- อย่าไปอินPosted 14 hours ago
- ปีดับคนดังPosted 1 day ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 2 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 4 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
ย้ายผู้บุกรุกป้อมมหากาฬ / โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย
คอลัมน์ : โลกอสังหาฯ
ผู้เขียน : ดร.โสภณ พรโชคชัย
กรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามย้ายพวกบุกรุกป้อมมหากาฬออก เพราะผู้บุกรุกไม่ยอมย้ายออก โดยอ้างเรื่องบ้านโบราณและวิกลิเก ซึ่งเป็นเรื่องเท็จเพื่อหวังจะครอบครองสมบัติของแผ่นดินโดยขาดหิริโอตตัปปะไปอีกนานแสนนาน ที่ผ่านมามีการแสดงภาพถ่ายวิกลิเกโบราณในชุมชน แต่แท้จริงแล้วเป็นภาพถ่ายที่วัดสระเกศ ซึ่งเป็นการบิดเบือนความจริง
แล้วยังมีการโกหกว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยอาศัยในชุมชนในบ้านทรงไทยหลังหนึ่ง แต่ความจริงคือเมื่อปี 2548 หรือ 11 ปีที่แล้ว ทายาทตระกูลอึ๊งภากรณ์ชี้แจงว่าบ้านไม้โบราณไม่เกี่ยวข้องกับ ดร.ป๋วย โดยนางอุไรวัลย์ อึ๊งภากรณ์ ที่เป็นสะใภ้และได้รับมรดกจากนางจิบ บุรกิจ พยายามจะรื้อบ้านหลังดังกล่าวหลังจากได้รับเงินชดเชยจาก กทม. แล้ว แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้รื้อ จนต้องให้ กทม. รื้อถอนแทน นี่คือเล่ห์กลที่น่าละอายของผู้ที่ไม่ยอมย้ายออก ส่วนเรื่องของมีค่าไม่ว่าจะเป็นลวดลายที่ตกแต่งบนตัวบ้านก็ถูกแกะขายไปหมดแล้ว (http://bit.ly/2bQJAap)
การที่ไม่มีสวนสาธารณะที่ป้อมมหากาฬ แต่มีคนมาครอบครองเป็นของส่วนตัว ทำให้ส่วนรวมเสียหายนั้น ใครจะเป็นคนชดใช้ ผมในฐานะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินประเมินว่า หากมีสวนสาธารณะป้อมมหากาฬก็เทียบได้กับสวนสันติชัยปราการ (http://bit.ly/2cxLiOt) บริเวณป้อมพระสุเมรุ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษ ตั้งอยู่ที่ปลายถนนพระอาทิตย์ติดแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางลำพู สวนแห่งนี้จัดสร้างเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ภายในบริเวณสวนมีพระที่นั่งสันติชัยปราการที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมท่ารับเสด็จเรือพระที่นั่ง
สวนสาธารณะสันติชัยปราการนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และโบราณสถาน นับเป็นนันทนสถานอเนกประสงค์ที่ได้ประโยชน์ใช้สอยทั้งด้านการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา และการอนุรักษ์ (ป้อมพระสุเมรุ) พื้นที่โดยรอบได้รับการออกแบบให้สามารถใช้เป็นที่ออกกำลังกายหลายประเภท เช่น การเต้นแอโรบิก รำมวยจีน จัดงานของท้องถิ่นและรัฐบาล เช่น พิธีต้อนรับแขกจากต่างประเทศ รวมทั้งด้านวัฒนธรรม เช่น พิธีลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น
การวิเคราะห์มูลค่าสวนสันติชัยปราการตั้งอยู่บนสมมุติฐานและตัวเลขดังนี้
