วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

บลูมเบิร์กชี้ไทยทุกข์น้อยสุด

On March 7, 2017

ในฐานะเป็นคนไทยคนหนึ่ง ทำให้รู้สึกตื่นตากับดัชนีความทุกข์ลำเค็ญ (2017 Misery Index) ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ที่คาดว่า ประชาชนคนไทยจะมีความทุกข์น้อยที่สุดในโลกในปีนี้

ดัชนีนี้เป็นการคาดการณ์ เนื่องจากปีนี้เพิ่งผ่านไปเพียง 2 เดือน หลังสิ้นปี บลูมเบิร์กจะประมวลข้อมูลสรุปอันดับอีกครั้ง ซึ่งอันดับหลังสิ้นปีในปีที่แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงหลายประเทศด้วยกัน

บลูมเบิร์กรวบรวมข้อมูลอัตราเงินเฟ้อและว่างงานใน 65 ประเทศ จัดทำเป็นดัชนีนี้ โดยดำเนินการสรุปข้อมูลแบบง่ายๆไม่ซับซ้อน จากการนำร้อยละของอัตราเงินเฟ้อและอัตราว่างงานบวกกัน นำมาจัดเป็นอันดับ

ประเทศติดอันดับ 1 คือชาติที่มีผลบวกสูงสุด และประเทศติดอันดับท้ายสุด คืออันดับที่ 65 ได้แก่ ชาติที่มีผลบวกต่ำสุด

ด้วยวิธีการจัดทำดังกล่าว บลูมเบิร์กจึงจำกัดขอบเขตของคำว่า “ความทุกข์ลำเค็ญ” ไว้เฉพาะที่เป็นผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและว่างงานเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับปัจจัยอื่นในชีวิตประจำวัน

ผลการจัดอันดับปีนี้ ปรากฏว่าไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์ลำเค็ญน้อยที่สุดในโลกเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีคะแนนรวมของผลบวกอัตราเงินเฟ้อและว่างงาน 2.6% ติดอันดับสุดท้ายของตารางดัชนี ตามด้วยสิงคโปร์ 3.1% สวิตเซอร์แลนด์ 3.6% ญี่ปุ่น 3.6% และไอซ์แลนด์ 4.6%

บลูมเบิร์กระบุว่า ที่ไทยรักษาอันดับ 1 ของประเทศมีความทุกข์ลำเค็ญน้อยที่สุดในโลกไว้ได้ เป็นผลมาจากตัวแปรสำคัญ คือ การคำนวณอัตราว่างงานที่ใช้สูตรเฉพาะของไทย

ด้านประเทศมีความทุกข์ลำเค็ญจากปัญหาเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวโยงกับอัตราเงินเฟ้อและว่างงาน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย (1) เวเนซุเอลา คะแนน 499.7% โดยติดอันดับ 1 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน (2) แอฟริกาใต้ 32.2% (3) อาร์เจนตินา 30.9% (4) กรีซ 23.2% และ (5) ตุรกี 19.8%

ส่วนประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออกอื่นๆที่อยู่ในโครงการจัดอันดับ ประกอบด้วย (23) อินโดนีเซีย 9.8% (37) ฟิลิปปินส์ 8.4% (52) จีน 6.4% (54) เวียดนาม 6.2% (55) มาเลเซีย 6.1% (56) ฮ่องกง 6% (57) เกาหลีใต้ 5.6% และ (60) ไต้หวัน 5.2%

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศอาเซียนและเอเชียตะวันออกส่วนใหญ่ อยู่ในอันดับสูง ซึ่งหมายถึงประเทศมีความทุกข์น้อย

สำหรับความหมายหนึ่งที่แฝงอยู่ในคำว่า “มีความทุกข์น้อยที่สุด” คือ “มีความสุขมากที่สุด” นั่นเอง

ประเด็นนี้เป็นเรื่องนี้ใกล้ตัวของประชาชนคนไทย ดังนั้น แต่ละคนสามารถให้คะแนนสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ว่า ดัชนีที่ประมวลออกมา ตรงกับชีวิตจริงมากน้อยแค่ไหน


You must be logged in to post a comment Login