วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปัญหาธรรมกาย ทางออกที่ทำให้เป็นทางตัน / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On March 20, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

ถ้าจำกัด “ขอบเขต” ของปัญหาธรรมกายอยู่ที่ “คดีเกี่ยวกับการทุจริต” ของพระธัมมชโย ทางออกก็มีอยู่แล้วคือการดำเนินคดีตามกฎหมายปรกติ ตามกระบวนการยุติธรรมปรกติเหมือนคดีทุจริตอื่นๆ

แต่กระบวนการจัดการกับพระธัมมชโยกลับเริ่มต้นจากทำให้เป็น “การเมือง” ตั้งแต่แรก โดยใช้วาระ “การปฏิรูปพุทธศาสนา” ของพระบางรูปและคนบางกลุ่มที่ออกไปชุมนุมทางการเมืองเรียกร้องรัฐประหารและสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร แล้วเสนอวาระการปฏิรูปพุทธศาสนาของพวกตนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปประเทศตามนโยบายรัฐบาล คสช.

รูปธรรมที่เห็นคือ การปฏิรูปประเทศเริ่มด้วยการจัดการกลุ่มการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทย เช่น การดำเนินคดีกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกรัฐประหาร เรื่อยมาจนถึงการเสนอให้เก็บภาษีอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร 16,000 ล้านบาท จากเงินที่เคยยึดไปแล้ว 46,000 ล้านบาท

ขณะที่การปฏิรูปศาสนาก็เริ่มจากการรื้อข้อกล่าวหา “อาบัติปาราชิก” พระธัมมชโยที่จบไปแล้วขึ้นมาพิจารณาใหม่ เมื่อไม่สำเร็จก็นำมาสู่กระบวนการสกัด “สมเด็จช่วง” ไม่ให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตามมติมหาเถรสมาคม ด้วยการกล่าวหาว่าเป็นพระที่ฝ่ายวัดพระธรรมกายสนับสนุน จนนำมาสู่คดีครอบครองรถโบราณที่ไม่เสียภาษีและการแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ ทำให้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

หลังจากได้สมเด็จพระสังฆราช หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกายและบริเวณโดยรอบเพื่อเข้าตรวจค้นจับกุมพระธัมมชโย โดยใช้กำลังพลร่วมครึ่งหมื่นและงบประมาณจำนวนมหาศาลในการดำเนินการเกือบเดือน ผลคือ “คว้าน้ำเหลว” อย่างที่เห็น

กระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมาคือการดำเนินการกับพระธัมมชโยในดึงการเมืองมาเกี่ยวข้อง หรือทำให้คดีของพระธัมมชโยถูกอ้างว่าเป็นผลพวงจากข้อกล่าวหาทางการเมือง เช่น กล่าวหาว่าวัดพระธรรมกายสนับสนุนพรรคเพื่อไทยบ้าง เป็นพวกเสื้อแดงบ้าง เป็น “ลัทธินอกรีต” สอนผิดพระไตรปิฎกบ้าง เป็นภัยต่อพุทธศาสนาและความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ

ข้อกล่าวหาทางการเมืองและกระบวนการขับเคลื่อนให้จัดการพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายเกิดจากกลุ่มคนที่มีความเห็นต่าง ความเชื่อต่างในเรื่องทางศาสนา และอยู่ขั้วการเมืองคนละขั้ว จึงเป็นเหตุให้วัดพระธรรมกายอ้างได้ว่าหากพระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำให้มวลชนขัดขวางการเข้าตรวจค้นจับกุม นั่นก็คือฝ่ายวัดพระธรรมกายก็ใช้ “การเมืองมวลชน” ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐเช่นกัน