1.สวนสันติชัยปราการมีผู้เข้าใช้สอยวันละ 2,000 คน (http://bit.ly/2cMpblp) จึงสมมุติในกรณีสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ ซึ่งมีขนาด 6 ไร่เศษ น่าจะมีผู้เข้าใช้สอยในขนาดใกล้เคียงกัน แต่ลดลงประมาณ 20% เหลือ 1,600 คน เพราะในบริเวณนี้รายล้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงมากมายเช่นกัน
2.กรณีไม่มีสวนสาธารณะ อาจจัดให้ไปใช้บริการสถานออกกำลังกาย Fitness First ซึ่งเสียเงินเดือนละ 2,400 บาท หรือวันละ 80 บาท อย่างไรก็ตาม สถานออกกำลังกายมีเครื่องออกกำลังกายมากมาย แต่ในกรณีป้อมมหากาฬไม่มีบริการส่วนนี้ แต่มีแหล่งที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ กรณีนี้ค่าใช้จ่ายอาจลดลง 30% และมีต้นทุนการดำเนินการอีก 30% รวมค่าใช้จ่ายสุทธิคนละ 32 บาทต่อวัน (80% x (1-60%))
3.กรณีคนมาใช้วันละ 1,600 คน ณ ค่าใช้จ่ายหรือรายได้คนละ 32 บาทต่อวัน รายได้เท่ากับวันละ 51,200 บาท หรือปีละ 18.69 ล้านบาท หากผู้บุกรุกครอบครองไปอีก 10 ปี ณ อัตราดอกเบี้ย 5% ก็เท่ากับว่าส่วนรวมต้องสูญเงินไป 144.32 ล้านบาท ตามสูตร (1-(1/(1+i)n))/i โดยที่ i คืออัตราดอกเบี้ย 5% ส่วน n คือระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง
4.ยังไม่รวมรายได้ที่จะได้จากการให้เช่าที่ขายของเพื่อหารายได้มาบำรุงและพัฒนาสาธารณูปโภค และอาจมีส่วนเหลือไปใช้พัฒนาท้องถิ่นให้เจริญเพื่อประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมในวันหน้า
ดังนั้น รัฐบาลโดย กทม. จึงควรเร่งย้ายผู้บุกรุกซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดให้ออกจากพื้นที่ อาจจัดหาที่อยู่อาศัยโดยเช่าบ้านให้ในบริเวณใกล้เคียงและอนุญาตให้คงสถานะ “จน” ต่อไปอีก 10 ปี แต่ไม่อนุญาตให้ประกาศตน “จน” ตลอดอายุขัย หรือ “จน” ต่อไปหลายชั่วรุ่นโดยไม่ช่วยเหลือตัวเอง
โดยสรุปแล้วการไม่มีสวนสาธารณะป้อมมหากาฬ สังคมต้องสูญเสียโอกาสถึง 19 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน 144 ล้านบาท เพียงเพราะการดื้อแพ่งของผู้บุกรุกไม่กี่หลังคาเรือน คนไทยควรมีหิริโอตตัปปะ อยู่ฟรีมาหลายชั่วรุ่นควรเลิกได้แล้ว คืนสมบัติให้ส่วนรวมได้แล้ว
ยิ่งกว่านั้นบางครั้งก็มีการถกเรื่องสิทธิ เช่น ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พยายามเป็นตัวกลางนั้น คณะกรรมการสิทธิฯก็ไม่มีสิทธิใดๆ ทั้งที่ชาวบ้านไม่มีสิทธิ เพราะเจ้าของบ้านต่างก็โอนให้กับ กทม. แล้ว พวกที่อยู่อาศัยจึงถือว่าทำผิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304-7 ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ผิดกฎหมายที่ดิน มาตรา 18 ผิดพระราชบัญญัติโบราณสถาน มาตรา 7 ทวิ มาตรา 10 (http://bit.ly/2bEqAvy) แต่ก็ยังไม่ยอมรับการบังคับใช้กฎหมาย การทำตัวอยู่เหนือกฎหมายปรกติ (ไม่ใช่มาตรา 44) ย่อมไม่ชอบธรรม
อย่าทำร้ายชาติด้วยการอ้างสารพัดสารพันเลยครับ มีหิริโอตตัปปะบ้าง!
You must be logged in to post a comment Login