วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

พุทธแท้-พุทธเทียม? / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On March 13, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ฝ่ายที่โจมตีวัดพระธรรมกายมักจะอ้างว่าคำสอนแบบธรรมกายไม่ใช่พุทธ อันที่จริงควรกล่าวให้ชัดเจนว่าคำสอนของฝ่ายวัดพระธรรมกายมีความแตกต่างกับความเชื่อพุทธกระแสหลักของชนชั้นนำไทย แต่กระนั้นความเชื่อพุทธกระแสหลักในสังคมไทยที่อธิบายว่าเป็น “พุทธเถรวาท” เป็นพุทธของแท้หรือไม่ ในทางประวัติศาสตร์ยังเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณา

ศาสนาพุทธถือว่าเริ่มต้นจากคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ต้องเข้าใจว่าในสมัยที่พระพุทธองค์ยังมีพระชนม์ชีพมิได้มีผู้ใดบันทึกคำสอนอย่างเป็นทางการ เพียงแต่เชื่อกันว่า พระอานนท์ ซึ่งเป็นพุทธอนุชา ได้จดจำคำสอนของพระองค์ไว้ได้ทั้งหมด ดังนั้น หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน จึงเกิดการสังคายนาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่กรุงราชคฤห์ โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ร่วมด้วยพระอรหันต์ 500 รูป ประชุมกันอยู่ 7 เดือน พระอานนท์เป็นผู้สาธยายหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่จะเรียกว่า “พระสูตร” ส่วนพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระภิกษุรูปอื่นแสดงความเห็นให้มีข้อยุติร่วมกัน แล้วทั้งหมดท่องจำไว้

ระยะต่อมาได้มีพระสาวกสำคัญนำเอาหลักธรรมในพระสูตรไปแต่งขยายความเพิ่มเติมให้ชัดเจน ในส่วนนี้จะเรียกว่า “พระอภิธรรม” จากนั้นจึงได้รวมพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม ไว้ด้วยกันเรียกว่า “พระไตรปิฎก” ถือเป็นพระคัมภีร์หลักของศาสนาพุทธ และนับว่าการสังคายนาครั้งนั้นเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก

แต่พระไตรปิฎกก็มีข้อกังขาบางประการ ตั้งแต่การตั้งคำถามว่าเมื่อไม่ได้มีการบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า จะเชื่อได้หรือไม่ว่าพระอานนท์ถ่ายทอดคำสอนได้ถูกต้อง ในข้อนี้พุทธบริษัทรุ่นหลังต้องยอมรับตามพระอานนท์ มิฉะนั้นก็ไม่อาจเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ ปัญหาต่อมาคือเรื่องพระอภิธรรมว่าจะสามารถนับเข้าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าได้หรือไม่ พระภิกษุรูปสำคัญที่ก่อให้เกิดพระอภิธรรมคือ พระสังคีติกาจารย์ อ้างว่าพระอภิธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าแน่แท้ เพราะได้ทรงเทศนาโปรดพระพุทธมารดาและเทพเจ้าทั้งปวงบนสวรรค์ จึงตกหล่นจากความทรงจำของพระอานนท์

ด้วยคำอธิบายเช่นนี้ พุทธบริษัทในสมัยนั้นจึงยอมรับว่าพระอภิธรรมเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องพระอภิธรรมนี้นำมาสู่การแยกนิกายของพุทธศาสนาในระยะแรก เพราะเกิด “นิกายสรวาสติวาท” ซึ่งเป็นนิกายนับถือพระอภิธรรมอย่างยิ่ง กับ “นิกายเสาตรานติกะ” ซึ่งปฏิเสธพระอภิธรรมทั้งหมด

ปัญหาใหญ่ประการต่อมาที่นำมาสู่การแตกแยกนิกายคือ เรื่องพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้สามารถแก้ไขได้หรือไม่ เรื่องนี้พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าและได้รับคำตอบว่า สิกขาบทแก้ไขได้ในส่วนที่เป็นสิกขาบทเล็กน้อย แต่ต่อมาพระมหากัสสปะได้อธิบายว่า แม้พระพุทธองค์จะบอกว่าสิกขาบทแก้ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าบทไหนแก้ได้บ้าง จึงมีมติว่าให้คงคำสอนไว้ทุกบทไม่ให้แก้จะดีกว่า

เมื่อเวลาผ่านมาแล้ว 110 ปี มีกลุ่มพระภิกษุวัชชีบุตรเสนอให้แก้พระวินัยเล็กน้อย 10 ข้อ โดยอธิบายว่า พระพุทธองค์ยินยอมให้แก้ไขสิกขาบทได้ แต่ผู้ที่ห้ามแก้ไขคือพระมหากัสสปะต่างหาก เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นกรณีใหญ่ที่นำมาสู่การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 โดยพระเจ้ากาฬาโศกแห่งมคธเป็นผู้สนับสนุน พระสัพพกามีเป็นประธาน มีภิกษุ 700 รูปเข้าร่วม กลุ่มนี้เรียกว่า “เถรวาท” และลงมติว่าฝ่ายวัชชีบุตรนั้นผิดวินัย แต่ฝ่ายวัชชีบุตรก็ทำสังคายนาของฝ่ายตน มีภิกษุเข้าร่วมนับหมื่นรูป กลุ่มนี้จะเรียกว่า “มหาสังฆิกะ” ซึ่งถือเป็นนิกายอาจาริยวาท ในขณะนั้นฝ่ายเถรวาทเป็นเสียงข้างน้อยในคณะสงฆ์

