วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

สหรัฐกับไทยยุค‘ทรัมป์’

On March 2, 2017

ความจริงที่ปรากฏเป็นข่าว ระหว่างประเทศไทยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ คือสื่อของไทย รวมทั้งรัฐบาล และนักวิเคราะห์หลายภาคส่วน ติดตามความเคลื่อนไหวของทรัมป์อย่างเกาะติด

ตรงกันข้ามกับทรัมป์ ที่ไม่เคยเอ่ยถึงประเทศไทยผ่านสื่อแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ

ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่ง ฟันธงอย่างตรงไปตรงมาว่า ผู้นำสหรัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับไทย

เบนจามิน ซาแวกกี นักวิเคราะห์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเอเชีย โดยเฉพาะข้อมูลประเทศไทยและพม่า ไม่ได้ชี้ชัดว่าผู้นำสหรัฐเมินประเทศไทย

แต่เขียนบทความเผยแพร่ในสื่อชั้นนำออนไลน์ของต่างประเทศหลายสำนัก ระบุเป็นนัยไปในทิศทางดังกล่าว พร้อมกับให้ข้อมูลเชิงเสนอแนะรัฐบาลสหรัฐทำนองว่า “ไม่ควรมองข้ามประเทศไทย”         

ปัจจุบัน ซาแวกกีทำงานเป็นนักวิจัยและนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ในไทย เขียนหนังสือพ็อกเกตบุ๊คชื่อ “Thailand : Shifting Ground Between the US and a Rising China” กำหนดจำหน่ายทั่วโลก เดือนมิถุนายนนี้

ซาแวกกีมองว่า สหรัฐดูไม่ค่อยจริงจังต่อการเพิ่มความสัมพันธ์กับไทยมานาน ขณะที่จีนยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับไทยเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ทั้งด้านการค้าการลงทุน และด้านการทหาร

ทำให้จีนเข้ามาแทนที่สหรัฐอย่างช้าๆ ในบทบาทเป็น “พี่เลี้ยง” ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคง และมีแนวโน้มจะกลายเป็น “พี่เลี้ยง” แทนสหรัฐเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้

นักวิเคราะห์ชาวอเมริกันมองว่า ประเทศไทยมีเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่ง คือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน ที่มีความสัมพันธ์กับจีน และไม่มีความขัดแย้งด้านสิทธิการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งดูแลโดยกองทัพเรือสหรัฐ

นอกจากนั้น ไทยยังไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาขัดแย้งระหว่างจีนกับหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งสหรัฐ กรณีการอ้างกรรมสิทธิ์หมู่เกาะในทะเลจีนใต้

ดังนั้น ซาแวกกีจึงมองว่า ไทยน่าจะอยู่ข้างจีน หากเกิดความขัดแย้งถึงขั้นวิกฤตระหว่างจีนกับสหรัฐ เกี่ยวกับสิทธิการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา และกรณีหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

ซาแวกกีตั้งคำถามไปยังรัฐบาลสหรัฐ โดยเฉพาะทรัมป์ว่า ควรจะเปลี่ยนท่าทีต่อไทยหรือไม่

ขณะเดียวกัน ซาแวกกีก็คาดว่า ไทยน่าจะถูกจูนเข้าสู่ “จอเรดาร์” ของทรัมป์ในอีกไม่นาน


You must be logged in to post a comment Login