วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

บทเรียนจากพุทธภูมิ / โดย บรรจง บินกาซัน

On March 20, 2017

คอลัมน์ : สันติธรรม
ผู้เขียน : บรรจง บินกาซัน

เมื่อครั้งที่ผมทำงานอยู่ในสายการบินปากีสถานก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540 ผมต้องเดินทางไปสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในปากีสถานเพื่อกลับมาส่งเสริมให้คนไทยเดินทางไปเที่ยวที่นั่น

การสำรวจครั้งนั้นมีตัวแทนของบริษัทท่องเที่ยวแห่งหนึ่งซึ่งมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวแสวงบุญของชาวพุทธ และมีพระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักท่านในนาม “กิตติวุฑโฒ ภิกขุ” เจ้าอาวาสสำนักจิตตภาวัน จังหวัดชลบุรี (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นผู้นำคณะ

พระเทพกิตติปัญญาคุณไปปากีสถานบ่อยครั้ง และท่านมักจะขึ้นไปทางเหนือของปากีสถาน เพราะที่นั่นเป็นที่ตั้งของอาณาจักรคันธาระซึ่งพุทธศาสนาเคยรุ่งเรือง และยังมีซากโบราณสถานทางพุทธศาสนาปรากฏให้เห็นอยู่มากมาย ไม่เพียงเท่านั้น ที่นั่นยังมีนักวิชาการมุสลิมชาวปากีสถานที่ศึกษาพุทธศาสนาถึงขั้นปริญญาเอกหลายคน และบางคนเป็นเพื่อนกับพระเทพกิตติปัญญาคุณ

แม้จะนับถือศาสนาต่างกัน แต่เมื่อมิตรต่างแดนมาเยือนและพบกัน ทั้งสองต่างโผเข้ากอดกันด้วยความร่าเริงยินดีเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็น

จุดแรกที่เราไปสำรวจคือ ซากโบราณสถานสำนักตักศิลา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองอิสลามาบัดไปประมาณ 30 กิโลเมตร และพิพิธภัณฑ์ที่แสดงโบราณวัตถุในสมัยพุทธกาลและก่อนหน้านั้น

ในอดีตก่อนพุทธกาลตักศิลาเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรคันธาระที่สถาปนาขึ้นโดยชาวกรีกที่เข้ามารุกรานทางตอนเหนือของอนุทวีป และเมืองนี้เป็นที่ตั้งของสำนักตักศิลา ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตมาชุมนุมกันเพื่อแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้

พระเทพกิตติปัญญาคุณและเพื่อนชาวปากีสถานของท่านเล่าให้ผมฟังว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ศึกษาของบุคคลสำคัญๆในอดีต เช่น เจ้าชายสิทธัตถะ พระเจ้าปเสนทิโกศล หมอชีวกโกมารภัจจ์ และองคุลีมาล

ผมได้ความรู้จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสองว่า ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะเป็นพระพุทธเจ้านั้น ท่านเห็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ผู้คนเป็นทุกข์จากการกดขี่ทางชนชั้นที่ชาวอารยันสร้างขึ้นเพื่อปกครองคนพื้นเมือง ท่านจึงออกจากวังและไปแสวงหาความรู้ที่สำนักตักศิลา แต่เมื่อศึกษาได้สักพักท่านเห็นว่าความรู้จากนักปราชญ์ที่นั่นไม่สามารถช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ได้ ท่านจึงออกมาหาความรู้เอง

เจ้าชายสิทธัตถะตั้งหลักคิดว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน ดังนั้น แต่ละคนจึงต้องหาทางพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง และสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเป็นทุกข์หรือกิเลสก็คือความต้องการของตัวตนที่ไม่รู้จักพอ ดังนั้น ท่านจึงเริ่มปฏิเสธความต้องการของตัวตนโดยการอดข้าวอดน้ำต่อเนื่องนานวัน แต่การทำเช่นนั้นทำให้ร่างกายของท่านซูบผอม สมองขาดสารอาหารไปเลี้ยงจนไม่เกิดสติปัญญา ท่านจึงหันมาดำเนินทางสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือกินดื่มพอประมาณ ใช้ปัญญาและบำเพ็ญสมาธิ ในที่สุดท่านก็บรรลุถึงอริยสัจสี่

พระเทพกิตติปัญญาคุณเปรียบเทียบให้ผมฟังว่า การบรรลุถึงอริยสัจสี่ของเจ้าชายสิทธัตถะก็คล้ายๆกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เหมือนกับไอแซค นิวตัน เห็นปรากฏการณ์แอปเปิ้ลตกจากต้น เหมือนกับเจ้าชายเห็นปรากฏการณ์แห่งทุกข์เกิดขึ้นในสังคม แต่ไอแซค นิวตัน สงสัยว่าทำไมแอปเปิ้ลจึงตกสู่พื้นโลก ทำไมไม่ลอยขึ้นไปบนอากาศเหมือนดวงดาว ความสงสัยดังกล่าวทำให้เขาเริ่มทดลองเพื่อหาความจริงตอบข้อสงสัย และทำให้เขาค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงของโลกที่เป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน

กระบวนการหาความจริงทางสังคมของเจ้าชายสิทธัตถะ ทำให้ท่านพบว่าทุกข์เป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่มีใครในโลกนี้ที่ไม่มีทุกข์ หากไม่อยากมีทุกข์เพิ่มก็อย่าหาทุกข์ใส่ตัว และใครที่ต้องการจะพ้นทุกข์ก็ต้องหาสาเหตุหรือสมุทัยเพื่อดับทุกข์หรือนิโรธ และท่านยังเสนอมรรคแปดและศีลห้าไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้ต้องการจะพ้นทุกข์ด้วย ใครทำตามก็จะพ้นทุกข์

ได้อยู่กับผู้ทรงศีลและผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้ผมได้รับความรู้และความสว่างทางปัญญาอย่างมากมาย และทำให้ผมเห็นว่าศาสนาไม่ใช่เรื่องงมงายถ้าเราเข้าถึงแก่นธรรมที่แท้จริง


You must be logged in to post a comment Login