ในตำนานฝ่ายบาลีเล่าว่า ผลจากการแตกแยกนี้ทำให้พุทธบริษัทแตกนิกายออกไปถึง 18 นิกาย นิกายที่ใหญ่ที่สุดคือ มหาสังฆิกะ ซึ่งมีการเพิ่มเติมพระอภิธรรม พระวินัย และชาดกเข้าไปจำนวนมาก เพื่อจะสั่งสอนผู้คนด้วยวิธีการที่กว้างขวางกว่าเดิม พระภิกษุอี้จิงที่เข้ามาในแคว้นมคธภายหลังเล่าว่า คัมภีร์ของมหาสังฆิกะมีถึง 300,000 โศลก และแบ่งเป็น 5 ส่วน ที่เพิ่มมาคือพระสังยุตต์และวิทยาธร

นิกายวัชชีบุตรยืนยันในหลักการว่า พระวินัยแก้ไขได้ตามสภาพของกาลเวลาและสถานที่ที่เปลี่ยนแปลงไป การคงพระวินัยแบบเดิมไม่ยอมเปลี่ยนถือว่าขัดต่อมติของพระพุทธองค์ ต่อมาคัมภีร์ของนิกายนี้ยกย่องธรรมะของพระสารีบุตรและพระราหุล คัมภีร์สำคัญคือ สารีปุตตธรรม แม้ว่าจะยังยึดหลักอนิจจัง แต่ว่าในวัฏสงสารสังขารบางทีก็ตั้งอยู่ได้ชั่วคราว หรืออยู่ในช่วงที่ยาวมาก เช่น ปฐพีสามารถตั้งอยู่ได้เป็นกัป

นิกายเถรวาทถือว่ายึดตามหลักการเดิมของพระมหากัสสปะคือ พระวินัยแก้ไขไม่ได้ และพระไตรปิฎกมีองค์สาม โดยยอมรับพระอภิธรรมไว้ด้วย แต่ที่นิกายทั้งหลายมีความแตกต่างกันไม่มากนักคือ เรื่องสภาวะของพระพุทธเจ้า คือถือว่าสภาวะของพระพุทธเจ้าย่อมเป็นโลกุตระ ทรงทำอิริยาบถเช่นมนุษย์แต่ไม่มีการเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ทรงสรงน้ำชำระกายแต่ไม่มีเหงื่อไคลหรืออาจม ทรงทำความสะอาดพระทนต์แต่ไม่มีกลิ่นปากหรือขี้ฟัน พระโอษฐ์จะหอมเหมือนดอกบัว กินอาหารแต่ไม่มีความหิว เมื่อนิทราก็ไม่มีความหลับ ไม่มีพระสุบิน ทรงมีรูปขันธ์แต่อยู่เหนือรูปขันธ์ ไม่ทรงแปดเปื้อนโลก เพราะไม่มีตัณหาอุปาทาน พระพุทธวจนะทุกคำเป็นประโยชน์ต่อเวไนยสัตว์เสมอ เป็นสัจวาที ไม่มีประโยคไร้สาระ ทางฝ่ายอาจาริยวาทจะเน้นลักษณะภาวะเช่นนี้ ส่วนฝ่ายเถรวาทก็อธิบายด้วยคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ

ในสมัยพระเจ้าอโศกซึ่งขึ้นครองราชย์ที่เมืองปาฏลีบุตรราว พ.ศ. 273 พระองค์เป็นผู้สนับสนุนนิกายเถรวาท ทางฝ่ายตำนานบาลีเล่าว่า พระองค์ดำเนินการจับพระภิกษุนอกรีตสึกถึง 60,000 รูป ซึ่งอาจตีความได้ว่าพระองค์ใช้อำนาจรัฐจับพระสงฆ์นิกายที่คิดต่างสึกนั่นเอง พระสงฆ์นิกายอื่นจึงต้องหนีออกจากอาณาจักรไปอยู่เมืองอื่น จากนั้นพระองค์ก็นิมนต์ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ผู้นำฝ่ายเถรวาท มาทำสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นครั้งที่ 3 เมื่อสำเร็จแล้วก็ได้มีการส่งสมณทูตไปยังดินแดนต่างๆเพื่อเผยแผ่ศาสนา โดยมีคณะหนึ่งนำโดยพระโอรสของพระองค์คือ พระมหินทรไปเผยแผ่หลักธรรมเถรวาทที่ลังกา ดังนั้น คณะสงฆ์ฝ่ายลังกาจึงรับหลักธรรมของเถรวาท ต่อมาหลักธรรมนี้ก็แผ่เข้าสู่เมืองมอญ นครศรีธรรมราช พม่า ล้านนา และสยาม ศาสนาพุทธในไทยจึงยึดหลักการเถรวาทตามแบบลังกามาตั้งแต่ครั้งนั้น

จึงขอสรุปว่า พุทธเถรวาทแบบสยามก็เป็นเพียงพุทธนิกายหนึ่งที่มีกรอบการอธิบายของตนเองชุดหนึ่ง ส่วนใครจะอธิบายว่านี่เป็นพุทธแท้ และถ้าคิดแบบอื่นจะเป็นพุทธเทียม ก็แล้วแต่การตีความครับ


You must be logged in to post a comment Login