วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ผู้กล้าเสพยาพิษ / โดย ศิลป์ อิศเรศ

On March 20, 2017

คอลัมน์ : ร้ายสาระ
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ

ผู้กล้า 12 คน ลงชื่อสมัครเป็นหนูทดลองบริโภคอาหารเจือปนสารพิษชนิดต่างๆทุกมื้อติดต่อกันเป็นเวลา 12 เดือน เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิจัยว่าสารพิษแต่ละชนิดหากเสพเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเท่าใดผู้บริโภคจึงจะแสดงอาการเจ็บป่วย

สมัยศตวรรษที่ 19 ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตสินค้าบริโภคติดฉลากระบุรายละเอียดส่วนประกอบที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า ซึ่งผู้ผลิตส่วนใหญ่มักจะใช้สารเคมีชนิดต่างๆผสมลงในอาหารเพื่อทำให้ดูน่ารับประทานหรือเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ปี 1877 คณะกรรมการปกครองท้องถิ่นในประเทศอังกฤษพบว่านมสดที่เร่ขายตามท้องถนนนั้นไม่ใช่นมสดแท้ๆ แต่มีการเจือปนน้ำและแร่ชอล์ก ขณะที่เหล้าจินมีส่วนผสมของแร่ทองแดงเพื่อทำให้สีสันน่าดื่ม

ในยุคสมัยนั้นอุตสาหกรรมของบริโภคไม่เคยถูกหน่วยงานรัฐบาลตรวจสอบ ดังจะเห็นได้ว่ายาแก้ไข้มีส่วนผสมของมอร์ฟีน น้ำมันสกัดจากเมล็ดฝ้ายแต่ติดฉลากว่าเป็นน้ำมันมะกอก หรือน้ำตาลกลูโคสติดฉลากว่าเป็นน้ำผึ้ง อุตสาหกรรมผลิตอาหารนำสารเคมีชนิดใหม่ๆมาผสมลงในอาหารโดยไม่ผ่านการวิจัยและไม่ติดฉลากแจ้งให้ผู้บริโภคได้รับทราบ

ฮาร์วีย์ ไวเลย์ อดีตศาสตราจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเพอร์ดู รัฐอินดีแอนา รู้สึกตกใจกับการใช้สารเคมีที่อาจเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตผสมอยู่ในอาหาร หลังจากที่ฮาร์วีย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายเคมี กระทรวงเกษตร ในปี 1883 เขาพยายามของบประมาณทำการวิจัยส่วนผสมแปลกปลอมในอาหารที่มีวางจำหน่ายตามท้องตลาด แต่ก็ถูกตีตกไปทุกครั้งจากอิทธิพลของกลุ่มผู้ทำอุตสาหกรรมอาหาร แต่แล้วในที่สุดความฝันก็เป็นความจริง ปี 1902 สภาคองเกรสอนุมัติเงิน 5,000 ดอลลาร์ ให้ฮาร์วีย์ใช้ทำการวิจัย

ผู้กล้าท้าความตาย

ฮาร์วีย์ลงประกาศรับสมัครอาสาสมัคร โดยยื่นข้อเสนอว่าจะเลี้ยงดูด้วยอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ ทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี ข้อเสนอนี้อาจดูไร้สาระสำหรับคนยุคปัจจุบัน แต่สมัยศตวรรษที่ 19 อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ทุกมื้อเป็นอะไรที่เกินเอื้อมของคนส่วนใหญ่

แน่นอนว่าฮาร์วีย์ไม่ได้เชิญมากินฟรีๆ เขาแจ้งรายละเอียดให้อาสาสมัครรู้ตัวล่วงหน้าว่าอาหารที่นำมาเสิร์ฟนั้นถูกเจือปนด้วยสารที่อาจมีพิษต่อสิ่งมีชีวิต เช่น นมและกาแฟมีสารบอแรกซ์ เนื้อสัตว์มีสารฟอร์มาลิน ผลไม้มีจุนสีและดินประสิว

ฮาร์วีย์คัดเลือกอาสาสมัครผู้ชาย 12 คน โดยเลือกจากอายุในวัยผู้ใหญ่เต็มตัวแต่ยังไม่ถึงวัยกลางคนและมีสุขภาพที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุผลว่าหากสารแปลกปลอมที่เจือปนในอาหารส่งผลร้ายต่ออาสาสมัครกลุ่มนี้ก็มั่นใจได้ว่าจะส่งผลร้ายต่อเด็ก สตรี และผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน

ฮาร์วีย์เรียกอาสาสมัครกลุ่มนี้ว่า กลุ่มทดลองอาหารสุขอนามัย แต่สื่อที่ร่วมสังเกตการทดลองแนะนำให้ใช้ชื่อว่า “กลุ่มเสพอาหารเป็นพิษ” อาหารได้รับการปรุงด้วยพ่อครัวมืออาชีพ ขณะที่กลุ่มอาสาสมัครถูกจดบันทึกน้ำหนัก อุณหภูมิร่างกาย และการเต้นของหัวใจ ก่อนบริโภคอาหารมื้อพิเศษทุกครั้ง

