วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เคลื่อนไหวการเมืองสู่เป้าหมาย? / โดย Pegasus

On February 21, 2017

คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus

แม้ตอนนี้จะเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มานานแล้ว แต่บรรยากาศการเมืองไทยกลับไม่ต่างจากศตวรรษก่อน หรืออาจก่อนหน้านั้น บางทีบทเรียนทางการเมืองเก่าๆต้นศตวรรษก่อนอย่างการปฏิวัติรัสเซียและการปฏิวัติจีนอาจมีประโยชน์สำหรับสังคมไทยขณะนี้ก็ได้

ประเด็นที่จะนำเสนอมีเรื่องเดียวคือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเลนินและเหมา เจ๋อตุง ที่ประสบผลสำเร็จคือการบรรลุเป้าหมายในการปฏิวัติ คือการเคลื่อนไหวทางการเมืองในทุกโอกาสที่มี

ทั้งเลนินและเหมา เจ๋อตุง จะไม่ละเว้นหรือบอยคอตการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใดๆเลยแม้รู้ว่าจะพ่ายแพ้ แต่จะอาศัยเหตุนั้นแสดงให้สมาชิกของตนเห็นว่า ความไม่เป็นธรรม การกดขี่ ขูดรีดเป็นอย่างไร ถ้าจะสู้ให้ชนะต้องจัดตั้ง ต้องรวมตัวกันอย่างไร มิฉะนั้นก็จะพ่ายแพ้ซ้ำซากอย่างที่เห็น

การบอยคอตทางการเมืองจะทำให้เราหมดโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงกับมวลชน หมดโอกาสในการโฆษณา เลนินถึงกับเขียนบันทึกไว้ว่า การที่พรรคบอลเชวิกบอยคอตการเลือกตั้งนั้น ทำให้ชัยชนะของพรรคต่อการปฏิวัติบอลเชวิกล่าช้าออกไปหลายปีอย่างน่าเสียดาย

เหมา เจ๋อตุง ก็ไม่ต่างกัน ในทุกการเคลื่อนไหว ทั้งความร่วมมือกับเจียง ไคเช็ค ในการต่อต้านญี่ปุ่น การเคลื่อนไหวของกรรมกรหรือชาวนา ล้วนอยู่ในการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งสิ้น แม้ตอนแรกจะพ่ายแพ้เพราะยุทธศาสตร์ผิดพลาดในการรบแบบยึดพื้นที่จนถูกกวาดล้างแทบหมดสิ้น แต่เพราะยุทธศาสตร์เปลี่ยนไปเข้าหามวลชนด้วยการโฆษณาชวนเชื่อแสวงหาสมาชิกและจัดตั้งไปเรื่อยๆ โดยใช้การรบแบบกองโจร ไม่ปะทะตรงๆ และรบยืดเยื้อจนกว่าจะมีกำลังเหนือกว่าฝ่ายของเจียง ไคเช็ค ทำให้ในที่สุดได้ชัยชนะด้วยการบุกเพียงครั้งเดียว
ตอนนี้คนไทยใช้ยุทธศาสตร์รอคอยและคอยดูมานานแสนนานแล้ว ยังสงสัยว่าเมื่อไรจะมีการขยับตัวจากหน้าจอโทรทัศน์หรือโซเชียลมีเดียมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างคึกคักกันอีกสักครั้ง ลืมความคิดที่จะรอให้โชคดีลอยมาหาเองอย่างที่หลงงมงายมานาน

การเคลื่อนไหวทางการเมืองคงไม่ได้หมายถึงการมาชุมนุมหรือแสดงสัญลักษณ์อะไรกันมากมาย แต่สามารถใช้โอกาสที่เกิดขึ้นมาให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไม่ต้องเกรงกลัวการถูกจับ โอกาสที่เห็นและควรใช้ประโยชน์ได้มีหลายเรื่อง เช่น การฉวยโอกาสทบทวนเรื่องรัฐธรรมนูญและนักวิชาการบางส่วนพยายามนำเสนอรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมก็ควรจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อยเล็กๆ ซึ่งไม่ผิดข้อห้าม แล้ววิจารณ์ จากนั้นก็เสนอแนวทางที่ต้องการกับผู้เกี่ยวข้อง ถ้าไม่รับก็นำมาวิจารณ์เผยแพร่ให้ทุกคนเข้าใจว่าเกิดจากอะไร เป็นต้น ไม่ควรตามกระแสที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ลืมสิ่งที่สำคัญกว่าไปเสียก่อนเช่นนี้

ล่าสุดคือเรื่องการปรองดอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี สมควรที่ทุกฝ่ายจะมีส่วนร่วม แต่สุดท้ายก็กลายเป็นการสั่งการจากฝ่ายเดียว หลับหูหลับตาคิดเองเออเองไปข้างเดียว โดยไม่มีใครเข้าไปแสดงตัวว่าความปรองดองที่สมควรนั้นเป็นอย่างไร ควรมีใครเป็นองค์ประกอบบ้างนอกจากเครือข่ายทหาร หากปล่อยไปเช่นนี้ก็จะไม่เกิดความปรองดองที่แท้จริงขึ้นมาได้ มีแต่ซื้อเวลาไปเรื่อยๆอย่างไร้ประโยชน์

แต่หากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะสร้างสรรค์ ความปรองดองซึ่งเป็นสิ่งดีก็จะเป็นประโยชน์สำหรับชาติบ้านเมือง ในอนาคตอาจบรรลุเป้าหมาย สามารถสร้างความยุติธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับให้เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่การยอมเอาตัวเองไปรับใช้และทรยศต่ออุดมการณ์หรือต่อผู้คนที่ล้มตาย แต่เพื่ออนาคตที่เป็นธรรม

โอกาสอื่นๆทางการเมืองที่เป็นการริเริ่มจากฝ่ายรัฐบาลเองก็สามารถเข้าร่วมได้ หากเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับประชาชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชน โดยให้ความรู้หรือทำการโฆษณาในสิ่งที่ถูกต้องกว่า ให้การศึกษาระบอบประชาธิปไตยก่อนจะถูกกลืนเป็นระบอบเผด็จการอย่างสมบูรณ์แบบด้วยการโฆษณาชวนเชื่ออย่างประเทศคอมมิวนิสต์ที่ผู้นำมีความสุข ประชาชนอดอยากจนเป็นที่น่าสมเพชของคนภายนอก แต่คนภายในกลับถูกปิดหูปิดตา พร่ำพูดอยู่ตลอดเวลาว่ามีความสุข

วันนี้จึงต้องตื่นขึ้นมาแล้วเริ่มทบทวนบทบาททางการเมืองใหม่แบบสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นการตั้งต้นอย่างถูกต้องถูกทางเพื่อบรรลุสู่เป้าหมายประชาธิปไตยให้ได้ โดยต้องจำไว้เสมอว่าประชาธิปไตยไม่เคยได้มาด้วยการขอ ต้องแย่งชิงเอาเท่านั้น


You must be logged in to post a comment Login