วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

‘พุทธแท้’มาจากไหน? / โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

On April 3, 2017

คอลัมน์ : ทรรศนะแสงสว่าง
ผู้เขียน : สุรพศ ทวีศักดิ์

เมื่อเร็วๆนี้ผมถูกชวนไปวิจารณ์งานเขียนในหัวข้อ “วิจารณ์ความเป็นมนุษยนิยมและเหตุผลนิยมของธรรมยุติกนิกาย” ของพิพัฒน์ พสุธารชาติ ในโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “คราสและควินิน : รื้อ-สร้าง ‘ปากไก่และใบเรือ’ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์” ซึ่งเป็นงานเขียนโต้แย้ง “ปากไก่และใบเรือ” ผลงานประวัติศาสตร์เชิงความคิดชิ้นสำคัญของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เสนอว่าการปฏิรูปพุทธศาสนาโดยรัชกาลที่ 4 ทำให้เกิดธรรมยุติกนิกายที่มีความเป็นมนุษยนิยมและเหตุผลนิยม

ในที่นี้ผมจะพูดถึงเฉพาะความเป็น “เหตุผลนิยม” ของธรรมยุติกนิกาย ซึ่งนิธิใช้คำว่า “เหตุผลนิยมในความหมายจำกัด” ขณะที่พระไพศาล วิสาโล ใช้คำว่า “เหตุผลนิยมในความหมายหลวมๆ” โดยขยายความว่า

อนึ่ง “เหตุผลนิยม” ในที่นี้ใช้ในความหมายหลวมๆ โดยเน้นถึงการใช้เหตุผลและวิธีการที่ประจักษ์หรือพิสูจน์ได้ในการเข้าถึงความจริง กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีความหมายครอบคลุมไปถึงการคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ด้วย ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์นั้นถ้ากล่าวอย่างเคร่งครัดแล้วเป็นเรื่องของประจักษ์นิยม คือเชื่อว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าเป็นที่มาแห่งความรู้ของมนุษย์ ขณะที่เหตุผลนิยมนั้นเชื่อว่าที่มาแห่งความรู้ของมนุษย์อยู่ที่การใช้เหตุผล

ปัญหาของ “เหตุผลนิยม” ตามนิยามของพระไพศาลข้างบนคือ ไม่ได้มีความหมายแบบ “เหตุผลนิยม” (rationalism) ที่ใช้กันในปรัชญาตะวันตก อันหมายถึงระบบปรัชญาความคิดที่ให้สิทธิอำนาจสูงสุดแก่เหตุผลในการตัดสินความจริง ซึ่งตรงข้ามกับ “ประจักษ์นิยม” (empiricism) ที่ให้สิทธิอำนาจสูงสุดแก่ประสาทสัมผัสในการตัดสินความจริง แต่พระไพศาลกลับเอา 2 สิ่งที่ตรงข้ามมารวมอยู่ใน “เหตุผลนิยมในความหมายหลวมๆ” เพื่อที่จะใช้อธิบายว่าการปฏิรูปธรรมยุติกนิกายของรัชกาลที่ 4 ได้ทำให้เกิด “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” ขึ้นในสยาม

สิ่งที่พระไพศาลต้องการบอกเราคือ รัชกาลที่ 4 ได้ใช้ “โลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์” ซึ่งรับอิทธิพลจากตะวันตกมาปฏิรูปธรรมยุติกนิกาย โดยนำวิธีการใช้เหตุผลและวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกันในการตีความคำสอนของพุทธศาสนาให้มีความเป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น จึงส่งผลให้ละเลยมิติด้านจิตวิญญาณหรือโลกุตรธรรม ความหลุดพ้น และเรื่องนรก สวรรค์ หันมาเน้นโลกียธรรมหรือ “ศีลธรรมทางโลก” ที่เห็นผลได้ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” ยังลดทอนความหลากหลายของการศึกษาตีความพุทธศาสนาที่เคยมีมาก่อน ทำให้พื้นที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แคบลงจนกระทั่งทำลายมิติละเอียดอ่อน เช่น ความรู้สึกหรืออารมณ์ทางศาสนา ความเป็นเหตุเป็นผลทำให้พุทธศาสนาแข็งกระด้าง ไร้อารมณ์ และมีลักษณะอำนาจนิยม ซึ่งนิธิและพระไพศาลวิจารณ์ทำนองนี้มายาวนาน

ผมเองเห็นด้วยกับนิธิและพระไพศาลในแง่ว่า พุทธศาสนาที่ปฏิรูปขึ้นจากยุครัชกาลที่ 4 มีปัญหาดังกล่าวจริง และเห็นชัดมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะลักษณะ “อำนาจนิยม” แต่ไม่เห็นด้วยว่านั่นเป็นเพราะพุทธศาสนาเป็นเหตุผลนิยม เพราะคำว่า “เหตุผลนิยมในความหมายหลวมๆ” หรือ “เหตุผลนิยมในความหมายจำกัด” อย่างที่พระไพศาลและนิธิใช้ไม่ได้มีความหมายตรงกับ rationalism ในปรัชญาตะวันตก ฉะนั้นเวลาวิจารณ์ว่า “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” มีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ พร้อมกับบอกว่าที่พุทธศาสนาเป็นเหตุผลนิยมเพราะรับอิทธิพลความคิดตะวันตก ย่อมทำให้เข้าใจผิดไปได้ว่าเป็นเพราะพุทธศาสนามีความเป็นเหตุผลนิยมแบบแนวคิดตะวันตกนั่นเองจึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา

