วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘Legitimacy’วัฒนธรรมความชอบธรรม / โดย เรืองยศ จันทรคีรี

On March 20, 2017

คอลัมน์ : กรีดกระบี่บนสายธาร
ผู้เขียน : เรืองยศ จันทรคีรี

บทความวันนี้กล่าวถึงเหตุผลและความชอบธรรมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ผู้เขียนคงต้องอ้างอิงแนวความคิดของจอห์น ล็อค นักปรัชญาชาวอังกฤษ ทางด้านความรู้ต่างๆ

จอห์น ล็อค มีความเห็นตอนหนึ่งว่า รากฐานของปรัชญาการเมืองต่างๆต้นกำเนิดมาจากเงื่อนไข 3 ข้อ ได้แก่ 1.สิทธิในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน 2.เสรีภาพ และ 3.ทรัพย์สิน ทั้ง 3 ประการเป็นรากฐานนำไปสู่ปรัชญาทางการเมืองและการบริหารจัดการ เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีต้นกำเนิดจากกรีกนั้นมีความเหมาะสมและเข้ากับจริตของมนุษย์ได้ดีที่สุด

ประชาธิปไตยแบบกรีกโบราณเป็นประชาธิปไตยทางตรง แต่ประชาธิปไตยในปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยในระบบตัวแทน ซึ่งต้นกำเนิดที่สำคัญอ้างอิงมาจากอดีตประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

ความคิดดังกล่าวกลายเป็นวรรคทองและเป็นแนวทางของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก ต่อมาในระยะหลังๆเริ่มมีผู้คัดค้านบ้าง โดยให้เหตุผลว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่นักประชาธิปไตยก็โต้กลับว่า แม้จะมีการอธิบายและให้ความหมายประชาธิปไตยในหลายๆอย่าง แต่หัวใจสำคัญๆของประชาธิปไตยก็ต้องมีหลักประกันทั้ง 2 ข้อคือ การเลือกตั้งที่หมายถึงการคัดเลือกผู้นำเข้าไปบริหารประเทศ หรือเป็นการเลือกผู้แทนของประชาชนนั่นเอง ส่วนรัฐธรรมนูญคือหลักประกันของกฎหมายในการปกครองตัวเอง

เรื่องของประชาธิปไตยยังมีข้อโต้แย้งอีกมากมาย เช่น มีผู้เห็นว่าการเลือกผู้แทนของประชาชนอาจไม่ใช่ประชาธิปไตยก็ได้ เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชัน ในบางประเทศเช่นอินเดียหรืออิหร่านก็เคยมีการเลือกตั้ง แต่ในภาคปฏิบัติจริงๆแล้วสังคมก็ยังมีความไม่เสมอภาค เช่น ระบบวรรณะในอินเดีย หรือเรื่องสิทธิสตรี เป็นต้น

จากเหตุผลนี้เองจึงมีบางคนบางกลุ่มสรุปว่า โดยแท้จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเสมอไป ผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็สามารถสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาได้ ถ้าเรามองจากจุดนี้แล้วก็เป็นเรื่องกำกวมและสับสนอยู่เหมือนกัน เพราะผู้นำในแบบดังกล่าวอาจเป็นผู้นำที่มาจากบารมีส่วนตัว หรือก้าวขึ้นสู่อำนาจโดยกำลังอาวุธ

เหตุการณ์เช่นนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกเคยให้ความเห็นว่า “…ในระบอบการเมืองหรือระบอบการบริหารที่ใช้ศาสตรานั้นน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและถือว่าผิดธรรมะด้วยซ้ำไป ในเรื่องอำนาจนั้นน่าจะต้องใช้อาญามากกว่าศาสตรา…”

แต่ก็ยังมีผู้ตั้งประเด็นอีกว่า อาญาที่มีศาสตราสนับสนุนก็น่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาสำคัญจึงอยู่ที่ว่า สมมุติเราเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องตั้งคำถามถึงเรื่อง “ความชอบธรรม”

ถ้าหากมีความคิดในระบอบการบริหารแบบข้าราชการหรือสังคมตามลำดับขั้น ผู้ปกครองในหลายประเทศที่มีอำนาจทางกฎหมายอยู่ในมือก็ถือว่าตัวเองมีความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจให้ประชาชนทำตามคำสั่ง ประเด็นนี้เราคงโต้แย้งไม่ได้เหมือนกันสำหรับเรื่องความรักชาติในอดีต แต่สำหรับความชอบธรรมในปัจจุบัน โลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แม้กระทั่งเขตแดนความเป็นรัฐก็ต้องมีความยืดหยุ่นและประสานประโยชน์กับกระแสที่เราเรียกว่า “โลกาภิวัตน์” รัฐบาลอาจต้องฟังความเห็นขององค์กรระดับนานาชาติ เช่น องค์การสหประชาชาติ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือประเทศที่รวมกลุ่มเป็น G-7 หรือ G-8 เป็นต้น แม้กระทั่งองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ

นี่คือความหมายที่ระบุว่าอำนาจของรัฐแต่ละรัฐนั้นมีความชอบธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้ามีรัฐบาลในโลกที่แข็งตัวและไม่ยอมยืดหยุ่นเหมือนอย่างเกาหลีเหนือ รับรองว่าต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน

ทีนี้มาถึงข้อสรุปของประเทศไทย คือเรื่องเหตุผลทางการเมืองและอำนาจ เราจำเป็นต้องแสวงหาความชอบธรรมให้เกิดขึ้น ความชอบธรรมดังกล่าวจำเป็นต้องมีการค้อมน้อมรับโดยทั่วกัน ถ้าไม่ถูกค้อมน้อมรับโดยทั่วกันก็จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องการเมือง

แม้กระทั่งเรื่องเศรษฐกิจที่เราพยายามจะทำให้ประเทศนี้มีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง แต่เสียงประชาชนส่วนใหญ่กลับมองว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากนัก แต่ต้องการเศรษฐกิจที่เป็นธรรมในประเทศมากกว่า และด้วยคำถามเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นธรรม นักอุดมคติประชาธิปไตยก็เห็นว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนี่แหละที่สามารถทำให้ประชาชนเป็นกบฏต่อผู้ปกครองได้ หรือถอดถอนผู้ปกครองที่ไม่มีคุณภาพได้

โดยข้อสรุปแล้วไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอะไรนักหากสังคมนั้นๆมีวัฒนธรรมความเป็นธรรมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอ้างอิงระบอบไหนก็ตาม ถ้าไม่มีความเป็นธรรมแล้วอย่างไรก็ย่อมเกิดปัญหาวันยังค่ำ อย่างระบอบราชการ ถ้ายังไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ปล่อยให้เป็นไปตามกระแสให้เป็นสังคมตามลำดับขั้นและมีจิตสำนึกแบบราชการ แม้จะมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยตามแบบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็น่าหนักใจและเหนื่อยหน่ายทั้งสิ้น

นี่คือต้นตอใหญ่ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยที่เลวร้ายยิ่งกว่านักการเมืองจากการเลือกตั้ง หรือผู้บริหารที่มาจากนอกระบบ


You must be logged in to post a comment Login