วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ประเทศนี้โคตรแปลก สิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ปรารถนามักไม่ได้ / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

On February 23, 2017

คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ อะไรก็ตามที่ประชาชนส่วนใหญ่อยากได้เพราะเป็นการเอื้ออำนวยแก่ประชาชนโดยรวมมักไม่ได้ ประชาชนคือเจ้าของประเทศหรือไม่ ผมมีตัวอย่างให้ดูคือ 1.โรงไฟฟ้ากระบี่ ประชาชนในพื้นที่กว่า 90% สนับสนุน 2.กระเช้าขึ้นภูกระดึง ชาวภูกระดึง 97% เรียกร้อง 3.เขื่อนแม่วงก์ ชาวนครสวรรค์ 79% เรียกร้อง และ 4.เหมืองทอง 78% ของชาวบ้านต้องการให้อยู่ต่อ

สิ่งที่ NGOs กฎหมู่ คนถ่อยเถื่อน คนส่วนน้อยขัดขวางมักสำเร็จ จัดการกันโดยละมุนละม่อม ไม่ให้กระเทือนซางกัน ขนาดยกพวกมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ศูนย์อำนาจและกล่องดวงใจรัฐบาล นายกรัฐมนตรียังต้องหนีออกทางประตูข้าง

กรณีโรงไฟฟ้ากระบี่

ขนาดประชาชนกว่า 90% ในพื้นที่สนับสนุน แต่คนคัดค้านมีเพียงหยิบมือเดียวกลับสามารถคัดง้างได้ ดูอย่างมาเลเซียมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 แห่งคือ 1.โรงไฟฟ้าแมนจุง ตั้งอยู่ใกล้กับรีสอร์ตหรูและชุมชน อยู่ติดชายทะเลและห่างจากโรงไฟฟ้ากระบี่เพียง 455 กิโลเมตร 2.โรงไฟฟ้าจิมาห์ ก็ตั้งอยู่ติดทะเล อยู่ใกล้เขตเมือง มีรีสอร์ตหรูและโรงแรมตั้งอยู่ใกล้ๆจำนวนมากมาย ขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่ห่างจากทะเลถึง 10 กิโลเมตร

3.โรงไฟฟ้าเคพีเออาร์ ตั้งอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์เพียง 56 กิโลเมตร ถ้าไม่ปลอดภัยจากมลพิษคงไม่สามารถตั้งอยู่ได้ และ 4.โรงไฟฟ้าตันจุงบิน ตั้งอยู่ห่างจากสิงคโปร์เพียง 9 กิโลเมตร มีท่าเรือขนาดยักษ์ตั้งอยู่บนพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย แต่กรณีของไทยกลับถูกทำให้เชื่อว่าพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นเสมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่แตะต้องมิได้

โรงไฟฟ้ากระบี่เปิดดำเนินการในช่วงปี 2507-2538 โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่มีคุณภาพต่ำกว่าถ่านหินบิทูมินัส แต่จำนวนรีสอร์ตหรูกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กรณีกระเช้าขึ้นภูกระดึง

ประชาชนในพื้นที่ประมาณ 97% ต้องการให้สร้างกระเช้าไฟฟ้า แสดงถึงมติมหาชนที่ต้องเคารพ และเป็นการแสดงถึงภูมิปัญญาของประชาชนที่ผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเองว่ากระเช้าไฟฟ้ามีประโยชน์จริง ไม่เฉพาะแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่มีประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศที่มาใช้บริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้ทางราชการนำเงินมาอนุรักษ์ธรรมชาติและป่าไม้จนก่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ความต้องการของประชาชนภูกระดึงจึงไม่ใช่การครอบครองทรัพยากรของชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนถ่ายเดียว

ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สมบูรณ์เหมาะที่จะก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า เพื่อศึกษาเรียนรู้ชื่นชมธรรมชาติโดยไม่แตะต้อง (คงไม่มีใครสร้างกระเช้าขึ้นภูหัวโล้น) การพัฒนาที่ดีจะสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืนและมีคุณภาพยิ่งขึ้น แม้แต่ลูกหาบก็ได้ประโยชน์จากการที่กิจการท่องเที่ยวดีขึ้น ยิ่งกว่านั้นในอนาคตยังสามารถพัฒนาจัดระเบียบการค้าและบริการเพิ่มมูลค่าเช่นเดียวกับในต่างประเทศ ทำให้ทางราชการมีทรัพยากรเพียงพอต่อการส่งเสริมการปลูกป่าและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า

กรณีเขื่อนแม่วงก์

ประชาชนถึง 79% ต้องการให้สร้าง ยิ่งถ้าเป็นชาวนาอาจกล่าวได้ว่าแทบจะ 100% เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ อย่างเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนรัชชประภา ฯลฯ เป็นประโยชน์ทั้งต่อป่าไม้ที่จะมีผืนน้ำ 13,000 ไร่มาหล่อเลี้ยงแทนคลองเล็กๆ ในพื้นที่ก็จะมีน้ำไว้ดับไฟป่าที่เกิดขึ้นนับร้อยครั้งต่อปี การนำพื้นที่ 0.1% ของผืนป่ามาทำเขื่อนจะยิ่งทำให้ป่าไม้ขยายตัว

เมื่อป่ารกชัฏก็จะมีอาหารให้สัตว์ป่าอยู่ได้มากขึ้น สัตว์ป่าก็จะยิ่งมีมากขึ้นอีก ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาภัยแล้ง มีระบบชลประทานที่ดี สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้ ขณะนี้ธนาคารโลกก็สนับสนุน เพราะลดโลกร้อน รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ในการทำน้ำประปา ประมง และท่องเที่ยว เป็นต้น

ความสูญเสียจากการไม่มีเขื่อนแม่วงก์มีมหาศาล ประชาชนต้องขุดบ่อบาดาลเอง โดยเสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นบาท น้ำที่ได้ก็มีสนิม ไม่อาจดื่มได้ ในกรณีน้ำท่วมชาวนาต้องรีบเกี่ยวข้าวและขายขาดทุนเหลือเกวียนละ 3,000-4,000 บาท แต่ละปีรัฐบาลต้องชดเชยให้ประชาชนในพื้นที่จากภัยแล้งและน้ำท่วมหลายร้อยล้านบาทต่อปี

กรณีเหมืองทองอัครา

ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 78% หรือ 4 ใน 5 ต้องการให้เหมืองทองเปิดดำเนินการต่อ มีเพียงส่วนน้อย 22% ที่เห็นควรให้ปิดเหมืองตามคำสั่งของทางราชการ แง่หนึ่งคือคนส่วนน้อย (ซึ่งก็พึงรับฟัง) แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นกลุ่มบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลโดยตรงจากการอยู่อาศัยในพื้นที่ ประชาชนไม่ได้เสียชีวิตเพราะเหมือง

ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต เช่น กรณีนายสมคิด ธรรมพเวช เสียชีวิตจากสาเหตุปอดอักเสบบวมและภาวะลิ่มเลือดอุดตันในเนื้อปอด ไม่มีสาเหตุมาจากการทำงานในเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยภริยานายสมคิดระบุว่า มีผู้ไม่หวังดีแอบอ้างการเสียชีวิตของสามีตนนำไปเป็นข้ออ้างในการต่อต้านเหมืองแร่ทองคำชาตรี นอกจากนี้ยังมีการไปแอบอ้างรับบริจาคเงินด้วย โดยที่ตนและครอบครัวไม่ได้อนุญาตและไม่ได้รับเงินที่รับบริจาค

โดยสรุปแล้วการที่รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองความต้องการความจำเป็นของคนส่วนใหญ่จะทำให้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะลำบาก ประชาชนก็ได้รับความยากลำบาก รัฐบาลจึงควรฟังเสียงประชาชนบ้าง


You must be logged in to post a comment Login