมเร้ามากขึ้นเรื่อยๆ เสถียรภาพมีปัญหาแล้วยังไม่มีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมอีก โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศจะลดน้อยถดถอยลงแน่นอน ภาคธุรกิจเอกชนก็ต้องย้ายฐานการผลิต ฐานธุรกิจต่างๆออกไป ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกับประเทศในภูมิภาคลดน้อยลง จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน เราไม่สามารถยืนได้ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตัวเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากมายนักในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากนานาชาติอาจมีระดับหนึ่ง แต่คงไม่ได้มากมายกว่าทุกวันนี้

ประชาชนจะออกมาทวงสัญญา

หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก ผมว่าต้องดูเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนต่อการขับเคลื่อนทางการเมือง แต่การทวงสัญญาตามโรดแม็พคงไม่มี ผมเชื่อว่า คสช. คุมสถานการณ์ได้ แต่ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหา คนจะตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของรัฐบาล อันนี้น่าจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวได้มากกว่า

ความขัดแย้งก็ยังดำรงอยู่ต่อไปแน่นอน เพราะมันสะสมมาจากในอดีตหลายกรณี เป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ลงลึกในทุกระดับ ทั้งชนชั้นนำและชุมชนท้องถิ่น การจะแก้ความขัดแย้งตรงนี้ด้วยการมีคนกลางมาพูดคุยจึงไม่ง่ายเหมือนความขัดแย้งคู่กรณี 2 ฝ่าย

มันเป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวข้องหลายประการและมีมิติที่ซับซ้อน แก้ปัญหาระยะสั้นไม่ได้ หรือใช้เพียงแค่ตั้งคณะกรรมการ ต้องใช้รูปแบบของสภาต่างๆที่มีหลายแนวทาง เช่น ตูนิเซียไดอะล็อกที่ได้รับรางวัลโนเบลก็น่าสนใจ หรือในติมอร์ตะวันออก เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

มีโอกาสเกิดรัฐประหารอีกหรือไม่

ผมคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ เพราะในสังคมไทยเรื่องรัฐประหารมีความเสี่ยงตลอดเวลาอยู่แล้วตราบใดที่กองทัพยังมีบทบาททางการเมือง ตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมากองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด บทบาททางการเมืองของกองทัพไม่ได้หายไปไหน แม้บางช่วงจะมีลักษณะการขึ้นมามีอำนาจผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ถึงเวลาวิกฤตก็กลับมามีอำนาจอีกด้วยการทำรัฐประหาร สลับกันไปมาในแต่ละช่วงเวลา การจะเกิดประชาธิปไตยที่ฝังรากลึกจริงๆ ประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียว ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อเป็นเช่นนี้การเคลื่อนไหวของมวลชนก็จะอำนวยให้เกิดการเข้ามาใช้อำนาจของกองทัพ ของทหารในการทำรัฐประหารทุกครั้ง ซึ่งมีปัจจัยที่เกื้อหนุน เช่น 1.เรื่องที่กองทัพมีระบบอาวุโส ลำดับชั้นในการบังคับบัญชา เรื่องของรุ่น เรื่องของสีต่างๆ 2.กองทัพเป็นหน่วยเดียวในสังคมที่ถืออาวุธ เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งย่อมมีมากกว่า และ 3.เราไม่ได้มีการสร้างประชาธิปไตยที่ฝังรากลึกหรือประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียวได้เลย

แม้คนส่วนหนึ่งเห็นว่าประชาธิปไตยคือทางออก แต่คนอีกส่วนหนึ่งก็บอกว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ทางออก ต้องใช้กำลังเข้ามาจัดการกับพวกนักการเมืองที่คอร์รัปชัน ในเมื่อความเห็นของคนในสังคมไม่ตรงกัน โอกาสที่จะมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและเกิดปรากฏการณ์เช่นในตุรกีที่ต่อต้านการรัฐประหารก็ไม่มี เมื่อคนส่วนหนึ่งยังนิยมการแก้ปัญหาด้วยรัฐประหารอยู่

ดังนั้น ผมเชื่อว่าด้วยเงื่อนไข 2-3 อย่างนี้ เอื้ออำนวยให้การรัฐประหารในประเทศไทยมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ตลอด ยิ่งกองทัพมีเอกภาพก็จะทำให้การรัฐประหารยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะในความเป็นเอกภาพเราไม่รู้ว่าภายในนั้นมีเอกภาพมากน้อยแค่ไหน อย่างไร การแต่งตั้งโยกย้ายในแต่ละปีสะท้อนให้เห็นว่ามีการพูดคุยกันภายใน ถ้าเงื่อนไข 2-3 อย่างยังไม่ถูกคลี่คลาย รัฐประหารก็มีความเสี่ยงได้ตลอด ตราบใดที่อำนาจยังอยู่กับทหารต่อไปเรื่อยๆ


You must be logged in to post a comment Login