วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ร้านหนังสือกับห้องเรียนเพศวิถี / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On February 21, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ที่จังหวัดปัตตานีมีร้านขายหนังสือน่ารักและแตกต่างร้านหนึ่ง ซึ่งตั้งใจจะขายหนังสือทางเลือกและสนับสนุนประชาธิปไตย ชื่อว่า “บูคู” ภาษายาวีแปลว่า “หนังสือ” ดำเนินการโดยสตรี 2 คนคือ ดาราณี ทองศิริ อดีตผู้ช่วยในร้านหนังสือก็องดิดต์ และอันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ร้านหนังสือเปิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ย้ายมาอยู่ที่ถนนสามัคคีสาย ข. ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 อุดมการณ์หนึ่งของร้านคือแนวคิดที่ว่าการอ่านจะทำให้คนเข้าใจกันมากขึ้น และอาจมีส่วนช่วยลดความรุนแรงทางการเมืองให้เกิดบรรยากาศสันติวิธี ดังนั้น นอกเหนือจากการขายหนังสือก็จะมีการจัดกิจกรรม เช่น ฉายหนัง เสวนาเกี่ยวกับการอ่านหรือสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

หลังจากเปิดร้านขายหนังสือแล้วก็ได้พบประเด็นที่น่าสนใจคือ คนอ่านที่ซื้อหนังสือส่วนมากเป็นชาย หมายถึงการอ่านหนังสือของผู้หญิงใน 3 จังหวัดมีอัตราไม่มากนัก น่าจะเป็นเพราะศาสนาและวัฒนธรรมที่ขีดเส้นให้ผู้หญิงมุสลิมอ่านหนังสือศาสนาเป็นหลัก มีส่วนน้อยที่ฉีกมาอ่านเรื่องการเมืองและสังคม ซึ่งนำมาสู่ความสนใจในปัญหาสตรีและเพศวิถีมากยิ่งขึ้น

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ร้านบูคูเริ่มกิจกรรมการเปิด “ห้องเรียนเพศวิถี” วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องเพศภาวะ เพศวิถี และความรุนแรงทางเพศ เพื่อสร้างความรู้ให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาที่ถูกละเลยมานาน และสนับสนุนการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนที่มีเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย โครงการนี้มีกิจกรรมศึกษาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแนวการจัดการเรียนรู้อิงฐานคิดของหลักสิทธิมนุษยชนสากลและแนวทางแบบสตรีนิยม

ภายใต้โครงการศึกษานี้นำมาสู่การจัดตั้งทีมฟุตบอลบูคูเอฟซี ในวันที่ 13 สิงหาคม 2559 “ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม” เน้นส่งเสริมให้ผู้หญิงได้ออกกำลังกายและแสดงออก ทีมประกอบด้วยหญิงมุสลิม ผู้ชาย และผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยอันธิฌาอธิบายว่า ฟุตบอลถูกมองว่าเป็นกีฬาของผู้ชายและพื้นที่ของผู้ชาย ผู้หญิงมักไปสนามฟุตบอลเพียงแค่ไปดูไปเชียร์ ทั้งที่ฟุตบอลใครก็เตะได้

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 กลุ่มร้านบูคูได้มาออกรายการสารคดีก(ล)างเมือง ตอน “ห้องเรียนเพศวิถี” ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อให้โครงการเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่กลายเป็นชนวนสำคัญที่นำมาสู่ข้อขัดแย้งและการต่อต้านกิจกรรมของร้านบูคู โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ โดยโชคชัย วงษ์ตานี นักวิชาการด้านสันติศึกษา ได้โพสต์ข้อความวันที่ 9 กุมภาพันธ์ว่า “เตะบอลในที่ลับตาไม่มีใครว่า แต่มาสอนให้รักร่วมเพศที่ปาตานี โปรดหยุดเถอะ” ข้อความนี้ถูกแชร์และนำมาสู่การโจมตีกิจกรรมห้องเรียนเพศวิถีและฟุตบอลบูคูเอฟซี โดยเฉพาะการกล่าวอ้างเรื่องรักร่วมเพศนั้นขัดหลักของศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับเรื่องฟุตบอลหญิงก็ไม่ใช่บทบาทอันควรของสตรีมุสลิม

กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก เพราะในสังคมที่มีเสรีภาพ ประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น คำที่ใช้เรียกกลุ่มนี้คือ LGBTI โดย L ย่อมาจาก Lesbian (หญิงรักหญิง) G-Gay (ชายรักชาย) B-Bisexual (คนที่รักได้ทั้ง 2 เพศ มีทั้งชายและหญิง) T-Transgender (คนข้ามเพศ ซึ่งมีทั้งข้ามจากชายเป็นหญิงและหญิงเป็นชาย) และ I-Intersex คือกลุ่มที่มีเพศกำกวม ในสังคมสมัยดั้งเดิมถือว่าลักษณะเพศสภาพเหล่านี้เป็นความวิปริต ผิดปรกติของมนุษย์ ศาสนาทั้งหลายที่เกิดในยุคศักดินามักมีหลักการไม่ยอมรับ เพราะถือว่าผิดหลักธรรมชาติที่ชายจะต้องคู่กับหญิงเท่านั้น

แต่ในสังคมสมัยใหม่ องค์ความรู้เกี่ยวกับเพศสภาพเปลี่ยนแปลงไป ในทางสังคมวิทยาสมัยใหม่ถือว่าวัฒนธรรมทางเพศมิได้เป็นสิ่งที่แข็งทื่อตายตัว แต่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การต่อรอง อันนำมาสู่การผสมผสาน เปลี่ยนผ่าน และหยิบยืม แต่ปัญหาความคิดเรื่องเพศสภาพแบบเดิมคือการตอกตรึงไว้ภายใต้แนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ อนุรักษ์นิยมและชาตินิยมอันคับแคบ และใช้อำนาจทางสังคมและการเมืองมาควบคุมลักษณะเพศสภาพให้เป็นแบบเดียว ส่งผลให้ผู้คนในสังคมมองเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนแต่ละเพศไม่เท่าเทียมกัน

มีการกีดกันให้กลุ่มเพศสภาพอื่นกลายเป็นคนชายขอบ มีการกดขี่ การควบคุมจัดการเนื้อตัวร่างกาย แม้กระทั่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงระหว่างกันทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรูปของความรุนแรงทางตรง หรือแนบเนียนซ่อนเร้นในนามของความรักความปรารถนาดี หรือในนามของการสงวนรักษาคุณค่าบางอย่างของสังคม เช่น กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือหลักธรรมของศาสนา ทั้งที่วัฒนธรรมและจารีตทางเพศในลักษณะนี้เป็นลักษณะที่บิดเบี้ยว ทำให้บุคคลต้องเก็บกดซ่อนอัตลักษณ์ หรือใช้การโกหกบิดเบือน ซึ่งเป็นการขัดลักษณะทางธรรมชาติ

ดังนั้น แนวคิดเกี่ยวกับเพศสภาพปัจจุบันจึงถือว่าความแตกต่างของรสนิยมทางเพศเป็นเรื่องความแตกต่างทางธรรมชาติ ใครจะรักกับเพศไหน อย่างไร ก็เป็นเสรีภาพ เป็นสิทธิส่วนตัวที่ควรได้รับการเคารพ ในหลายประเทศมีการออกกฎหมายรองรับเพศสภาพเหล่านี้ การบังคับเพศสภาพตามใจสังคมหรือบังคับตามกฎเกณฑ์จารีตนิยมเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเข้าใจผิดอย่างสำคัญในที่นี้คือ ความเชื่อที่ว่าเพศสภาพแบบอื่นที่อ้างว่าเบี่ยงเบนหรือการรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ “สอน” กันได้ ซึ่งไม่มีข้อพิสูจน์ใดรองรับความเชื่อนี้

เช่นเดียวกับการเล่นฟุตบอลหญิงก็เป็นเรื่องปรกติธรรมดา ปัจจุบันมีการแข่งขันฟุตบอลหญิงระดับโลก แม้จะไม่เป็นที่นิยมเท่าฟุตบอลชาย การตั้งทีมฟุตบอลหญิงจึงไม่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างไร ถ้าหากพิจารณาเรื่องการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ น่าจะเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนด้วยซ้ำ

ดังนั้น จึงควรสนับสนุนและเอาใจช่วยกิจกรรมร้านบูคูที่ปัตตานีต่อไป ต้องรณรงค์ต่อต้านทรรศนะเชิงลบต่อกลุ่ม LGBTI และถือว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของการถอดรื้อกำแพงอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย ไม่ว่าจะมาจากศาสนาใด เพื่อสร้างความเป็นสมัยใหม่ให้กับสังคมไทยอย่างแท้จริง


You must be logged in to post a comment Login