วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ศรัทธา-ความเสี่ยง / โดย ลอย ลมบน

On February 27, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : ลอย ลมบน

“ตอนนี้พี่เกษียณแล้ว ขออยู่อย่างสงบเถอะ จะเอาอะไรกับพี่นักหนา”

เป็นคำพูดตบท้ายการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นน้องชายของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากสื่อไปขอความเห็นกรณีถูกศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพเปิดเผยข้อมูลว่าเป็น 1 ใน 7 สนช. ที่ลาการลงมติจนอาจขาดจากความเป็นสมาชิกภาพ สนช.

แม้จะมีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่าจำนวนวันขาดประชุมลงมติมากกว่าจำนวนวันที่ไปเข้าร่วมประชุม แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยืนยันชัดเจนว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ทั้งตามกฎหมายและข้อบังคับการประชุมสภาที่ให้สมาชิกยื่นใบลาได้ไม่จำกัดจำนวนวัน และเมื่อยื่นใบลาแล้วถือว่าไม่ได้ “ขาดงาน”

ถึงจะมีข้อเรียกร้องให้เปิดเผยหนังสือลาว่าส่งถูกต้องครบถ้วนจริงหรือไม่ หรือเหตุผลในการลาสมควรต่อเหตุหรือไม่ แต่เบื้องต้นผู้เกี่ยวข้องประสานเสียงยืนยันชัดเจนว่าเปิดเผยไม่ได้ ยืนยันได้อย่างเดียวว่ายื่นลาถูกต้องตามกฎหมาย ตามข้อบังคับการประชุม

เมื่อมีผู้ไปยื่นให้สอบจริยธรรมของ สนช. ทั้ง 7 คน จึงต้องมีการสอบอย่างเสียไม่ได้ เพราะหากไม่ทำจะเสี่ยงต่อการละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ขั้นตอนการตรวจสอบของสภาแบ่งเป็นการตรวจสอบคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมของ สนช. 7 คนว่ายื่นมาถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้องจึงเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามคำร้อง โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ขั้นตอนคือ

1.สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นมีระยะเวลา 30 วัน และ 2.การตรวจสอบจริยธรรมมีระยะเวลา 60 วัน โดยจะต้องเชิญทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องมาให้ข้อมูลและชี้แจงต่อคณะกรรมการ

สรุปเบื้องต้นจะใช้ระยะเวลาตรวจสอบ 90 วัน

แม้จะมีการตรวจสอบตามคำร้อง แต่ดูเหมือนว่าผู้ที่รับหน้าที่ตรวจสอบจะเทน้ำหนักไปที่การตรวจสอบคำร้องที่ยื่นเข้ามาก่อนว่ายื่นมาอย่างถูกต้องหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีความพยายามชี้แจงในทำนองที่ว่า สนช. ทั้ง 7 คนเป็นข้าราชการที่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบมาก บางคนแม้จะเกษียณไปแล้วแต่ยังมีส่วนในการมาทำงาน สนช. ด้วยการร่วมลงพื้นที่ตามโครงการ สนช. พบประชาชนด้วย

คำชี้แจงยังคงให้น้ำหนักไปที่ไม่มีเวลาเข้าประชุมเพราะติดภารกิจอื่น

ไม่เข้าประชุมเพื่อลงมติในสภาเพราะติดภารกิจอื่นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

แต่การยื่นใบลางานถึง 394 วัน จากวันทำงาน 400 วัน โดยยังรับเงินเดือนและผลตอบแทนอื่นเต็มจำนวนก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก

ที่เข้าใจยากเพราะสังคมอยากรู้ว่าเมื่อมีภารกิจอื่นมากมายทำไมไม่ปฏิเสธการรับตำแหน่งตอนที่ได้รับการติดต่อทาบทาม

เมื่อรู้ว่ามีภารกิจอื่นมากมายทำไมไม่พิจารณาตัวเองด้วยการลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีเวลาทำงานในสภาได้อย่างเต็มที่เข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนในการพิจารณาออกกฎหมายตามที่ชอบกล่าวอ้างกัน

