วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

จุฬาฯกับขบวนการนักศึกษา / โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

On March 27, 2017

คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

เมื่อเกิดการยึดอำนาจโดยคณะทหารที่นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำประเทศไทยสู่ยุคมืดแห่งเผด็จการ มีการจับกุมคุมขังปัญญาชนและนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมาก ควบคู่กับการใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ และมีการควบคุมมหาวิทยาลัย โดยจอมพลสฤษดิ์รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยด้วยตนเอง เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็รับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยแทน ส่วน พล.อ.ประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) รับตำแหน่งอธิการบดี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้ยุคเผด็จการเต็มไปด้วยกิจกรรมแบบไร้สาระประเภทงานรับน้องรับพี่อันยืดเยื้อ ที่น่าสังเกตคือระบบโซตัสได้พัฒนาอย่างเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น โดยเน้นการรับน้องใหม่แบบอำนาจนิยมคือ รุ่นพี่สามารถกระทำการทรมานหรือสั่งรุ่นน้องอย่างไม่มีเหตุผล บังคับน้องใหม่เข้าห้องซ้อมเชียร์และขาดไม่ได้เด็ดขาด บังคับการแต่งกายของนิสิตปี 1 วิธีการที่สำคัญของรุ่นพี่คือการว้าก ใช้เสียงดัง กระโชกโฮกฮาก ตะโกนใส่เพื่อข่มน้องใหม่ การแข่งกีฬาและการซ้อมเชียร์เป็นงานใจกลาง นำมาสู่การปลูกฝังความยึดมั่นในคณะนิยมอย่างไร้เหตุผลจนเกิดการวิวาทระหว่างนิสิตต่างคณะภายในมหาวิทยาลัยเสมอ เหตุการณ์ที่รุนแรง เช่น การปะทะระหว่างนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กับคณะรัฐศาสตร์เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 และครั้งใหญ่อีกครั้งวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2509 นิสิตคณะวิศวะยกพวกตีกับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ ตำรวจต้องนำกำลังตรึงในมหาวิทยาลัยและต้องปิดมหาวิทยาลัย 3 วัน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศยุคมืดยังมีกิจกรรมที่มีเนื้อหาสาระบางลักษณะที่พัฒนาขึ้น เช่น การตั้งชุมนุมพุทธศาสนาและประเพณีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2503 เป็นจุดเริ่มต้นกิจกรรมด้านศาสนาที่ดำเนินการโดยนิสิต นอกจากนี้มีกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท โดยจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่บุกเบิก เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของสโมสรนิสิตตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ทำให้มหาวิทยาลัยอื่นๆดำเนินตามต่อมา

วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2513 เกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ของนิสิตจุฬาฯ โดยประสาร มฤคพิทักษ์ นายกสโมสร นำนิสิตหลายพันคนเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้สอบสวนผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรณีทุจริตเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้างศูนย์การค้าและโรงแรมของมหาวิทยาลัยบริเวณสยามสแควร์และปทุมวัน ในที่สุดจอมพลถนอม นายกสภามหาวิทยาลัย ต้องยอมตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งนำมาสู่การลงโทษทางวินัยแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย 3 คนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ชัยชนะครั้งนั้นนำมาสู่ขบวนการนักศึกษาที่กำลังก่อรูปขึ้น

พ.ศ. 2514 กลุ่มนิสิตฝ่ายก้าวหน้าได้ก่อตั้ง “กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่” เพื่อต่อต้านระบบรับน้องแบบไร้เหตุผลกลับไปสู่ความหมายที่เป็นจริงของโซตัส ซึ่งเป็นคำย่อภาษาอังกฤษของน้ำใจ ระเบียบ ประเพณี สามัคคี อาวุโส การเคลื่อนไหวครั้งนี้สร้างผลสะเทือนอย่างมาก กลุ่มนิสิตรุ่นพี่และอาจารย์ที่ต้องการรักษาระบบรับน้องแบบเดิมได้รวมกำลังกันต่อต้าน กลายเป็นกระแสอภิปรายกันในสังคม

