วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

กรรมกรสร้างชาติ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On March 6, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ภัยแล้งทำให้เกษตรกรหอบหิ้วครอบครัวเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่เป็นจำนวนมาก จนเกิดภาวะคนล้นงานและนำไปสู่ปัญหาทางสังคมมากมาย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สงครามโลก กรรมกรเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ปลายศตวรรษที่ 19 ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลกันเข้ามาจับจองที่ดินทำกินในเขตรัฐตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐโอคลาโฮมาและเทกซัส เพราะเป็นเขตที่มีฝนตกชุก เหมาะกับการทำเกษตรกรรม จนได้ชื่อว่าเป็นยุคเกษตรกรรมรุ่งเรือง

ผลิตผลทางการเกษตรเจริญงอกงามล่อให้เกษตรกรจากรัฐอื่นๆย้ายถิ่นฐานมายังรัฐทางตอนใต้เช่นเดียวกัน แต่พวกเขายินดีปรีดาได้เพียงไม่กี่ปีก็เกิดภาวะภัยแล้งขึ้นในปี 1930 เท่านั้นยังไม่พอ ในเวลาเดียวกันสหรัฐต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ซ้ำเติมคนยากจนให้ข้นแค้นมากยิ่งขึ้นไปอีก

ตอนแรกเกษตรกรคิดว่าภาวะภัยแล้งคงเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ปีหน้าฝนฟ้าคงมาตามฤดูกาลเหมือนที่เคยเป็น แต่ไม่เป็นไปตามที่คาด ภาวะภัยแล้งเกิดต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาถึง 10 ปี ทำให้เกษตรกรต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด

หิมะสีดำ

การปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำไปซ้ำมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีทำให้หน้าดินเสีย เมื่อเกิดภาวะแห้งแล้งติดต่อกันยาวนานจึงทำให้หน้าดินแปรสภาพไปเป็นฝุ่น เมื่อมีลมกระโชกก็จะพัดพาฝุ่นลอยคลุ้งขึ้นบนท้องฟ้า

ชาวบ้านต้องปิดประตูหน้าต่างก่อนจะใช้ผ้าห่มชุบน้ำอุดตามขอบหน้าต่างเพื่อดักฝุ่นไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาในบ้าน แต่ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ ฝุ่นจำนวนหนึ่งยังสามารถเล็ดลอดเข้ามาในบ้านได้อยู่ดี

บันทึกในปี 1934 ระบุว่า พายุลูกหนึ่งได้หอบฝุ่นละอองจำนวนมหาศาลจากรัฐทางตอนใต้ไปไกลถึงมหานครนิวยอร์ก ลักษณะคล้ายเกิดพายุหิมะเพียงแต่มีสีดำ จึงถูกเรียกว่าพายุหิมะสีดำ สร้างความเสียหายกินพื้นที่หลายร้อยล้านเอเคอร์

มากเกินความต้องการ

10 ปีผ่านไป ภัยแล้งก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ เกษตรกรเริ่มสิ้นหวัง หลายครอบครัวเก็บข้าวของอพยพออกจากพื้นที่ จุดหมายปลายทางที่คนส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปคือรัฐแคลิฟอร์เนีย

สิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่มุ่งหน้ามาแคลิฟอร์เนียก็เพราะโฆษณาประกาศต้องการคนทำงานจำนวนมากภายใต้คำขวัญที่ว่า “ดินแดนแห่งโอกาสและความสดใส” แต่ชาวแคลิฟอร์เนียไม่คาดคิดว่าจะมีคนอพยพมาพร้อมๆกันเป็นจำนวนมากขนาดนี้

เกษตรกรชาวใต้ล้วนเป็นคนยากจนและการศึกษาน้อย พวกเขาถูกคนเมืองใหญ่ดูถูกดูแคลน เรียกเหมารวมกันว่าเป็นพวก “Okies” ซึ่งแผลงมาจากชื่อรัฐโอคลาโฮมา ไม่ว่าคนอพยพเหล่านี้จะเป็นใครมาจากที่ไหน หากเป็นผู้อพยพผิวขาวก็ถูกเรียกว่า “โอกี้ส์” ทุกคน

จริงอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียขาดแคลนชนชั้นแรงงานจนต้องออกแคมเปญโฆษณาเชิญชวนให้คนมาทำงานที่แคลิฟอร์เนีย แต่ปริมาณเกษตรกรชาวใต้ที่อพยพหนีภัยแล้งมาพร้อมๆกันมากเกินกว่าความต้องการหลายเท่าตัว จนกระทั่งรัฐบาลต้องตั้งด่านสกัดห้ามไม่ให้มีคนอพยพเข้ามาที่แคลิฟอร์เนียอีก

อยากไปก็ไปไม่ได้

ผู้อพยพทุกคนยากจน พวกเขาจึงกางเต็นท์นอนกันบนที่รกร้างข้างถนน เสนอตัวทำงานเป็นกรรมกรในไร่ด้วยค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างปรกติถึง 60% ทำให้แรงงานที่เป็นคนพื้นที่ไม่มีงานทำ หรือหากจะทำก็ต้องยอมรับค่าแรงที่ต่ำเท่ากับผู้อพยพ

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้อพยพส่วนหนึ่งเป็นคนต่างชาติ เช่น เม็กซิกันและเอเชีย ซึ่งนายจ้างมองว่าคนกลุ่มนี้เหมาะกับงานใช้แรง เช่น ถางหญ้า พรวนดิน ส่วนคนผิวขาวเหมาะกับงานชิลๆ เช่น เก็บผลไม้ ทำให้เป็นการจำกัดโอกาสการทำงานของคนผิวขาวเอง เพราะงานใช้แรงมีมากกว่างานที่ไม่ต้องใช้แรง

ผู้อพยพใช้บริการสาธารณะร่วมกับชาวแคลิฟอร์เนีย แต่พวกเขาไม่ได้จ่ายภาษี ทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระขณะที่สหรัฐยังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง นายกเทศมนตรีบางเมืองถึงกับต้องปล่อยข่าวว่าผู้อพยพเป็นสายลับรัสเซียที่แฝงตัวเข้ามาทำจารกรรม เพื่อกดดันให้ชาวเมืองขับไล่ผู้อพยพออกไปจากเมือง

แม้ว่าผู้อพยพจะถูกกดดันรอบด้าน แคลิฟอร์เนียไม่ใช่ดินแดนแห่งโอกาสเหมือนที่เห็นในโฆษณา แต่พวกเขาก็ไม่มีที่จะไป และถึงแม้อยากจะไปพวกเขาก็ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะอพยพอีกครั้ง จึงจำเป็นต้องปักหลักอยู่ที่นี่

คุ้มค่ากว่าที่คิด

ในที่สุดรัฐบาลต้องยอมเจียดเงินจำนวนหนึ่งมาสร้างที่อยู่อาศัยถาวรให้กับผู้อพยพ เพราะหากปล่อยให้สร้างเพิงอยู่กันตามมีตามเกิดข้างถนนจะยิ่งสร้างปัญหาให้มากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทางด้านสาธารณสุข

ปลายทศวรรษ 1930 วิกฤตเศรษฐกิจถดถอยยุติลง แรงงานราคาถูกเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกอบกู้ให้ระบบเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ชีวิตของผู้อพยพเริ่มเปลี่ยนแปลงสู่แสงสว่างเมื่อสหรัฐประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2

กรรมกรชาวไร่ถูกดึงตัวมาเป็นกรรมกรในโรงงาน พวกเขาได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้น และกลายเป็นแนวหลังที่สำคัญหน่วยหนึ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

ต่อมากรรมกรกลุ่มนี้รวมตัวกันก่อตั้งสมาพันธ์ผู้ใช้แรงงานเพื่อปกป้องสิทธิที่พวกเขาพึงจะได้รับ และกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนียในระดับที่มองข้ามไม่ได้

ขณะที่คนส่วนใหญ่รู้สึกอายที่จะบอกคนอื่นว่ามีบรรพบุรุษเป็นพวกโอกี้ส์ แต่ผู้อพยพบางคน เช่น วูดดี กูธรี กลายเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลต่อวงการเพลงถึงขั้นได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในตำนานเพลง เพลงที่เขาแต่งนั้นมีเนื้อหาสร้างความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นชาวโอกี้ส์


You must be logged in to post a comment Login