ความเป็นการเมืองยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อรัฐใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตรวจค้นจับกุมตัวไม่สำเร็จ นำมาสู่การ “ถอดสมณศักดิ์” พระธัมมชโย ตามมาด้วยพระเผด็จ ทัตตชีโว ซึ่งเป็นผู้นำวัดพระธรรมกายที่มีบารมีรองลงมาจากพระธัมมชโย จากนั้นดีเอสไอก็เสนอให้ใช้กฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 ดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องสละสมณเพศ โดยมหาเถรสมาคมได้มีมติให้เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้นไปพิจารณาดำเนินการว่าเข้าข่ายผิดพระธรรมวินัยจนเป็นเหตุให้ต้องสละสมณเพศหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนดำเนินการยังไม่สามารถกำหนดเงื่อนเวลาได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ “ทางออก” ตามกฎหมายปรกติจึงถูกทำให้เป็น “ทางตัน” ทว่าอาจไม่ใช่เป็นเพียงทางตันในการแก้ปัญหาพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายเท่านั้น แต่อาจเป็นทางตันการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยรวมทั้งหมด

ที่ว่าอาจเป็นทางตันการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยรวมทั้งหมด เพราะกระบวนการที่ใช้จัดการปัญหาวัดพระธรรมกายนั้น เมื่ออำนาจรัฐดำเนินการมาถึงการถอดสมณศักดิ์และให้อำนาจคณะสงฆ์ดำเนินการในเรื่อง “สึก” พระธัมมชโยแล้ว ฝ่ายเคลื่อนไหวให้ปฏิรูปพุทธศาสนาก็เรียกร้องให้ภาครัฐต้องแก้ไข “ปัญหาพระภิกษุจำนวนมากที่ประพฤติล่วงพระธรรมวินัย” พร้อมเสนอตั้ง “สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ” ที่มีอำนาจกำกับดูแลการสอนผิดสอนถูกและการปฏิบัติผิดปฏิบัติถูกหลักธรรมวินัยของพระสงฆ์

ข้อเสนอเช่นนี้ไม่ใช่การปฏิรูปศาสนาเสียแล้ว แต่เป็นการกระชับอำนาจรัฐในการควบคุมศาสนา เพราะการปฏิรูปศาสนาบนหลักการของโลกสมัยใหม่หมายถึง “การแยกศาสนาจากรัฐ” หรือ secularization หมายความว่าต้องทำให้องค์กรศาสนาของรัฐกลายเป็นองค์กรเอกชน เพื่อไม่ให้รัฐใช้หลักคำสอนและองค์กรหรือสถาบันศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะเดียวกันศาสนาก็ไม่อาศัยอำนาจรัฐในการอุปถัมภ์ สร้างอำนาจและผลประโยชน์ใดๆแก่ศาสนจักร

การปฏิรูปศาสนาไม่ใช่การสร้างกลไกทางกฎหมายให้รัฐมีอำนาจควบคุมการสอน การปฏิบัติถูกผิดตามหลักความเชื่อทางศาสนา ต้องทำให้รัฐไม่มีอำนาจเช่นนั้น เรื่องถูกผิดตามความเชื่อทางศาสนาต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรศาสนาที่เป็นเอกชนวินิจฉัยตัดสินกันเอง ภายใต้การตรวจสอบของชุมชนหรือกลุ่มคนที่นับถือศาสนานั้นๆ นิกายนั้นๆ วัดหรือสำนักนั้นๆ มีเสรีภาพดำเนินการตามความเชื่อของตนเอง รัฐต้อง “เป็นกลาง” ทางศาสนาและความเชื่อพื้นฐานต่างๆที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น

ฉะนั้นข้อเสนอปฏิรูปศาสนาเวลานี้จึงเดินไปในทิศทางเดียวกับการปฏิรูปการเมืองที่เป็นเรื่องของฝ่ายอนุรักษ์นิยม “กระชับอำนาจ” ทางการเมืองและอำนาจควบคุมความเชื่อทางศาสนาและองค์กรสงฆ์ ซึ่งเป็นการทำให้เกิด “ทางตัน” การพัฒนาประชาธิปไตยและการแยกศาสนาออกจากรัฐ จึงมองได้ไม่ยากว่าทางตันดังกล่าวจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและทางศาสนาไปอีกนาน


You must be logged in to post a comment Login