วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ยุติธรรมไม่มี ปรองดองไม่เกิด? / โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

On March 9, 2017

คอลัมน์ : โดนไป บ่นไป
ผู้เขียน : น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

สังคมไทยมีความขัดแย้งมากแค่ไหนคงไม่ต้องเสียเวลาไปถามใคร วันนี้ดูแค่คนนามสกุลเดียวกันหรือมาจากครอบครัวเดียวกันยังคิดไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างมีความเห็นและความเชื่อที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรู้และข้อมูลที่แต่ละฝ่ายได้รับ เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ลุกลามไปทุกวงการและเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่อยากรู้ว่าจะจบลงเมื่อไรและอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี เพราะแปลว่าคนจำนวนมากเกิดอาการเบื่อการทะเลาะเบาะแว้งและอยากเห็นเมืองไทยกลับคืนสู่การเป็นสังคมแห่งความสุขอีกครั้ง

เรื่องนี้จะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านผู้นำสูงสุดจำเป็นต้องรีบป่าวประกาศเรื่อง “ปรองดอง” หรือไม่ ข้อนี้ผมไม่ทราบจริงๆ แต่เมื่อเดือนที่แล้วท่านได้สั่งการให้ลูกน้องจากกองทัพเดินหน้านโยบายปรองดอง โดยเน้นขอความร่วมมือจากนักการเมืองและพรรคการเมืองก่อน ที่ผ่านมาเราจึงเห็นนายทหารใหญ่ประกาศนัดหมายพรรคเล็กพรรคน้อย ตลอดจนพรรคใหญ่ทุกพรรค เพื่อเข้าไปให้ข้อมูลและหารือกับคณะกรรมการของกองทัพเป็นระยะๆ

ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ท่านผู้นำสูงสุดสั่งให้ลูกน้องดำเนินการเรื่องปรองดองจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน แต่ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยทุกพรรคน่าจะเห็นด้วย หากทุกฝ่ายยืนยันว่าจะดำเนินการโดยยึดหลักปรองดองที่เป็นสากลและคนทั่วโลกยอมรับ เพราะการลดความขัดแย้งแตกแยกของผู้คนในสังคมและการสร้างสามัคคีปรองดองนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญและสอดคล้องกับอุดมการณ์และนโยบายของทุกพรรคอยู่แล้ว

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมมือกันอย่างจริงใจ แต่การปรองดองจะเดินหน้าต่อไปได้ทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้รับผิดชอบ” ที่จะเป็นคนขับเคลื่อน เรื่องนี้จึงต้องมี “ความเป็นกลาง” และ “ความเป็นอิสระ” ไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายไหน และต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำและสั่งการของฝ่ายใดทั้งสิ้น

ที่ผ่านมาสังคมไทยขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะเชื่อว่าบุคคลที่ใช้อำนาจรัฐมี “อคติ” ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คสช. องค์กรนิติบัญญัติ องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะข้าราชการที่รับผิดชอบเรื่องการอำนวยความยุติธรรม “การมีอคติ” ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เป็นกลางและขาดความเที่ยงธรรม ซึ่งผลสุดท้ายก็จะทำให้การปรองดองไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

นอกจากนี้ผู้รับผิดชอบดำเนินการจะเป็นใครก็แล้วแต่ ท่านต้องมีความเข้าใจและมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องทั้งต่อความหมายและกระบวนการในการปรองดอง ซึ่งหลักการในการดำเนินการนั้น ผมเชื่อว่าทุกคนมองเห็นเหมือนกัน โดยต้องเริ่มจากการยอมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายรอบด้าน แม้จะเป็นสิ่งที่เห็นต่างกันก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่ท่านควรจะลงไปฟังมากที่สุดคือเสียงจาก “พี่น้องประชาชน” ซึ่งเราต้องให้ความเคารพและถือว่าทุกความเห็นมีคุณค่าและศักดิ์ศรีเสมอกัน ไม่ว่าความเห็นดังกล่าวจะตรงกับที่เราหรือคนส่วนใหญ่คิดหรือไม่ก็ตาม เราก็ต้องรับฟังและพิจารณาทุกเรื่องด้วยเหตุผลบนรากฐานของคุณธรรมและความมีเมตตาธรรม ไม่เช่นนั้นการเดินหน้าเรื่องการปรองดองก็ยากที่จะสำเร็จได้จริงๆ

