วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

The end of history and last man Civilization of democracy retreat / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On March 13, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

บังเอิญว่าผมได้อ่านงานเขียนของ Joshua Kurlantzick นักวิจัยที่มีผลงานเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยในระดับผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยด้วย มีผลงานชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Foreign Affairs เป็นวารสารที่มีชื่อเสียงมากเกี่ยวกับความมั่นคงในระหว่างนานาชาติ

ข้อเขียนล่าสุดของ Kurlantzick ตั้งข้อสังเกตว่า ระบอบการปกครองประชาธิปไตยในโลกนี้ รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในช่วงที่ถดถอย เขามองปัญหาประชาธิปไตยว่าเป็นกระแสที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันทั่วโลกในลักษณะที่เป็นลูกคลื่นแต่ละช่วงเวลา

ความหมายนี้คือการไปตีความว่ามีประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือประชาธิปไตยเป็นเรื่องภายในประเทศ ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

เขากล่าวว่าคลื่นลูกแรกของประชาธิปไตยเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อน ค.ศ. 1914 ชึ่งเป็นปีเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 และครอบคลุมถึงปีสิ้นสุดสงคราม ค.ศ. 1918 การเกิดขึ้นของคลื่นลูกแรกเป็นเพราะการปรับตัวจากประเทศเยอรมันกับอิตาลี เนื่องจากโลกกำลังเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ โดยทั้ง 2 ประเทศปรับตัวตามอังกฤษและฝรั่งเศส รวมทั้งเนเธอร์แลนด์ที่เข้าสู่ประชาธิปไตยในคลื่นลูกที่ 1

แต่ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 1 ก็มีปัญหามากมาย เป็นต้นว่ามีเฉพาะประเทศยุโรปเท่านั้นที่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะประเทศในทวีปอื่นๆมักเป็นอาณานิคม รัสเซียหลังจากที่พระเจ้าซาร์ล่มสลายก็กลายเป็นประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นก็กลายเป็นคอมมิวนิสต์

จีนก็เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยเฉพาะรูปแบบก่อนจะเกิดสงครามกลางเมือง ญี่ปุ่นเปลี่ยนจากระบอบจักรพรรดิเป็นระบอบเผด็จการทหาร ขณะเดียวกันทั้งอิตาลีและเยอรมันก็พลิกผันเข้าสู่เผด็จการทหาร กลายเป็นเผด็จการตัวนำในสงครามโลกครั้งที่ 2

มาถึงยุคประชาธิปไตยคลื่นลูกที่ 2 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติประมาณ ค.ศ. 1945 โดยประเทศมหาอำนาจเจ้าของอาณานิคมพ่ายแพ้สงคราม ทำให้หลายประเทศต้องเลือกและสร้างระบอบการปกครองของตัวเองขึ้นมา ซึ่งขณะนั้นมีให้เลือกเพียง 2 ทางคือ ถ้าไม่เป็นสังคมนิยมก็เป็นเสรีนิยม ต้องเลือกระหว่างอเมริกากับโซเวียตที่กำลังเผชิญหน้ากันในสงครามเย็น (war of never)

จนกระทั่งเกิดคลื่นลูกที่ 3 ก่อน ค.ศ. 2000 มีการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ ต่อต้านสงครามเวียดนาม แม้กระทั่งในยุโรปก็เกิดการปฏิวัติที่เรียกว่า “การปฏิวัติดอกคาร์เนชั่น” ในโปรตุเกส เป็นการร่วมมือระหว่างชนชั้นกลางกับทหารเพื่อขับไล่เผด็จการจากการเลือกตั้ง

จนมาถึงระยะของคลื่นลูกที่ 4 ตั้งแต่การล่มสลายของโซเวียตและกำแพงเบอร์ลินพังทลาย ช่วงนี้งานเขียน The end of history and last man ของ Francis Fukuyama ถือเป็นชัยชนะที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดของลัทธิเสรีประชาธิปไตย คือระบอบคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้อย่างถาวร

ช่วงเวลาของคลื่นลูกที่ 4 มีปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ ชนชั้นกลาง แม้กระทั่งในประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ต่างหมดความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย โดยเห็นว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเผด็จการด้วยการอ้างว่า “ตัวเองมีความชอบธรรม เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

ในบางประเทศอย่างเวเนซุเอลา ชนชั้นกลางไม่ยอมรับนโยบายประชานิยมของประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ จนกระทั่งชาเวซถูกทหารปฏิวัติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับชนชั้นกลางในประเทศไทยที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และลุกลามถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ตรงนี้คือปัญหาสำคัญของโลก แม้กระทั่งประเทศไทยขณะนี้ ชนชั้นกลางส่วนใหญ่ก็นึกถึงผลประโยชน์ของตัวเอง นึกถึงความมั่นคง รัฐบาลใดที่ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อตอบสนองชนชั้นล่างเท่ากับเป็นการทำลายผลประโยชน์ของชนชั้นกลางเหมือนกัน

สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ สิ่งที่รัฐบาลเผชิญหน้าอยู่คือปัญหาของชนชั้นกลาง แต่ทุกวันนี้ยังมีชนชั้นกลางกลุ่มใหม่เกิดขึ้นคือ ชนชั้นกลางในชนบท

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขของประชาธิปไตยก็ยังเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับการขยายตัวของระบอบเศรษฐกิจ ไม่ว่าเราจะพิจารณาสถานการณ์ของประเทศอย่างไรก็ตาม จะเป็นปัญหาของชนชั้นล่าง ปัญหาของชนชั้นกลาง หรือมองความจริงในแง่สถานการณ์ของโลกหลังทันสมัย การขยายตัวทางเศรษฐกิจคือภาระที่รัฐบาลจะต้องรับภาระต่อไปอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งดูเหมือนทางออกทางเดียวของประชาธิปไตย

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเพื่อนผู้อาวุโสของผม คุณธีรยุทธ บุญมี ออกมาติงรัฐบาลว่าทำอะไรไม่สำเร็จเลย ผมเองก็ไม่ได้เชียร์รัฐบาล แต่ก็เห็นว่าอย่างไรก็ตามประชาธิปไตยก็ยังพอเป็นความหวังของประเทศอยู่ เพียงแต่การมุ่งหน้าสู่เป้าหมายประชาธิปไตยจะไปไม่ถึงถ้าเราไม่เดินไปด้วยหนทางที่เป็นประชาธิปไตย


You must be logged in to post a comment Login