วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘ทักษิณ’ตั้งการ์ดสู้

On March 23, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

เรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ฝ่ายรัฐกำลังเร่งรัดให้กรมสรรพากรดำเนินการให้ทันก่อนคดีหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคมนี้นั้น

ที่ผ่านมามีแต่ตัวแทนฝ่ายรัฐที่ออกมาพูดเหตุผลและข้อกฎหมายที่จะใช้ดำเนินการ ขณะที่ฝ่ายดร.ทักษิณ นิ่งเงียบ มีเพียงผู้เกี่ยวข้องไม่กี่คนที่พยายามออกมาโต้แย้ง

ล่าสุดมีคำโต้แย้งอย่างเป็นทางการจากฝ่ายดร.ทักษิณออกมาแล้ว โดยเป็นการโต้แย้งผ่าน นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของอดีตนายกรัฐมนตรี

นายนพดลยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใครมีเจตนาไม่ชำระภาษี แต่การขายหุ้นดังกล่าวนั้นไม่มีภาระภาษีตามกฎหมาย โดยมีเหตุผลดังนี้

1.เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา ในปี 2553 ซึ่งสรุปความตอนหนึ่งได้ว่า หุ้นในชินคอร์ปที่รวมขายให้กลุ่มเทมาเส็กในปี 2549 นั้น ดร.ทักษิณและภรรยา ยังคงไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปดังกล่าว นอกจากนั้น ศาลภาษีอากรกลางก็เคยมีคำพิพากษาสรุปความตอนหนึ่งได้ว่าหุ้นที่นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ซื้อมาจากแอมเปิลริชเป็นหุ้นของดร.ทักษิณและภรรยา นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาถือหุ้นไว้แทน และมิใช่เจ้าของแท้จริงของหุ้น

ที่มีข่าวว่าเจ้าหน้าที่จะประเมินภาษีในส่วนการโอนหุ้นโดยแอมเพิลริช 329.2 ล้านหุ้นไปให้นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา ตนมีความเห็นสอดคล้องกับนักกฎหมายภาษีว่าเมื่อหุ้นดังกล่าวยังคงเป็นหุ้นของ ดร.ทักษิณและภรรยา ไม่ใช่หุ้นของแอมเพิลริช เจ้าหน้าที่จะสรุปว่ามีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวระหว่างแอมเพิลริชและนายพานทองแท้ น.ส.พินทองทาไม่ได้ ธุรกรรมซื้อขายดังกล่าวจึงถือเสมือนว่าไม่ได้เกิดขึ้น จึงไม่มีเงินได้และภาระภาษี เพราะหุ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของดร.ทักษิณและภรรยา มาแต่ต้น

2.การขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กกระทำผ่านตลาดหลักทรัพย์จึงไม่มีภาระภาษี ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ข้อ2(23) ซึ่งกฎหมายนี้ใช้บังคับกับทุกคน ไม่มีข้อยกเว้น นอกจากนั้นเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปและเงินปันผลจากหุ้นประมาณ 46,000 ล้านบาท ถูกยึดตกเป็นของแผ่นดินไปตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว

3.การขายหุ้นชินคอร์ปเกิดขึ้นมาสิบปีแล้ว ประเด็นภาษีเกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะได้ข้อยุติไปนานแล้ว ส่วนที่มีรองนายกรัฐมนตรีจะใช้อภินิหารทางกฎหมาย (Miracle of Law) เพราะเจอช่องทางที่สมควรจะเสี่ยงดูในเรื่องที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ หลายคนตั้งคำถามว่าจะเสี่ยงไปทำไม ในเมื่อกรมสรรพากรให้ความเห็นชัดเจนไปแล้ว

“ถ้ามีการประเมินแล้วเรื่องต้องไปสู่กระบวนการยุติธรรม จะมีการแต่งตั้งทนายความ หรือที่ปรึกษาทางกฎหมายเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ต่อไป ส่วนจะฟ้องร้องใครในชั้นต้น ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดได้ เพราะเป็นเรื่องที่ทีมทนายความต้องไปพิจารณาก่อน แต่โดยหลักเราต้องรักษาสิทธิที่พึงมีของดร.ทักษิณ”

ส่วนที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แย้งว่าสามารถเรียกเก็บภาษีได้ โดยใช้ช่องทางมาตรา 61 ของประมวลรัษฎากรนั้น นายนพดล มองว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว การจะประเมินภาษีดร.ทักษิณต้องใช้มาตรา 19 ของประมวลรัษฎากร ซึ่งเจ้าหน้าที่ประเมินจะต้องออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีภายใน 5 ปี แต่ขณะนี้ผ่านพ้นเวลานั้นขาดอายุความไปแล้ว และอ้างไม่ได้ว่าออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีแก่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทาแล้วเท่ากับออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีต่อดร.ทักษิณแล้วเพราะการถือหุ้นแทนกับการเป็นตัวแทนนั้นมีความหมายแตกต่างกัน

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่ามีข้อโต้แย้งฝ่ายดร.ทักษิณแน่นอนแต่เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากร ที่จะต้องหาข้อคำตอบโต้แย้ง เพราะเป็นหน่วยงานที่ประเมิน และเป็นผู้เรียกให้ชำระภาษี ซึ่งขณะนี้นโยบายยังไม่เปลี่ยนแปลงคือให้ใช้กฎหมายปรกติดำเนินการ

“เมื่อถึงเวลายื่นประเมินหรือยื่นฟ้อง ข้อเท็จจริงคงปรากฏออกมาว่า คำบรรยายฟ้องเป็นอย่างไร การสืบพยานเป็นอย่างไร ก็ขอให้ไปหักล้างกันในตอนนั้นจะดีกว่า จะมาหักล้างโต้ตอบผ่านสื่อ คงไม่ถูกต้อง และไม่ยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย รวมถึงทำให้ประชาชนสับสนด้วย หากฝ่ายดร.ทักษิณฟ้องกลับเราก็ต้องสู้”

สรุปเรื่องการเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปจบแล้วคือฝ่ายรัฐเรียกเก็บแน่เพราะเป็นนโยบายจากผู้มีอำนาจ ขณะที่ฝ่ายดร.ทักษิณสู้คดีแน่

เมื่อเป็นเช่นนี้คนที่จะตัดสินว่าต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่ายคือศาล


You must be logged in to post a comment Login