วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

อย่าปิดประตูตาย / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On March 13, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

รัฐบาลทหาร คสช. กำลังเร่งทำคลอดยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งรับช่วงไปทำต่อ

หลังจากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) การดำเนินการด้านต่างๆก็เป็นไปอย่างคึกคักและเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ มีการตั้งคณะกรรมการย่อยเพื่อแยกย้ายกันทำภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

หลังสงกรานต์ประมาณวันที่ 24 เมษายน จะมีการประชุม ป.ย.ป. ชุดใหญ่เพื่อติดตามผลการดำเนินงานเป็นครั้งแรก

แม้จะมีหลายฝ่ายคัดค้านเรื่องการวางยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพราะเกรงว่าอาจไม่ยืดหยุ่น เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง

แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการกำหนดยุทธศาสตร์เอาไว้ก่อนที่รัฐบาลทหาร คสช. จะพ้นจากอำนาจ

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ยืนยันหนักแน่นว่าประเทศควรต้องมียุทธศาสตร์ชาติในระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ตอนนี้ถือว่าถูกต้อง ทุกภาคส่วนควรเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวนี้ก็ตาม

ดูเหมือนนายศุภชัยจะมั่นใจเต็มเปี่ยมว่าการวางยุทธศาสตร์ชาติครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ ถึงกับออกปากว่า “สำเร็จสิ ต้องไปได้แน่นอน ไม่มีไม่ได้”

ไม่ว่าใครจะมีมุมมองเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร แต่เมื่อกำหนดออกมาแล้วเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำตาม ไม่มีสิทธิบิดพลิ้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ย้ำชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านประชามติ หมวด 16 ได้กำหนดว่า นอกจากรัฐบาลจะมีหน้าที่บริหารแล้ว ยังบัญญัติให้มีการปฏิรูป 7 ด้านคือ 1.การเมือง 2.ระบบราชการ 3.กฎหมาย 4.กระบวนการยุติธรรม 5.การศึกษา 6.เศรษฐกิจ 7.อื่นๆ เช่น ขยะ สาธารณสุข เป็นต้น

“เป็นเรื่องที่ไม่เคยบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใดมาก่อน โดยบัญญัติชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ใครเป็นคนทำ ใช้เวลาดำเนินการเท่าไร นอกจากนี้ยังกำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ เป็นการวางแนวทางเพื่ออนาคต ให้ประชาชนรู้ว่าประเทศไทยจะเดินไปสู่ทิศทางใด ดังนั้น นอกจากรัฐบาลจะมีหน้าที่บริหารราชการแล้ว ยังต้องปฏิรูปประเทศ วางยุทธศาสตร์ชาติ สร้างความสามัคคีปรองดองไปพร้อมๆกัน”

สิ่งที่นายวิษณุพูดนั้นสอดคล้องกับที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวไว้หลายกรรมหลายวาระ โดยยืนยันว่าหลังจากร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำยุทธศาสตร์และกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดทำการปฏิรูปนั้นจะต้องออกมาภายในระยะเวลา 120 วัน จากนั้นจะนำไปสู่การมียุทธศาสตร์และวิธีการปฏิรูปภายในระยะเวลา 1 ปี

นายมีชัยเปรียบเปรยว่า ยุทธศาสตร์ชาติเปรียบเสมือนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาถูกทอดทิ้งพอสมควร เวลาจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี หากรัฐบาลถัดมาไม่ทำตามก็เท่ากับเสียของ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อยู่เรื่อยๆ

ยุทธศาสตร์ที่กำลังจะกำหนดขึ้นมาใหม่นั้นจะเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวถึง 20 ปี เพื่อกำหนดว่าอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร หากรัฐบาลต่อๆไปไม่ทำตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุบทลงโทษ แต่ถือว่าเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายจะไม่มีโทษอะไร แต่ในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

สรุปคือแม้ไม่มีบทลงโทษโดยตรงแต่มีบทลงโทษโดยอ้อมกำกับอยู่

เป็นที่น่าจับตามองว่ายุทธศาสตร์ที่จะกำหนดออกมานั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร การประชุมใหม่ ป.ย.ป. หลังวันสงกรานต์อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนเท่าไรนัก เพราะเป็นการประชุมใหญ่ร่วมกันเป็นครั้งแรกหลังได้รับการแต่งตั้งและแยกย้ายกันไปทำงานในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ

รัฐบาลทหาร คสช. ยังมีเวลาอีกพอสมควรในการทำยุทธศาสตร์ชาติ หากดูตามกรอบเวลาที่นายมีชัยระบุไว้คือ กฎหมายต้องออกมาหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้แล้วอย่างเป็นทางการภายใน 120 วัน หรือ 4 เดือน

ความคืบหน้าของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงแก้ไขขึ้นไปใหม่แล้วในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เมื่อทูลเกล้าฯแล้วจะมีระยะเวลาให้ทรงวินิจฉัย 90 วัน หรือ 3 เดือน ทำให้รัฐบาลทหาร คสช. มีเวลาจัดทำยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อย 7 เดือน

เมื่อถึงเวลาที่ส่งร่างกฎหมายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้คงจะได้เห็นกันว่าอนาคตของประเทศไทยภายใต้วิสัยทัศน์ของรัฐบาลทหาร คสช. จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางไหน อย่างไร

สิ่งที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลจะได้รับการรับฟังหรือไม่ หรือจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หากเกิดขึ้นและมีผลทำให้ประเทศไทยกลายเป็นชาติที่ตกยุคสมัย ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างจนเกิดความเสียหายต่อชาติโดยรวม ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาถึงตอนนี้คงไม่สามารถทัดทานได้แล้ว อย่างไรก็ต้องออกมาเป็นกฎหมายมีสภาพบังคับให้รัฐบาลชุดต่อๆไปต้องสานต่อ ทำตาม

แต่สิ่งที่ควรพิจาณาคือ ไม่ควรยึดติดกับยุทธศาสตร์ที่จะกำหนดออกมามากเกินไป ควรเจาะช่องให้มีความยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต

น่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้เพียงว่า หากรัฐบาลต่อๆไปไม่ทำตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดจะถือเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายจะไม่กำหนดโทษที่ไม่ทำตามยุทธศาสตร์ แต่ในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างชัดเจน

ทางที่ดีกฎหมายควรเปิดช่องไว้ว่า หากรัฐบาลชุดต่อๆไปมีความจำเป็นที่จะไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ หรือมีความจำเป็นที่ไม่สามารถทำตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดเอาไว้ได้ทั้งหมด จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรได้บ้างเพื่อที่จะไม่มีความผิดฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ถ้าไม่เปิดช่องไว้เลยอาจมีปัญหาตามมาในอนาคต เพราะอาจนำประเด็นนี้ไปเป็นข้อกล่าวหากันทางการเมืองเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ง่าย เหมือนกับที่ใช้รัฐธรรมนูญปลดนายกรัฐมนตรี ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาแล้วหลายรัฐบาล

ถ้าไม่เปิดช่องไว้ให้ชัดเจน ยุทธศาสตร์ชาติที่จะทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอดอาจกลายเป็นชนวนทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีกได้ในอนาคต

แต่หากคิดว่าเกิดความขัดแย้งก็ไม่เป็นไร เพราะสามารถเข้ามาคุมอำนาจเพื่อขจัดความขัดแย้งใหม่ได้เรื่อยๆ

ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ว่ากัน


You must be logged in to post a comment Login