- ปัญหายาเสพติดวาระแห่งชาติPosted 23 hours ago
- แก่อย่างไม่มีคุณค่าPosted 2 days ago
- “ทักษิณ” ยังมีมนต์ขลังPosted 3 days ago
- อย่าไปอินPosted 6 days ago
- ปีดับคนดังPosted 7 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 1 week ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 1 week ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 1 week ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 2 weeks ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 2 weeks ago
เดินไปทางไหนก็ไปไม่เป็น? / โดย Pegasus
คอลัมน์ : เพื่อชาติประชาชน
ผู้เขียน : Pegasus
ในการบริหารบริษัทที่มีหนี้สินรุงรัง คนในองค์กรแตกแยก คนที่ยืนอยู่ข้างผู้บริหารก็มีแต่ประจบสอพลอ หาคนเก่งที่จะใช้งานไม่ได้ คนเก่งก็ไม่ไว้ใจแถมยังรู้สึกว่าต้องไล่ออกหรือหาทางฟ้องร้องให้ติดคุกติดตะรางไปอีก
ผู้บริหารอาจมีความคิดจะลากบริษัทให้ทำงานไปนานๆ แต่หนี้สินก็มีดอกเบี้ย เงินส่วนใหญ่ที่มีอยู่ก็เป็นเงินสำรองที่กำลังจะหมดไปกับหนี้สินที่เกิดจากการซื้อเวลาเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ
ครั้นจะคิดหาธุรกิจใหม่ๆให้มีรายได้เข้ามา ผู้บริหารก็มีประวัติไม่ดี เพราะไปยืมเงินเขาแล้วไม่คืน ผัดผ่อนหลายครั้งหลายหนว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารใหม่จนไม่มีใครเชื่อและยอมให้เงินมาใช้จ่ายอีก คนในองค์กรเองก็เริ่มถอดใจ เพราะทำมากไปก็ไม่ได้เงิน ทำน้อยไปก็โดนไล่ออก ใส่เกียร์ว่างดีกว่า ฝ่ายการเงินของบริษัทก็ขี้เหนียวสุดๆ ใครจะกู้เงินไปทำอะไร แม้แต่ลงทุนให้บริษัทก็ยาก แค่จ่ายเงินเดือนก็ยังยาก ผู้บริหารได้ขึ้นเงินเดือน แต่ไล่พนักงานเด็กๆออก ผู้บริหารที่ไม่ยอมสยบก็จับไปแขวนรับเงินเดือนเฉยๆ จะไล่ออกก็ไม่มีสาเหตุและกลัวต้องจ่ายเงินทดแทนจำนวนมาก ยิ่งทำให้บริษัทเจ๊งอีก
บริษัทแบบนี้จะเดินหน้าก็ยาก จะถอยหลังก็ไม่ได้ มีแต่กินตัวเองอยู่ตลอดเวลาจนกว่าเจ้าหนี้จะมาฟ้องล้มละลายเท่านั้น ซึ่งบางครั้งอาจเป็นผลดีต่อบริษัทก็ได้จะได้ล้างไพ่ใหม่ ล้มละลาย 3 ปีก็เริ่มต้นทำธุรกิจได้ แม้จะกู้ใครไม่ได้แล้วก็ตาม แต่การเปิดร้านชำเล็กๆแข่งกับร้านสะดวกซื้อไปก่อนก็เป็นความคิดที่ไม่เลวนัก
ความคิดที่จะวางมือ ปล่อยให้บริษัทที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคล้มละลายไปแล้วต่างคนต่างไป ไม่คาราคาซังให้สิ้นเปลืองต่อไป จึงเป็นความคิดที่ดี ประหยัด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนคณะผู้บริหารก็อาจปรับปรุงใหม่ เลือกแต่คนที่มีความสามารถไว้ ผู้ไร้ความสามารถก็ถูกคัดกรองออกไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย
ปัญหาสำคัญคือ ผู้บริหารบริษัทที่แม้ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่แสดงบทบาทในตำแหน่งสำคัญในฐานะประธานคณะผู้บริหารที่ดูแลงานประจำวันและถือหุ้นในบริษัทด้วย จึงเป็นที่เกรงใจและใช้อำนาจปลดคนและตั้งคนตามใจชอบ กฎเกณฑ์อะไรก็ไม่ค่อยจะแม่นยำ แต่ขออำนาจจากบอร์ดบริหารให้ทำอะไรก็ได้ตามใจ
การทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจของประธานที่ไม่มีความชำนาญในการบริหารจริงๆก็มีแต่ต้องฟังพนักงานระดับผู้บริหารคอยป้อนข้อมูลให้ จริงบ้างผิดบ้างเป็นธรรมดา เรื่องง่ายๆบางเรื่องก็ทำให้เป็นเรื่องยาก เช่น การไปขอเส้นทางเข้าออกผ่านวัดก็ไปทะเลาะกับเจ้าอาวาส สุดท้ายก็ไม่ได้ทางผ่านมาใช้ ทั้งที่หากพูดคุยดีๆเรื่องก็จบไม่ยากนัก แต่อาจเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวที่ชอบพูดจาโผงผาง ซึ่งพนักงานบางคนชอบเพราะเข้าใจง่าย
แต่การบริหารบริษัทขนาดใหญ่ไม่สามารถใช้ความรู้สึกส่วนตัวได้มากนัก ผลงานจึงมีปัญหาไปทุกเรื่อง โชคดีที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรพยายามสร้างมุกสร้างเรื่องต่างๆให้พนักงานเชื่อว่าสถานการณ์ยังดีและจะเจริญเติบโตในไม่นาน เลยยังทู่ซี้อยู่ไปได้
เมื่อบริษัทถึงทางตัน จะเดินไปข้างหน้าก็ไม่มีเงิน จะถอยหลังกลับก็บาดเจ็บ จะหยุดแล้วยอมล้มละลายสัก 3 ปี คนใจอ่อนก็ไม่สามารถยอมรับได้ สรุปแล้วเดินไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนผู้บริหารก็ไม่ได้ สุดท้ายพนักงานและลูกค้าก็ต้องรับเคราะห์แทน
บางทีประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวบุคคลหรือระบบของบริษัท หากทิ้งไว้นานก็มีแต่จะขาดทุนสะสม หากถึงจุดที่ไม่สามารถกู้คืนได้ การละทิ้งไปหรือทำให้ล้มละลายน่าจะเป็นความคิดที่ดีที่สุด เพราะจะก้าวไปข้างหน้าก็ไม่ได้ จะถอยก็ไม่ได้ ติดขุมอำนาจเก่าที่เสพติดผลประโยชน์
ถึงเวลาแล้วที่จะให้มีการบริหารแบบมีส่วนร่วมคือ ให้พนักงานทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของบริษัท จะกำไรหรือขาดทุนพนักงานจะตอบได้และตอบสนองลูกค้าได้ถูกอกถูกใจ บริษัทจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ มิฉะนั้นความล่มจมก็คงจะมาถึงอีกไม่นาน
You must be logged in to post a comment Login