อาสาสมัครทั้ง 12 คน จะล้อมวงรับประทานอาหารมื้อพิเศษที่จัดไว้ให้ โดยฮาร์วีย์เขียนป้ายคำขวัญว่า “อาหารสำหรับผู้กล้าเท่านั้น” การทดลองเริ่มจากการทาสารบอแรกซ์ลงในเนื้อสัตว์ทีละน้อยและค่อยๆเพิ่มปริมาณมากขึ้นในมื้อถัดๆไป เนื่องจากบอแรกซ์เป็นสารที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้ในการถนอมอาหารในสมัยนั้น

สุดจะทน

การทดลองเสิร์ฟอาหารผสมสารบอแรกซ์ดำเนินไปเกือบปี ในที่สุดเดือนพฤษภาคม 1903 อาสาสมัครก็สุดจะทน ออกมาประท้วงว่าจะไม่ขอกินอาหารผสมบอแรกซ์อีก เพราะทำให้รู้สึกว่าร่างกายร้อนรุ่ม ไม่สบายตัว

ฮาร์วีย์ต่อรองให้ทนกินอีกสักพัก อาสาสมัคร 7 คนโอนอ่อนผ่อนตาม ส่วนอีก 5 คนที่เหลือปฏิเสธ การทดลองเสิร์ฟอาหารผสมบอแรกซ์ดำเนินต่อไปจนถึงเดือนมิถุนายน แต่แล้วอาสาสมัครทุกคนขอยอมแพ้ ไม่ยอมกินอาหารผสมสารบอแรกซ์อีก

การทดลองใช้สารบอแรกซ์สิ้นสุดลงเร็วกว่าที่กำหนด แต่อย่างน้อยฮาร์วีย์ก็ได้ข้อสรุปว่าทำให้เกิดอาการปวดท้อง ไม่อยากอาหาร และปวดศีรษะ อาสาสมัครกลุ่มนี้ได้รับการปล่อยกลับบ้านไปฟื้นฟูสุขภาพ แต่การทดลองยังไม่สิ้นสุด ฮาร์วีย์คัดเลือกอาสาสมัครกลุ่มใหม่เพื่อทดลองการใช้กรดซาลิไซลิกที่นิยมใช้เก็บรักษาผลไม้ และสารพิษชนิดอื่นๆอีกหลายชนิด จนกระทั่งถึงการทดลองระยะสุดท้ายในปี 1907 ฮาร์วีย์ใช้สารฟอร์มาลินผสมลงในอาหาร

งานวิจัยของฮาร์วีย์ส่งผลให้มีการออกรัฐบัญญัติควบคุมการใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่ฮาร์วีย์ยังคงทำงานที่กระทรวงเกษตรจนถึงปี 1912 หลังจากนั้นเขาก็ทำงานเป็นที่ปรึกษานิตยสารแม่บ้านแสนดี (Good Housekeeping Magazine)

ปีเดียวก็เกินพอ

งานวิจัยของฮาร์วีย์ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในกลุ่มแม่บ้าน มีการพิมพ์ใบปลิวเตือนภัยอาหารผสมสารเคมีเป็นพิษออกแจกจ่าย และมีการเรียกร้องให้ผู้ผลิตสินค้าทำการทดสอบสินค้าที่ผลิตก่อนนำมาวางตลาด

ปี 1927 ฮาร์วีย์เขียนบทความเตือนผู้อ่านนิตยสารถึงสาเหตุต่างๆที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งและให้ระมัดระวังการบริโภคยาสูบ ต่อมาในปี 1952 นิตยสาร Good Housekeeping Magazine ระงับการโฆษณาบุหรี่ในหนังสือ แต่กว่าสมาคมแพทย์จะออกมายืนยันภัยเงียบจากบุหรี่ก็ปาเข้าไปปี 1964

การทดลองของฮาร์วีย์ในครั้งนั้นไม่สามารถรับรองได้ว่าอาสาสมัครจะปลอดภัย เขาจึงตั้งเพดานให้อาสาสมัครแต่ละคนอยู่ในโครงการไม่เกิน 12 เดือน ซึ่งฮาร์วีย์เชื่อว่าเป็นเวลานานพอที่จะศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ไม่ถึงกับสร้างความเสียหายอย่างถาวร

การทดลองของฮาร์วีย์ส่งผลให้มีการออกกฎหมายควบคุมกรรมวิธีการผลิตสินค้าบริโภคและการใช้สารเคมีเจือปนลงในอาหาร มีการบังคับให้ติดฉลากแจ้งรายละเอียดส่วนประกอบที่สำคัญในอาหารดังที่เราเห็นกันในปัจจุบัน


You must be logged in to post a comment Login