แต่ผมเห็นด้วยกับพิพัฒน์ที่ปฏิเสธว่า “พุทธศาสนาไม่ได้มีความเป็นเหตุผลนิยมจริง” และรัชกาลที่ 4 ไม่ได้ใช้ “กรอบคิดความเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์” ในการปฏิรูปธรรมยุติกนิกาย แต่ใช้กรอบคิดเรื่อง “การรักษาความบริสุทธิ์ของพุทธศาสนา” และ “การรักษาสถานะอำนาจของชนชั้นปกครอง” ในระบบสังคมการเมืองที่ยังไม่มีการแยกศาสนาจากรัฐ ซึ่งชนชั้นปกครองจำเป็นต้องใช้ศาสนาสร้างความชอบธรรม

โดยเฉพาะกรอบคิดเรื่อง “การรักษาความบริสุทธิ์ของพุทธศาสนา” เป็นกรอบคิดที่สืบมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1 และก่อนจะก่อตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” รัชกาลที่ 4 (ขณะผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ”) เห็นว่าพุทธศาสนาที่มีอยู่เวลานั้น “ไม่บริสุทธิ์ถูกต้อง” ท่านจึงไปบวชใหม่ (ทำพิธีบวชซ้ำเรียกว่า “ทัฬหีกรรม”) จากพระมอญ-รามัญ โดยอ้างว่าพระมอญ-รามัญสืบ “วงศ์พุทธเถรวาทที่บริสุทธิ์ถูกต้อง” มาจากศรีลังกา นี่คือฐานคิดหลักในการให้กำเนิดธรรมยุติกนิกาย

ฐานคิดหลักเรื่อง “การรักษาความบริสุทธิ์ของพุทธศาสนา” คือฐานคิดที่ยืนยัน “พุทธแท้” หรือฐานคิดในการสร้าง “พุทธแท้” ขึ้นมานั่นเอง ฉะนั้นธรรมยุติกนิกายก็คือ “พุทธแท้” ที่ถูกสร้างขึ้น ต่างจากพระส่วนใหญ่กลุ่มเดิมที่ถูกเรียกว่า “มหานิกาย” ที่เป็นพุทธไม่บริสุทธิ์ทั้งวัตรปฏิบัติและการสืบวงศ์ที่ไม่มีความต่อเนื่องมาจากเถรวาทศรีลังกาแบบพระมอญ-รามัญ ต่อมาเมื่อมหานิกายถูกรวมเข้าภายใต้การปกครองมหาเถรสมาคมสมัยรัชกาลที่ 5 จึงถูกนับเป็น “พุทธแท้” โดยปริยาย เพราะเป็น “พุทธของรัฐ” เหมือนกัน แต่ธรรมยุติกนิกายย่อมเป็นนิกาย “เกรด A” เหนือมหานิกายมาตลอด

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ใช่เพราะพุทธศาสนามีความเป็นเหตุผลนิยมมากขึ้น หรือถูกตีความให้มีเหตุมีผล เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น แล้วจึงมีลักษณะ “อำนาจนิยม” เพราะ “ความมีเหตุผล” ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ “อำนาจนิยม” เสมอไป แต่ความเป็นอำนาจนิยมเกิดจาก “อำนาจรัฐ” ที่ “ผูกขาดการสถาปนาความจริงและความถูกต้อง” ซึ่งเป็นอำนาจที่สร้าง “พุทธแท้” ขึ้นมา และเมื่ออำนาจรัฐสร้าง “พุทธแท้หนึ่งเดียว” ขึ้นมา พุทธในแบบอื่นๆที่รัฐเห็นว่าไม่แท้หรือเป็น “พุทธเทียม” อำนาจรัฐก็พยายามปรับเข้ามาให้ยอมรับอำนาจของพุทธแท้และอยู่ใต้ปกครองของพุทธแท้

ในประวัติศาสตร์หลังจากอำนาจรัฐสร้าง “พุทธแท้” ขึ้นมา หากมีพุทธกลุ่มไหนที่รัฐเห็นว่าเป็น “พุทธเทียม” และระแวงว่าเป็น “ภัยความมั่นคง” พุทธเทียมก็จะถูกขจัดออกไปด้วยข้อกล่าวหาเรื่องสอนผิด ประพฤติผิดจากกรอบธรรมวินัยในพระไตรปิฎกที่อยู่ในอำนาจการตีความของคณะสงฆ์ของรัฐ หรือไม่ก็ใช้ข้อกล่าวหาเรื่องทำผิดกฎหมายต่างๆ กระทั่งกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ก็เคยมีมาแล้ว

ทั้งนี้ หากข้อกล่าวหาเรื่องผิดกฎหมายมีมูลและถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรมย่อมเป็นเรื่องที่สังคมควรยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมืองหรือเป็นเรื่องที่กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐต้องการขจัด “พุทธเทียม” ที่พวกตนระแวงย่อมเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง


You must be logged in to post a comment Login