วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ปรองดองหรือขัดแย้ง / โดย สมศักดิ์ ไม้พรต

On March 27, 2017

คอลัมน์ : จับกระแสการเมือง
ผู้เขียน : สมศักดิ์ ไม้พรต

อัพเดทการสร้างความปรองดองหลังดำเนินการมาได้ครบ 1 เดือน

ช่วงที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆ และภาคประชาคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีหนังสือเชิญพรรคการเมืองทั้งหมด 70 พรรค กับ 2 กลุ่มการเมือง และอีก 60 องค์กรภาคประชาชน

มีพรรคการเมืองให้ความร่วมมือเสนอข้อคิดเห็นแล้ว 53 พรรคการเมือง กับอีก 2 กลุ่มการเมือง โดยมี 4 พรรคการเมืองที่แจ้งว่ายังไม่พร้อม และ 13 พรรคการเมืองไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะช่วยประสานให้ คาดว่าในส่วนของพรรคการเมืองจะแล้วเสร็จในวันที่ 5 เมษายนนี้

ส่วนการรับฟังความเห็นทั้ง 76 จังหวัดจะแล้วเสร็จในวันที่ 23 มีนาคมนี้ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างของประเทศ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รวมถึงปัญหาในแต่ละพื้นที่

สำหรับการบูรณาการข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจะรวบรวมเป็นระบบ จากนั้นจะจัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อสรุปประเด็นความเห็นร่วมให้สมบูรณ์ที่สุดและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยการประชุมกลุ่มย่อยในส่วนกลางกำหนดวันที่ 19 เมษายน และระดับพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 20-23 เมษายน คาดว่าเดือนมิถุนายนจะดำเนินการให้เสร็จสิ้น และจะได้เห็นร่างสัญญาประชาคม

ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำร่างสัญญาประชาคมออกเผยแพร่เวทีสาธารณะ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนครั้งสุดท้ายเพื่อปรับปรุงเป็นร่างสัญญาประชาคมให้สมบูรณ์ต่อไป

เท่าที่เห็นข้อเสนอจากทุกฝ่ายคร่าวๆผ่านการแถลงในทุกสัปดาห์แล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้คือ “ไม่มีอะไรใหม่”

ทุกข้อเสนอแนะที่เปิดเผยออกมาล้วนเป็นเรื่องเดิมๆเหมือน “เหล้าเก่าในขวดใหม่”

จะพูดกันกี่ครั้งกี่ที ที่ไหนเวลาใด ก็ได้แต่ข้อเสนอเดิมๆที่เป็นภาพกว้างๆ เป็นหลักการที่รับรู้กันทั่วไปว่าหากต้องการให้สังคมไทยสงบสุข เกิดความปรองดองสมานฉันท์จะต้องทำอย่างไรบ้าง

ปัญหาจึงอยู่ที่การปฏิบัติมากกว่าการรับฟังความคิดเห็น

ที่ผ่านมาการสร้างความปรองดองรอบนี้ถูกมองว่าทำเพื่อต่ออายุรัฐบาล และมีกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร คสช. ยืนยันว่าพร้อมให้รัฐบาลทหาร คสช. อยู่บริหารประเทศต่อไปจนกว่าจะปฏิรูปประเทศแล้วเสร็จจึงค่อยมีการเลือกตั้ง

ทำให้ภาพการทำปรองดองเพื่อซื้อเวลาต่ออายุถูกตอกย้ำชัดเจนมากขึ้น

ดีที่ว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่เออออห่อหมกตามแรงเชียร์

ถ้าผู้มีอำนาจหลงเออออตามเสียงเชียร์รับรองได้ว่าการเมืองร้อนแน่ เพราะในสภาพที่รัฐบาลขาลง ความนิยมจากคนกลางถดถอยเพราะผลงานไม่เข้าตา หากมีคนในฝ่ายคุมอำนาจออกมาพูดว่าต้องการอยู่ต่อมีหวังเป็นชนวนให้เกิดแรงต่อต้านขึ้นมาได้ง่ายๆ

การออกมายืนยันของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่ว่าทุกอย่างต้องเดินตามโรดแม็พ ช่วยลดแรงต่อต้านลงไปได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การสร้างความปรองดองครั้งนี้คงฝากความหวังไม่ได้มาก เมื่อมีเป้าหมายแค่สรุปออกมาเป็นสัญญาประชาคมให้แต่ละฝ่ายถือเป็นคัมภีร์เพื่อปฏิบัติตามให้เกิดความสามัคคีปรองดองเท่านั้น

ไม่ได้มีข้อสรุปว่าใคร ฝ่ายไหน ต้องทำอะไรบ้าง

เมื่อไม่ได้เป็นข้อบังคับหรือข้อกำหนดว่าฝ่ายไหนต้องทำอะไรเพื่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองก็คงเป็นเรื่องยากที่จะประสบความสำเร็จตามความคาดหวัง

ขนาดรัฐบาลทหาร คสช. มีอำนาจเต็มมือและเด็ดขาดยังคุมให้การเมืองนิ่งไม่ได้ จะคาดหวังอะไรกับการเมืองในรัฐบาลปรกติที่มาจากการเลือกตั้ง

คัมภีร์ปรองดองซึ่งเป็นสัญญาประชาคมจึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นแค่กระดาษเปื้อนหมึก ไม่มีความหมาย ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์หรืออิทธิฤทธิ์ที่จะทำให้เกิดความปรองดองได้จริง

ทั้งนี้ หากจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้จริงต้องดูถึงแก่นของปัญหา ไม่ใช่แค่การรับฟังความคิดเห็น

การสร้างความปรองดองควรเริ่มดูจากใครขัดแย้งกับใคร ซึ่งกรณีนี้เคยมีงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าสรุปเอาไว้ว่า ความขัดแย้งเกิดจากมุมมองต่อความเป็นประชาธิปไตยแตกต่างกันในแง่ระบบการจัดการอำนาจและทรัพยากรในสังคมระหว่างประชาธิปไตยเน้นเสียงข้างมากกับประชาธิปไตยเน้นคุณธรรมจริยธรรม

ขัดแย้งกันเรื่องอะไร เรื่องความเชื่อที่แตกต่างต่อระบบการจัดการอำนาจและทรัพยากรในสังคม การแสวงหาและรักษาอำนาจและผลประโยชน์ที่อิงกับความเชื่อ

ความขัดแย้งขยายตัวได้อย่างไร เกิดจากการใช้อำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อดำเนินการตามความเชื่อของตัวเอง และ/หรือให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

จะปรองดองกันได้อย่างไร ปรองดองได้โดยกระบวนการพูดคุยใน 2 ระดับ เพื่อเปิดพื้นที่ให้สังคมได้แลกเปลี่ยน ถกเถียงต่อข้อเสนอทางเลือกและความเป็นไปได้ต่างๆ พร้อมทั้งร่วมกันออกแบบภาพอนาคตของประชาธิปไตยไทยและกติกาทางการเมืองที่เห็นพ้องต้องกัน

ตัวอย่างประเด็นที่ควรพูดคุยกัน เช่น การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และเป็นการลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) การกำหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน การออกแบบภาพอนาคตของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

หากพิจารณาตามนี้จะเห็นว่างานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามีความเป็นรูปธรรมกว่าแนวทางการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเขียนคัมภีร์ปรองดองที่รัฐบาลทหาร คสช. กำลังทำอยู่อย่างมาก

ที่สำคัญแนวทางการทำงาน แนวทางการใช้อำนาจของรัฐบาลทหาร คสช. ที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้ยังไปเข้าเกณฑ์ขยายความขัดแย้งตามผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า กล่าวคือ ยังคงใช้อำนาจดำเนินการตามความเชื่อของตัวเอง และ/หรือให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตนเองในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

บางทีรัฐบาลทหาร คสช. ควรพิจารณาสิ่งที่ดำเนินการอยู่ (ไม่เกี่ยวกับการเปิดรับฟังความเห็นปรองดอง) ว่าเป็นการกระทำที่ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดองหรือช่วยขยายความขัดแย้งกันแน่


You must be logged in to post a comment Login