ที่สำคัญการดำเนินการเรื่องปรองดองจะไม่มีทางสำเร็จได้เลยหากผู้มีอำนาจไม่ยึดหลัก “นิติธรรม” อย่างเคร่งครัด เพราะหลักการดังกล่าวเป็นหลักที่ดีที่สุดในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม โดยความหมายของหลักนิติธรรมเท่าที่ผมศึกษาจากตำราและถามจากผู้รู้พอจะสรุปได้ 2 ด้านใหญ่ๆดังนี้

ด้านแรก คือหลักนิติธรรมที่ยึดเอาตัวบทกฎหมายเป็นหลัก สังคมในปัจจุบันจะอยู่ได้ก็ด้วยทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย และใครที่ละเมิดกฎหมายย่อมต้องถูกดำเนินคดีทุกคนไม่มีละเว้น ภายใต้กระบวนการอำนวยความยุติธรรมที่เป็นธรรม ทั้งนี้ หลักนิติธรรมดังกล่าวจะดำรงอยู่ในบริบทของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้นั้น กฎหมายต้องมาจากเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงคือประชาชนเท่านั้น

ด้านที่สอง คือหลักนิติธรรมที่ยอมรับและปกป้องศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นหลักสิทธิมนุษยชน การรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐานและความเสมอภาคของบุคคลไม่ให้ถูกล่วงละเมิด กฎหมายจะต้องไม่ลงโทษหรือส่งผลกระทบในทางลบย้อนหลังต่อบุคคล เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้ใช้อำนาจรัฐ ทุกองค์กรต้องบังคับใช้กฎหมายตามขอบอำนาจและปราศจากอคติ รวมทั้งทุกคนต้องถูกตรวจสอบได้โดยศาล ซึ่งเป็นอิสระและปราศจากอคติด้วยเช่นกัน

ผมบ่นให้ฟังถึงตรงนี้เกรงว่าท่านผู้อ่านจะเบื่อ เพราะเนื้อหาค่อนข้างเป็นวิชาการมากสักหน่อย แต่จำเป็นต้องอธิบายหลักการ เพราะการปฏิบัติโดยยึดหลักการเท่านั้นที่สามารถทำให้การปรองดองสำเร็จแบบจับต้องได้ แต่เกือบเดือนที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นการขับเคลื่อนเรื่องปรองดองที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ผมยืนยันว่าไม่ต้องการกล่าวหากล่าวโทษใครทั้งสิ้น แต่เฉพาะเรื่องการค้นหาสาเหตุความขัดแย้งที่ทำกันอยู่ยังไม่นับเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่าผู้รับผิดชอบบางท่านก็หลุดหลักการไปไกลมากๆ เพราะการค้นหาย่อมต้องค้นหาสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริงๆ เพื่อให้เกิดการยอมรับและนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่พยายามหาสาเหตุความขัดแย้งเพื่อตีกินทางการเมือง หรือประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ยอมเลิกสักที

ด้วยความเคารพทุกท่าน ผมคิดว่าในเบื้องต้นทุกคนต้องยอมรับเสียก่อนว่าความขัดแย้งในประเทศที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคนบางพวกบางกลุ่ม แต่เกิดจากทุกฝ่ายที่เข้าไปเกี่ยวข้องมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยเฉพาะท่านผู้นำสูงสุดและคณะที่จะต้องยอมรับฟังยอมรับความผิดพลาดและให้อภัยซึ่งกันและกัน และจะดีที่สุดหากทุกท่านสามารถลบความคิดแบบอคติออกไปจากหัวใจให้หมด

ท้ายที่สุดนี้เพื่อให้การดำเนินการเรื่องปรองดองมีความเป็นไปได้ ผมเห็นว่าคณะกรรมการฝ่ายทหารได้ทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงควรจะยุติภารกิจและบทบาทตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยจากนี้ท่านผู้นำสูงสุดควรมอบหมายให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ที่ไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการสากลของการเดินหน้าสู่การปรองดอง

ถ้าท่านผู้นำสูงสุดยินยอมที่จะแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบแทนคณะปัจจุบัน ผมเชื่อว่าโอกาสสำเร็จของการขับเคลื่อนนโยบายจะสูงขึ้นทันที แต่คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรืออยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของรัฐบาลหรือ คสช. และจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของการปรองดองอย่างแท้จริง เพื่อไปดำเนินการตามหลักวิชาการด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม ปราศจากอคติ และต้องทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยึดหลัก “นิติธรรม” อย่างเคร่งครัด

ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอนหากผู้มีอำนาจอยากเห็นการปรองดอง แต่ผมก็เชื่อเช่นกันว่าผมคงไม่มีโอกาสได้เห็นการปรองดองเกิดขึ้นจริงๆเช่นกัน


You must be logged in to post a comment Login