นอกจากจำนวนวันลาที่มากกว่าวันทำงานแล้ว ขณะนี้ประชาชนยังอยากรู้ด้วยว่าวันทำงานอันน้อยนิดที่เสียสละเวลาอันมีค่าไปนั่งประชุมสภานั้น สนช. เหล่านี้ได้ยกมือเพื่อขออภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. บ้างหรือไม่

หรือแค่มาลงชื่อแล้วกลับบ้านโดยที่ไม่เคยอภิปรายแสดงความคิดเห็นใดๆต่อที่ประชุมเลย

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สนช. ที่ขาดประชุมสภาเป็นว่าเล่นเหล่านี้นอกจากควบตำแหน่งข้าราชการประจำกับ สนช. แล้ว ยังมีตำแหน่งในหน่วยงานอื่นอีกหรือไม่

หากยังมีตำแหน่งอื่นอีกก็น่าตามไปดูว่าตำแหน่งอื่นที่มีนั้น จำนวนวันที่เข้าไปทำหน้าที่กับจำนวนวันลางานอย่างไหนมีมากกว่ากัน

ต้องไม่ลืมว่าที่เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมาได้เพราะที่ผ่านมามีการกล่าวหาโจมตีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตลอดเวลาว่าไม่ค่อยเข้าประชุมสภา เอาเวลาของสภาไปทำงานอื่น เบียดบังภาษีประชาชน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

แม้แต่คนเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีที่มีภารกิจมากก็ไม่พ้นคำครหานี้

นอกจากนี้มีคำครหาเรื่องสภาผัวเมีย สภาพี่น้อง ผัวเป็น ส.ส. เมียเป็น ส.ว. หรือแต่งตั้งคนใกล้ตัวรับตำแหน่งที่ปรึกษาประจำตัว ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ผู้ติดตามหรือผู้ช่วยประจำตัว

แต่หลังรัฐประหารยึดอำนาจสิ่งต่างๆเหล่านี้กลับยังมีอยู่ตามปรกติ อะไรที่ว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไว้ยังเกิดขึ้นในสภาที่มาจากการแต่งตั้งของผู้ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลเลือกตั้ง

ไม่เพียงพฤติกรรมในสภาที่เข้าตำราว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย การประมูลงาน การรับคนเข้ารับราชการ ก็ถูกเปิดเผยเป็นระยะว่าไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่นักการเมืองทำแล้วถูกกล่าวหาว่า “ชั่ว-เลว”

ทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับคำสวยหรู “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

หากอยากกู้ศรัทธา กู้ความรู้สึกประชาชนให้เชื่อว่าเข้ามาเพื่อ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ผลตรวจสอบ 7 สนช. เบื้องต้นที่จะออกมาสุดสัปดาห์นี้หวังว่าคงไม่ออกมาในทำนองว่าคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมถูกยื่นเข้ามาไม่ถูกต้องตามกฎระเบียบ

หากสรุปออกมาทำนองนี้ก็ต้องแจ้งให้คนยื่นเรื่องรับรู้ด้วยว่าที่ไม่ถูกกฎระเบียบนั้นไม่ถูกอย่างไร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นเรื่องยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบเข้ามาใหม่

อย่าให้จบง่ายๆแค่ว่าคำร้องให้ตรวจสอบไม่ถูกต้อง

เพราะถ้าเรื่องจบง่ายแบบนี้อาจเป็นเชื้อไฟทลายห้างอำนาจให้พังไวก็เป็นได้

หากยังอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นกับคำโฆษณาชวนเชื่ออันสวยหรูที่ว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

กรณีนี้แม้ผลการสอบสวนจะสรุปออกมาว่าไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะยื่นใบลาครบตามที่กฎหมายและข้อบังคับการประชุมกำหนด แต่ควรห้อยติ่งผลตรวจสอบว่าให้ สนช. ที่มีสถิติขาดประชุมมากกว่าเข้าประชุมพิจารณาตัวเอง

นี่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะใช้เรียกความเชื่อมั่น “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” กลับมาได้บ้างไม่มากก็น้อย


You must be logged in to post a comment Login