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอมก่อการรัฐประหารฟื้นฟูเผด็จการ เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่นักศึกษาปัญญาชนและนำมาสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม โดยธีรยุทธ บุญมี นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515 และกรรมการศูนย์นิสิตฯได้เปิดการรณรงค์ชาตินิยมทางเศรษฐกิจ โดยต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ซึ่งประชาชนตอบรับอย่างมากและเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการนักศึกษาที่กลายเป็นแกนกลางของขบวนการมวลชน

กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายนิสิตนักศึกษานำมาสู่เหตุการณ์การเมืองที่สำคัญคือ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เริ่มจากธีรยุทธผลักดันให้ตั้ง “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” แต่ถูกรัฐบาลทหารจับกุม 13 คน นำมาสู่การประท้วงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นิสิตจุฬาฯหลายคนมีส่วนนำในการเคลื่อนไหว เช่น ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ธเนศวร์ เจริญเมือง วิรัติ ศักดิ์จิรพาพงษ์ และจิระนันท์ พิตรปรีชา เป็นต้น ในที่สุดฝ่ายเผด็จการทหารถูกโค่นล้มและประเทศฟื้นคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย กรณีนี้มีนิสิตจุฬาฯคือ สมเด็จ วิรุฬพล นิสิตปี 1 คณะเศรษฐศาสตร์ เสียชีวิตจากการยิงของฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นประจักษ์พยานหนึ่งในความเหี้ยมโหดของฝ่ายเผด็จการ

หลัง 14 ตุลาคม ขบวนการนักศึกษาได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมาก และเกิดกระแสการเมืองของมวลชนระดับล่างได้แก่กรรมกรและชาวนาอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นักศึกษากลายเป็นพลังสำคัญในการวิพากษ์สังคมและนำเสนอการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบก้าวหน้า นักศึกษาส่วนหนึ่งมีแนวโน้มไปทางสังคมนิยมมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เช่น ประชาธิปไตยและการบริหารตนเองในมหาวิทยาลัย รวมถึงกระแสโจมตีและกวาดล้างการรับน้องแบบป่าเถื่อนจนล่มสลาย โดยเฉพาะที่จุฬาฯระบบโซตัสปิดฉากลงทุกคณะ และนำมาสู่กิจกรรมแบบใหม่ที่ก้าวหน้าที่ยืนอยู่บนหลักเหตุผลและไปสู่ประชาชนระดับล่าง กิจกรรมทางการเมืองและสังคมเข้ามาเป็นกิจกรรมหลักของนิสิตแทนการเชียร์และการแข่งกีฬา นำมาสู่การยุติคณะนิยมและการวิวาทระหว่างคณะ

กระแสประชาธิปไตยส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนภายในจุฬาฯคือ ระบบการปกครองนิสิตเปลี่ยนเป็นองค์การบริหารสโมสรนิสิต มีการตั้งสภานิสิตทำหน้าที่ตรวจสอบและพิจารณางบประมาณ ซึ่งเป็นการจำลองแบบตามระบบรัฐสภา สภานิสิตมีการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรกเดือนมกราคม พ.ศ. 2517 มีการตั้งพรรคการเมืองของนิสิตเช่นเดียวกับพรรคการเมืองภายนอก โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตหัวก้าวหน้าตั้งพรรค “จุฬาประชาชน” ลงสมัครรับเลือกตั้งและมีบทบาทอย่างมากในสภานิสิต ชนะเลือกตั้งเข้าบริหารจุฬาฯเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2519 โดยเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์ เป็นนายกสโมสร

พ.ศ. 2519 กระแสความขัดแย้งทางการเมืองภายนอกเริ่มรุนแรงมากขึ้น เพราะพลังฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือกลุ่มฝ่ายขวามีการต่อต้านขบวนการนักศึกษา ในที่สุดนำมาสู่ความรุนแรงและการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาเช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พร้อมการก่อรัฐประหารฟื้นอำนาจเผด็จการในเวลาเย็นวันนั้น การปราบปรามครั้งนั้น วิชิตชัย อมรกุล นิสิตปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสียชีวิตจากการปราบปรามด้วย

สรุปว่าแม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะถูกพิจารณาว่าเป็นมหาวิทยาลัยศักดินา แต่ในยุคสมัยของขบวนการนักศึกษา นิสิตจุฬาฯได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขัน ซึ่งบทบาทด้านนี้ไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงกันมากนัก ในที่นี้จึงเก็บมาเล่าให้ฟังเพื่อให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่ง


You must be logged in to post a comment Login