วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

โปร่งใสยุคปฏิรูป

On April 5, 2017

คอลัมน์ : โลกวันนี้มีประเด็น

ชั่วโมงนี้คงไม่มีข่าวไหนฮิตฮอตมากไปกว่าการนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งหลังจากที่รัฐธรรมนูญใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันนี้ (6 เม.ย.)

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพากันขยับพรึบพรั่บเตรียมความพร้อม เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมที่จะประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.ใหม่ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายจะเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อแจ้งเตือนให้แนวทางปฏิบัติงานให้เข้ากับกติกาใหม่ หรือกระแสข่าวสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หลายรายเตรียมตบเท้ายื่นใบลาออกเพื่อแต่งตัวรอลงสมัครเลือกตั้งส.ส.

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปรกติธรรมดา เมื่อถึงเวลาก็ต้องมีเลือกตั้ง แต่ยังมีขั้นตอนอีกมากกว่าจะถึงวันหย่อนบัตรลงคะแนน

สิ่งเฉพาะหน้าที่น่าสนใจกว่าการเตรียมเลือกตั้ง และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือกรณีรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) 13 ราย พร้อมใจกันยื่นใบลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

การที่อยู่ๆรองอธิการบดีทั้ง 13 คนพร้อมใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งย่อมเป็นเรื่องไม่ปรกติ และน่าสนใจตรงที่มีข่าวว่าการพร้อมใจกันยืนใบลาออกครั้งนี้เพราะต้องการเลี่ยงไม่แสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 40 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เมษายน 2560 โดยผู้ที่อยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะต้องยื่นแสดงรายการต่อ ป.ป.ช.ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ 3 เมษายน คือต้องยื่นภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2560

ป.ป.ช.ชี้แจงว่าการกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐแสดงบัญชีทรัพย์สินก็เพื่อความโปร่งใส ความมีคุณธรรม จริยธรรมเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

การชิงลาออกเพื่อไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินจึงมีคำถามพอสมควร

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) เตรียมยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ให้ตรวจสอบการลาออกของรองอธิการบดีทั้ง 13 ราย และเชื่อว่าจะมีคนระดับเดียวกันในอีกกว่า 200 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเตรียมยื่นใบลาออกเพื่อไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน

นายมงคลกิตติ์ ตั้งข้อสังเกตว่า คณาจารย์บางรายมีเงินมากผิดปรกติ เพราะตามประมวลกฎหมายรัษฎากร เงินได้ทางการศึกษาไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งอาจจะต้องมีการเสนอแก้ไขกฎหมายต่อไป เรื่องการเก็บภาษีการศึกษาเกี่ยวกับการสอนพิเศษ และรายได้อธิการบดีบางมหาวิทยาลัยมีมากกว่าเงินเดือนของนายกรัฐมนตรี อยู่ประมาณ 20 เท่า ขณะที่นายกฯมีเงินเดือนแสนสอง แต่อธิการบดีมีเงินเดือน 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท ไม่รวมหลักสูตรพิเศษ จ่ายเงินครบจบแน่นอน บางมหาวิทยาลัยมีเงินเดือน 7 แสน ไม่รวมค่าประธานหลักสูตรละหมื่นห้า เดือนหนึ่งมี 20 หลักสูตร ก็รับสามแสนบาท ปีหนึ่งๆได้กี่ล้านบาท

เลขาธิการคณะกรรมการเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ ยังเรียกร้องป.ป.ช.ให้ออกระเบียบ ครอบคลุมไปถึง ผู้อำนวยการโรงเรียนแข่งขันสูงก็เป็นระดับ 8 และ 9 ด้วย เพราะถ้าออกระเบียบในช่วงนี้ยังทัน ที่จะเป็นช่วงมีการฝากเด็กเข้าเรียน ในช่วงหลังเดือนมีนาคมเป็นต้นไป

การเป็นข้าราชการของแผ่นดิน ถ้าบริสุทธิ์ใจแล้ว จะชี้แจงตอนไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องไปจัดทัพทรัพย์สิน รองอธิการบดีเอง นอกจากเงินเดือน เงินสอนพิเศษ ยังมีเงินที่ปรึกษาบริษัทอีก ซึ่งอาจจะผิดระเบียบ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ออกนอกระบบ อธิการบดีและรอง มีฐานะดีผิดปรกติกันทุกคน เพราะฉะนั้นแล้วก็ต้องไปตรวจสอบ โดยเฉพาะ 13 รองอธิการบดีที่ลาออก ป.ป.ช.ควรตรวจสอบย้อนหลัง ไม่ควรอ้างเตรียมตัวไม่ทันเพราะข้าราชการต้องพร้อมตลอดเวลา

นั่นคือความเห็นของนายมงคลกิตติ์

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะท้าทายระบบคุณธรรม จริยธรรม ความโปร่งใส ยิ่งเกิดในยุคปฏิรูปประเทศที่ใครๆก็เรียกร้องความโปร่งใส ความซื่อสัตย์สุจริต ความตรงไปตรงมาที่ตรวจสอบได้ยิ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือจะมีข้าราชการไม่ใช่แค่เฉพาะในส่วนของสถาบันการศึกษา แต่ในส่วนอื่นๆที่อยู่ในข่ายต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินแห่ยื่นใบลาออกเพื่อไม่ต้องแสดงบัญชีหรือไม่


You must be logged in to post a comment Login