- อย่าไปอินPosted 1 day ago
- ปีดับคนดังPosted 2 days ago
- เรื่องยังไม่จบPosted 3 days ago
- ต้องช่วยผู้หญิงขึ้นจากขุมนรกPosted 4 days ago
- คนดีสยบทุกอย่างได้Posted 5 days ago
- จัดการได้ก็ทำเถอะPosted 1 week ago
- ชวนทำบุญครั้งสุดท้ายPosted 1 week ago
- อย่าไปซ้ำเติมPosted 1 week ago
- คงมีโอกาสดีได้นะPosted 2 weeks ago
- ช่วยสร้างบรรยากาศชื่นมื่นPosted 2 weeks ago
เล่าเรื่อง‘จุฬาฯ 1 ศตวรรษ’ / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
ตามประวัติความเป็นมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนามาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงและโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยขั้นอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ตามปฏิทินแบบเก่าที่ขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน ดังนั้น วันที่ 26 มีนาคมนี้ จึงครบรอบ 1 ศตวรรษที่ต้องทบทวนบทบาททางสังคมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ตั้งแต่เริ่มสร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่ในสยาม เป้าหมายสำคัญคือ การผลิตบุคคลรับใช้ระบบราชการที่มีการปฏิรูปใหม่ในรัชกาลที่ 5 ทำให้ระบบขุนนางแบบเก่าผลิตจำนวนคนได้ไม่พอเพียง ยิ่งกว่านั้นระบบราชการสมัยใหม่ไม่ได้รองรับความรู้แบบจารีตประเพณีที่ศึกษาพระบาลีหรือศิลปศาสตร์ 18 ประการ แต่เป็นความรู้วิทยาการแบบตะวันตก จึงมาสู่การตั้งโรงเรียนแบบสมัยใหม่จำนวนมากในพระนครและหัวเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางมณฑล โดยระยะแรกรับนักเรียนชาย เพราะผู้หญิงไม่มีสิทธิรับราชการเป็นขุนนาง ต่อมาเริ่มมีการตั้งโรงเรียนสตรีเพื่อให้มีความรู้สมัยใหม่และเป็นภรรยาที่เชิดหน้าชูตาของสามีที่เป็นข้าราชการ
จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ที่รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีบทบาทสำคัญในการเสนอให้ตั้งสถาบันอุดมศึกษา แต่ถูกคัดค้านอย่างหนัก เพราะเสนาบดีอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าโรงเรียนมหาดเล็กหลวงแบบเดิมก็ผลิตข้าราชการได้อยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งมหาวิทยาลัยให้สิ้นเปลือง แต่ในที่สุดโครงการนี้ก็บรรลุผล เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯทรงให้การสนับสนุน
เป้าหมายในขั้นแรกของมหาวิทยาลัยคือ ผลิตข้าราชการที่มีความรู้ใหม่มารองรับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และผลิตแพทย์สู่โรงพยาบาลของราชการ ดังนั้น ผู้ที่เข้าศึกษาในระยะแรกจึงเป็นกุลบุตรที่เป็นบุตรขุนนางและคหบดีซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ดังมีหลักฐานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระยะแรกก่อตั้งมี 4 คณะคือ คณะแพทยศาสตร์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การสอนในขั้นแรกรับนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 เข้าเรียน จัดเป็นขั้นประกาศนียบัตร รุ่นแรกเมื่อ พ.ศ. 2460 มีผู้จบการศึกษา 45 คน เป็นชายทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นประกาศนียบัตรแพทย์ 37 คน รัฐประศาสนศาสตร์ 6 คน และวิศวกรรม 2 คน
ต่อมา พ.ศ. 2466 มีการปรับปรุงการสอนคณะแพทยศาสตร์เป็นชั้นปริญญาตรี และเปลี่ยนคุณสมบัติผู้เข้าเรียนเป็นผู้ที่สอบได้มัธยมปีที่ 8 แพทยศาสตรบัณฑิตจบรุ่นแรก พ.ศ. 2471 จำนวน 18 คน และ พ.ศ. 2472 มีการเพิ่มการสอนในระดับประกาศนียบัตรครูมัธยมอักษรศาสตร์ เรียน 2 ปี โดยมีนักเรียนรุ่นแรก 16 คน โดยรวมแล้วในระยะแรกของมหาวิทยาลัย อัตราการจบการศึกษายังน้อยมาก คือไม่เกิน 70 คนต่อปี
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยก็ตื่นเต้นกับสถานการณ์นี้ด้วย เช่น อุบล คุวานเสน นิสิตอักษรศาสตร์ เล่าว่า เธอและเพื่อนกลุ่มหนึ่งได้ขึ้นรถไปดูการปฏิวัติที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เห็นรถถังและทหารเต็มไปหมด รู้สึกกลัวจึงกลับมาห้องเรียนตามเดิม ส่วนผอบ วิโรจน์เพ็ชร ซึ่งจบการศึกษาแล้ว ขณะนั้นรับราชการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ ถนนเพชรบุรี ได้เดินจากโรงเรียนไปดูเหตุการณ์ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเช่นกัน
ปรากฏว่าการปฏิวัติครั้งนั้นได้นำมาซึ่งกระแสความตื่นตัวเรื่องสิทธิของราษฎรที่จะเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองต้องการ ในกรณีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตได้ประท้วงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยกระดับการศึกษาของคณะอื่นจากประกาศนียบัตรเป็นปริญญาตรีเช่นเดียวกับคณะแพทยศาสตร์ ในที่สุดรัฐบาลคณะราษฎรก็ปรับหลักสูตรยกระดับการศึกษาคณะอื่นเป็นขั้นอนุปริญญาและเป็นขั้นปริญญาตรีในที่สุด เริ่มจากปีการศึกษา 2476 ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกลายเป็นแหล่งผลิตปัญญาชนที่มีบทบาทในการให้ความรู้ทางวิชาการเพิ่มมากขึ้น
พ.ศ. 2479 พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) รัฐมนตรีกลาโหม ได้เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย ขณะที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) รับตำแหน่งผู้ประศาสน์การของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้นำคณะราษฎรให้ความสำคัญแก่การศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างมาก
ต่อมา พ.ศ. 2481 พ.อ.หลวงพิบูลสงครามได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น กำหนดให้มีเครื่องแบบนิสิตให้สอดคล้องกับนโยบายวัฒนธรรม ที่สำคัญกว่านั้นคือ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2482 รัฐบาลคณะราษฎรได้ผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่บริเวณตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จากถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 เนื้อที่ 1,196 ไร่ 32 ตารางวา ให้เป็นทรัพย์สินเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยทั้งหมด เพราะแต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงยกที่ดินแปลงนี้ไว้ในบัญชีเลี้ยงชีพของบาทบริจาริกาของพระองค์ ดังนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องจ่ายค่าเช่าให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตลอด
ผลจากกฎหมายยกที่ดินฉบับนี้ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ครอบครองที่ดินอันมีค่า และเป็นแหล่งสร้างทรัพย์สินอันมหาศาลให้กับมหาวิทยาลัยต่อมา
นิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มมีบทบาททางการเมืองครั้งแรกหลังจากที่รัฐบาล พล.ต.หลวงพิบูลสงครามเคลื่อนไหวชาตินิยม โดยเรียกร้องดินแดนมณฑลบูรพาคืนจากฝรั่งเศสเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2483 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดการเดินขบวนใหญ่จากมหาวิทยาลัยไปถึงกระทรวงกลาโหมเพื่อสนับสนุนรัฐบาล ซึ่งการเรียกร้องบรรลุผล เพราะใน พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยได้ดินแดนคืนมาจากฝรั่งเศส 4 จังหวัด แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง รัฐบาลไทยต้องคืนดินแดนเหล่านี้ให้ฝรั่งเศส
หลังจากฝ่ายทหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารต้องการลดบทบาทด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงเปิดคณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2491 ที่น่าสนใจคือ การย้อนยุคเป้าหมายการศึกษา เพราะในขณะที่เป้าหมายการศึกษาสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองอยู่ที่การมุ่งสร้างความรู้เรื่องประชาธิปไตยให้แก่สังคม ซึ่งจะเป็นข้าราชการในระบบใหม่ แต่เป้าหมายของคณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยย้อนยุคกลับไปสู่เป้าหมายแบบเดิมคือ การผลิตข้าราชการให้กับกระทรวงมหาดไทย จึงมีการนำข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นอาจารย์พิเศษหลายคน และมีข้อตกลงว่าบัณฑิตที่จบคณะรัฐศาสตร์ 3 รุ่นแรก จำนวนรุ่นละ 60 คน กระทรวงมหาดไทยจะรับเป็นปลัดอำเภอทั้งหมด ดังนั้น นิสิต 3 รุ่นนี้จึงเป็นนิสิตชายหมด ไม่มีนิสิตหญิงเลย
นี่เป็นเรื่องเล่าพอหอมปากหอมคอของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยแรก ฉบับหน้าจะมาเล่าต่อเรื่องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับขบวนการนักศึกษาครับ
You must be logged in to post a comment Login